Tuesday, October 29, 2013

พระธรรมโรม


1.  เบื้องหลังการเขียน

                1.1  ผู้เขียน  อัครฑูตเปาโลเป็นผู้เขียน (1.1) โดยมีผู้ช่วยที่ชื่อเทอร์ทิอัส (16.22 ใช้ว่า เทอร์ทูลลัส) เป็นผู้บันทึกตามคำบอกของเปาโล

                1.2  จุดประสงค์  เปาโลต้องการที่จะไปเยี่ยมกรุงโรมเป็นอย่างมาก (19.21, รม 1.10-11) และท่านหวังไว้ว่าจะมีโอกาสประกาศข่าวประเสริฐจากกรุงโรมไปจนถึงสเปน (15.24,28) แต่สถานการณ์ยังไม่อำนวยให้ทำเช่นนั้นได้ เพราะท่านมองเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงเร้าให้ท่านนำเงินถวายที่รวบรวมได้จากคริสตจักรต่างๆในประเทศกรีซ เพื่อนำไปให้พี่น้องที่ประสบทุกข์ยากที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านจึงกล่าวว่าไม่เพียงแต่พร้อมที่จะไปเท่านั้น แต่ยังพร้อมที่จะตายที่นั่นด้วย (20.22, 21.13)และเพราะเหตุที่ท่านมีความคิดเช่นนี้อันเป็นผลเนื่องมาจากการที่ท่านทราบว่าพวกยิวกำลังปองร้ายหมายเอาชีวิตของท่าน ซึ่งการไปเยรูซาเล็มนั้นอาจจะเกิดเหตุร้ายขึ้นก็ได้ ท่านจึงไม่แน่ใจว่าความหวังลึกๆที่จะไปกรุงโรมนั้นมีโอกาสเป็นจริงได้หรือไม่ แต่ท่านก็ยังหวังว่าท่านจะได้ไป ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ส่งไปถึงพี่น้องที่โรม เพื่ออธิบายให้พวกเขาเข้าใจแก่นแท้ของข่าวประเสริฐตามที่พระเจ้าได้ทรงสำแดงแก่ท่าน ถึงแม้ว่าพวกเขาไม่ได้ยินจากปากอัครฑูตคนใดมาก่อน พวกเขาก็จะได้รับรากฐานอันเดียวกันกับคริสตชนทั่วๆไป และอีกประการหนึ่งนั้น เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงคริสตจักรโรมก็คงเพื่อจะสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา เนื่องจากท่านยังไม่เคยมาที่คริสตจักรแห่งนี้ และท่านก็หวังว่าหากท่านได้มายังโรมจริงๆแล้ว พี่น้องในคริสตจักรโรมจะสนับสนุนท่านและทีมงานในการเดินทางไปประกาศที่สเปน (15.24)

     เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ท่านต้องการอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของคนยิวและคนต่างชาติในแผนการแห่งความรอดและการไถ่ของพระเจ้า คริสเตียนชาวยิวกำลังมีปัญหาและถูกปฏิเสธจากคริสเตียนชาวต่างชาติซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของคริสตจักร (14.1) เนื่องจากคนยิวนั้นยังติดอยู่กับการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์บางอย่างของธรรมบัญญัติของโมเสส และถือวันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่คนต่างชาตินั้นไม่ได้นับถือ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับสมาชิกชาวยิวและเกิดการโต้แย้งกันบ่อยครั้ง เปาโลจึงต้องการอธิบายถึงความสำคัญและความเกี่ยวข้องของชาวยิวกับแผนการของพระเจ้า เพื่อให้คนทั้งสองกลุ่มเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน

                1.3  ผู้รับ  ใน 1.7,15 ระบุชัดเจนว่ากลุ่มคริสเตียนในกรุงโรม เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่เปาโลต้องการจะเขียนถึง เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในจดหมายและสถานการณ์ที่ควรจะเป็นไปในกรุงโรม เชื่อว่ากลุ่มคริสตชนที่นั่นประกอบด้วย ชาวยิว ชาวต่างชาติที่เข้าจารีตยิว และขาวต่างชาติทั่วไป ชาวยิวที่นั่นแม้จะเคยถูกขับไล่ออกจากกรุงโรมหลายครั้ง เช่น ในปี ค.ศ.49 ถูกจักรพรรดิ์คลาวดิอัสไล่ (18.2) แต่ชาวยิวที่เหลือก็ยังคงมีเป็นจำนวนมากในกรุงโรม และยังมีการติดต่อกับคนในเยรูซาเล็มอยู่เสมอ เป็นไปได้ว่าผู้ก่อตั้งคริสตจักรโรมบางคน เป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันเพ็นเทคอสต์ด้วย (1.10-11)

                1.4  วันเวลาที่เขียน   เขียนขึ้นที่เมืองโครินธ์ในราว ค.ศ.57-58 ซึ่งเป็นช่วงต้นๆที่จักรพรรดิ์เนโรเริ่มปกครอง (เนโรเริ่มปกครองอาณาจักรโรมเมื่อประมาณ ปี ค.ศ.54 หลังคลาวดิอัสสิ้นพระชนม์) ขณะนั้นเปาโลกำลังเตรียมตัวเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อนำเงินถวายไปมอบให้พี่น้องคริสเตียนที่นั่นซึ่งกำลังประสบกับความทุกข์ยาก ช่วงที่เขียนนั้นเปาโลและทีมงานไม่เคยไปกรุงโรมมาก่อนเลย

                1.5  ลักษณะพิเศษ 
                 - เป็นจดหมายที่เป็นระบบมากที่สุดของเปาโล ดูเป็นศาสนศาสตร์มากกว่าจดหมาย
                - เน้นที่หลักคำสอนของคริสเตียน เรื่อง ความบาป ความรอด พระคุณ ความเชื่อ ความชอบธรรม  การชำระให้บริสุทธิ์ การไถ่ ความตายและการเป็นขึ้นจากตาย
                 - อ้างอิงพระคัมภีร์เดิมเป็นอย่างมาก และใช้เป็นข้อโต้แย้งเพื่อสนับสนุนการเขียนของท่าน
                - มีความห่วงใยต่อคนยิวอย่างลึกซึ้ง   เขียนทั้งสภาพปัจจุบัน   ความสัมพันธ์กับคนต่างชาติ  และความรอดของคนยิวในอนาคต

2.  โครงเรื่องของพระธรรมโรม

                1. คำนำ  (บทที่ 1.1-15)

                2. หัวเรื่อง ความชอบธรรมจากพระเจ้า  (บทที่ 1.16-17)

                3. ความบาปของมวลมนุษย์ชาติ  (บทที่ 1.18-3.20)
                    3.1 ความบาปของคนต่างชาติ                                                     บทที่ 1.18-32
                    3.2 ความบาปของชนชาติยิว                                                           บทที่ 2.1-3.8
                    3.3 สรุปความบาปของมนุษย์ทั้งปวง                                                บทที่ 3.9-20

                4. ความหมายของความชอบธรรม การทำให้เป็นผู้ชอบธรรม  (บทที่ 3.21-5.21)
                    4.1 ผ่านทางองค์พระเยซูคริสต์                                                        บทที่ 3.21-26
                    4.2 รับโดยความเชื่อ  (บทที่ 3.27-4.25)
                             - รากฐานแห่งความเชื่อ                                                         บทที่ 3.27-31
                             - ภาพเปรียบเทียบแห่งความเชื่อ                                            บทที่ 4
                    4.3 ผลแห่งความชอบธรรม                                                             บทที่ 5.1-11
                    4.4 ความชอบธรรมของมนุษย์แตกต่างจากพระเจ้า                            บทที่ 5.12-21

                5. การประทานความชอบธรรม การชำระให้บริสุทธิ์   (บทที่ 6-8)
                    5.1 เป็นอิสระจากการปกครองของบาป                                              บทที่ 6
                    5.2 เป็นอิสระจากการพิพากษาของธรรมบัญญัติ                                  บทที่ 7
                    5.3 ชีวิตในฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณ                                              บทที่ 8

                6. การปกป้องความชอบธรรมของพระเจ้า-ปัญหาเรื่องการปฏิเสธชาวยิว  (บทที่ 9-11)
                    6.1 ความยุติธรมของการปฏิเสธ                                                         บทที่ 9.1-29
                    6.2 สาเหตุของการปฏิเสธ                                                              บทที่ 9.30-10.21
                    6.3 ความจริงที่แก้ไขความยุ่งยาก  (บทที่ 11)
                            - คนยิวไม่ได้ถูกปฏิเสธทั้งหมด                                           บทที่11.1-10
                            - ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง                                       บทที่ 11.11-24
                            - พระประสงค์สูงสุดของพระเจ้าคือพระเมตตา                   บทที่ 11.25-36

                7. การดำเนินชีวิตในความชอบธรรม  (บทที่ 12-15.13)
                    7.1 ในพระกาย คริสตจักร                                                                บทที่ 12
                    7.2 ในโลกภายนอก                                                                              บทที่ 13
                    7.3 ท่ามกลางคริสเตียนที่อ่อนแอและเข้มแข็ง                                    บทที่ 14-15.13

                8. สรุป   (บทที่ 15.14-33)

                9. คำแนะนำและคำทักทาย  (บทที่ 16)

3. บทสรุป

                 - เชื่อในความชอบธรรมของพระคริสต์ เพื่อจะมีอำนาจเต็มขนาดเหนือความบาป
                - มีชีวิตตามความชอบธรรมของพระคริสต์ เพื่อจะได้รับใช้พระองค์อย่างเต็มที่คุณอยู่ในกลุ่มใด
                         1. คนที่ยังไม่ตระหนักว่าตนเป็นคนบาป (กลับไปอ่าน โรม 1-3)
                         2. คนที่คิดวาเป็นคนชอบธรรมได้โดยการประพฤติ (กลับไปอ่าน โรม 3-5)
                         3. คริสเตียนที่เชื่อในการไถ่ของพระคริสต์ แต่รู้สึกว่ามีบาปบางอย่างที่ไม่สามารถเอาชนะได้ เขาต้องเข้าใจเรื่องฤทธิ์เดชของข่าวประเสริฐอย่างถี่ถ้วน (กลับไปอ่าน โรม 6-8)
                         4.คนที่กังขาในความยุติธรรมของพระเจ้าในเรื่องการทรงเลือก(กลับไปอ่าน โรม 9-11)
                         5. คริสเตียนที่เชื่อในข่าวประเสริฐอย่างบริบูรณ์      แต่มุ่งเน้นเรื่องการอัศจรรย์ของพระวิญญาณ   หรือกิจกรรมของคริสตจักรเท่านั้น พวกเขาจำต้องให้ความสนใจเรื่องการสามัคคีธรรมกับ  ผู้อื่นด้วย (กลับไปอ่าน โรม 12-15)

   *** โลกนี้หลงใหลในอำนาจที่จะเอาชนะธรรมชาติและทำให้คนอื่นมารับใช้เขา แต่พระคัมภีร์สอนเราว่าให้ใช้ฤทธิ์เดชของพระเจ้าเอาชนะความบาปและรับใช้ผู้อื่น ***



 

Monday, October 28, 2013

พระธรรมกิจการ


1. เบื้องหลังการเขียน

    1.1  ผู้เขียน  เชื่อว่านายแพทย์ลูกาเป็นผู้เขียนทั้งพระกิตติคุณลูกาและพระธรรมกิจการ เพราะ
       - ผู้รับพระกิตติคุณลูกาและหนังสือกิจการเป็นคนเดียวกัน และบอกชัดเจนว่าเป็นเล่มต่อจากลูกา
       - ลูกาอยู่กับเปาโลขณะที่ท่านถูกจองจำที่กรุงโรม 2 ปี ทำให้ท่านได้รับข้อมูลต่างๆเป็นอย่างดี
       - ลูการ่วมกับคณะของเปาโลในการประกาศตั้งแต่เมืองโตรอัส(16.7-10)  จนกระทั่งถึงกรุเยรูซาเล็ม (27.1-28.16) ดังนั้นคำว่า เราหรือ พวกเราในหลายตอนของกิจการจึงน่าจะหมายถึงเปาโลและตัวลูกาเองที่ได้บันทึกและร่วมในการเดินทางด้วย

    1.2  จุดประสงค์ 
        1. พระธรรมกิจการมีจุดประสงค์เดียวกันกับพระกิตติคุณลูกา เพราะเป็นการบันทึกต่อเนื่อง จุดประสงค์พื้นฐานคือต้องการให้รายละเอียดที่ถูกต้องแม่นยำและเป็นระเบียบตามลำดับการพัฒนาการของคริสตศาสนา ท่านได้บันทึกคำพยานของเหล่าสาวกเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์  บันทึกการประกาศตั้งแต่กรุงเยรูซาเล็มถึงกรุงโรมซึ่งเป็นลำดับเหตุการณ์ 30 ปีแรกของคริสตศาสนา
        2. เพื่อให้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ปกป้องคริสตศาสนา มีคำชี้แจงความเข้าใจผิด ลูกาเป็นห่วงสิ่งที่ประชาชนได้รับรู้ ไม่ว่าที่ใดที่คริสตศาสนาเข้าไปถึงดูเหมือนกับจะมีแต่ความยุ่งยากและความโกลาหล ลูกาจึงได้พยายามจะเปลี่ยนความเข้าใจผิดๆที่ว่าคริสตจักรเป็นต้นเหตุให้เกิดความยุ่งยาก โดยได้บันทึกรายละเอียดอย่างชัดเจนและถูกต้อง โดยเฉพาะการเป็นปรปักษ์ของบรรดาผู้นำชาวยิว
        3. เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้เชื่อใหม่ ท่านต้องการให้ผู้อ่านเห็นถึงความร้อนรนในการประกาศไม่เพียงเท่านั้นท่านยังได้เน้นถึงพระราชกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทั้งยังได้บันทึกให้เห็นว่าพระราชกิจของพระองค์นั้นเป็นประสบการณ์ในชีวิตของคริสตชน และฤทธานุภาพของพระองค์ได้สำแดงออกอย่างชัดเจนในเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ

     1.3 ผู้รับ  ท่านเธโอฟีลัส ซึ่งเป็นคนต่างชาติ

     1.4  เวลาที่เขียน   พระธรรมกิจการจบลงที่ท่านอัครฑูตเปาโลได้ถูกจองจำในกรุงโรมประมาณปี ค.ศ.61 และอยู่ที่นั่นประมาณ 2 ปี (28.30) ดังนั้นเรื่องราวของพระธรรมกิจการก็จบลงในปี ค.ศ.63 (ในกิจการไม่ได้กล่าวถึงการข่มเหงคริเตียนโดยเนโรในปี ค.ศ.64 และไม่ได้กล่าวถึงการพลีชีพเพื่อรักษาความเชื่อของเปาโลในช่วงท้ายๆของทศวรรษ ไม่ได้กล่าวถึงกรุงเยรูซาเล็มที่ถูกทำลายในปี ค.ศ.70)

     1.5 ลักษณะพิเศษ
       - พระธรรมกิจการเป็นดั่งเอกสารของมิชชันนารี ซึ่งมีพระมหาบัญชาเป็นโครงสร้างหลัก
       - มีศูนย์กลาง 2 แห่งคือ กรุงเยรูซาเล็มและอันทิโอก มีผู้นำหลัก 2 คนคือ เปโตรและเปาโล
       - ดูเหมือนเป็นคำเทศนาตลอดทั้งเล่ม เพราะลูกาได้บรรยายคำอย่างละเอียด
       - คำที่ปรากฏบ่อยๆคือ คริสตจักร อัครฑูต ความเชื่อ บัพติศมา ทำให้เห็นบรรยากาศของหนังสือ
          เล่มนี้ว่าเน้นไปในทิศทางใด
       - พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นกุญแจหลักแห่งความสำเร็จของพันธกิจ เป็นผู้แนะนำที่เยี่ยมยอด
       - เน้นการก่อตั้งคริสตจักรและการทำให้เติบโตขึ้นโดยทางการสามัคคีธรรมของผู้เชื่อ
 
2. โครงเรื่องของพระธรรมกิจการ
   1. เปโตรและการเริ่มต้นคริสตจักรในปาเลสไตน์ (บทที่ 1-12)
              1.1  ทั่วแคว้นยูเดีย กาลิลีและสะมาเรีย (บทที่ 1.1-9.31)
                     ก. คำนำ                                                                                            บทที่ 1.1-2
                     ข. พันธกิจของพระเยซูหลังฟื้นคืนพระชนม์                                            บทที่ 1.3-1
                     ค. การรอคอยพระวิญญาณบริสุทธิ์                                                        บทที่ 1.12-26
                     ง. การประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์                                                 บทที่ 2
                     จ. การรักษาคนง่อยที่ประตูงามและการถูกจับกุม                                    บทที่ 3.1-4.31
                     ฉ. การรวมทุกสิ่งเป็นของกลาง                                                          บทที่ 4.32-5.11
                     ช. การจับกุมอัครสาวกทั้ง 12 คน                                                        บทที่ 5.12-42 
                     ซ. การเลือกตั้งผู้บริการ 7 คน                                                               บทที่ 6.1-7
                     ฌ. สเตเฟนถูกหินขว้างตาย                                                                บทที่ 6.8-7.6
                     ญ. การกระจัดกระจายจากเยรูซาเล็มของสาวก                                    บทที่ 8.1-4
                      ฎ. พันธกิจของฟิลิป (บทที่ 8.5-40)
                              - การรับใช้ในสะมาเรีย                                                         บทที่ 8.5-25
                              - การรับใช้กับขันทีชาวเอธิโอเปีย                                        บทที่ 8.26-40
                      ฐ. การกลับใจของเซาโล                                                                  บทที่ 9.1-31

              1.2 ขยายไปสู่โฟนีเซีย ไซปรัสและอันทิโอก (บทที่ 9.32-12.25)
                      ก. พันธกิจของเปโตรที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (บทที่ 9.32-11.8)
                              - การรับใช้กับไอเนอัสและโดรคัส                                      บทที่ 9.32-43
                              - การรับใช้กับโคเนลิอัส                                                      บทที่ 10.1-11.8
                      ข. คริสตจักรของคนต่างชาติที่อันทิโอก                                         บทที่ 11.19-30
                      ค. การข่มเหงและการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์เฮโรด                         บทที่ 12

    2. เปาโลและการขยายคริสตจักรไปสู่โรม (บทที่ 13-28)
              2.1 ทั่วแคว้นฟีเจียและกาลาเทีย (บทที่ 13.1-15.35)
                        - การประกาศเที่ยวแรกของเปาโล                                                    บทที่ 13-14
                        - การประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม                                                            บทที่ 15.1-35
              2.2 ที่แคว้นมาซิโดเนีย (บทที่ 15.36-21.16)
                        - การประกาศเที่ยวที่สองของเปาโล                                          บทที่ 15.36-18.22
                        - การประกาศเที่ยวที่สามของเปาโล                                          บทที่ 18.23-21.16
              2.3  การเดินทางสู่กรุงโรม (บทที่ 21.17-28.31)
                                ก. เปาโลถูกจับขังคุกที่กรุงเยรูซาเล็ม (บทที่ 21.17-23.35)
                                    - การถูกจับกุม                                                            บทที่ 21.17-22.29
                                    - การถูกสอบสวนต่อหน้าสภา                                       บทที่ 22.30-23.11
                                    - ถูกส่งไปที่ซีซารียา                                                   บทที่ 23.12-12.35
                                ข. เปาโลถูกขังคุกที่ซีซารียา (บทที่ 24-26)
                                    - การถูกสอบสวนต่อหน้าเฟลิกซ์                                     บทที่ 24
                                    - การถูกสอบสวนต่อหน้าเฟสทัส                                     บทที่ 25.1-12
                                    - การถูกสอบสวนต่อหน้าเฟสทัสและอากริปปา                 บทที่ 25.13-26.32
                                ค. การเดินทางสู่กรุงโรม                                                     บทที่ 27.1-28.15
                                ง. การถูกกักขังที่กรุงโรม 2 ปี                                              บทที่ 28.16-31

3.  บทสรุป

            - พระเยูซูตรัสสั่งให้เราเป็นพยานฝ่ายพระองค์ เริ่มต้นที่กรุงเยรูซาเล็ม แคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรียและจนสุดปลายแผ่นดินโลก กรุงเยรูซาเล็มคือถิ่นที่อยู่ของเรา ส่วนแคว้นยูเดียและแคว้นสะมาเรียจะเป็นถิ่นที่มีวัฒนธรรม กลุ่มคนและภาษาที่ต่างออกไปจากเรานิดหน่อย ที่สุดปลายแผ่นดินโลกจะเป็นสถานที่ที่ไกลที่สุดที่เราจะไปถึง หรืออีกนัยหนึ่ง เราต้องเป็นพยานฝ่ายพระเยซูไม่ใช่เพียงเพื่อนบ้านที่อยู่บนถนนเดียวกัน ไม่ใช่เพียงคนต่างเผ่าพันธุ์ที่อยู่รอบข้างเรา แต่ต้องกับคนทั่วทั้งโลกอีกด้วย ถึงอย่างไรเราก็ต้องเริ่มต้นที่เยรูซาเล็มของเรา เปโตรและยอห์นไปพบเห็นคนง่อย โดยบังเอิญ” (3.1-10) แต่พวกเขาก็เห็นโอกาสที่จะประกาศ เช่นเดียวกันกับคนที่มีปัญหาที่เราพบเจอทุกวัน เราต้องเห็นว่าเป็นโอกาสที่เราจะประกาศ (แต่ไม่ควรอาจหาญเกินไปที่จะไปสัญญาว่าพระเยซูจะทรงแก้ไขปัญหาของเขา และอย่าอ่อนแอเกินไปจนไม่กล้าเป็นพยานกับเขา)

   - อธิษฐานขอให้คริสตจักรได้รับการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่จะมีโอกาสได้ไปประกาศยังแคว้นยูเดียและสะมาเรียของเรา เราควรฉวยโอกาสประกาศพระเยซูในสถานที่ใหม่ๆทันที

   - อธิษฐานขอให้มีสมาชิกในคริสตจักรของเราไปเป็นมิชชันนารีเหมือนที่อันทิโอกได้ส่งเปาโลและบารนาบัสออกไป (13.1-3) ถ้าพระวิญญาณทรงนำเราก็ต้องสนับสนุนด้วยการอธิษฐานและกำลังทรัพย์

  *** จงอธิษฐาน ออกไปเอง และส่งคนออกไปประกาศเถิด ***

4. การตีความพระธรรมกิจการ

                พระธรรมกิจการได้บันทึกถึงการเสื้อมลงของระบบเก่าและเริ่มต้นระบบใหม่ เมื่อจะตีความพระธรรมกิจการควรจะระลึกถึงเรื่องนี้ด้วย และจะเป็นประโยชน์มากถ้าบันทึกเป็นรายๆไปว่า กำลังกล่าวถึงใคร และเขารู้อะไรมากน้อยเพียงไร เช่น ในยุคคริสตจักรเริ่มแรก มีชาวยิวที่มีความเชื่อศรัทธาอย่างแท้จริงในพระเจ้าของยิว แต่แทบจะไม่รู้จักพระเยซูคริสต์เลย  มีหลายคนที่ตอบรับคำสอนของยอห์น บัพติศโตเป็นอย่างดี แต่แทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ยอห์นประกาศนั้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องสังเกตุดูเนื้อหาให้ดีว่ากำลังเน้นอยู่ที่ใคร เพื่อจะได้ตีความเหตุการณ์ตอนนั้นได้ถูกต้อง กิจการเป็นพระธรรมที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจริงๆ



 

พระกิตติคุณทั้ง 4


ในพระคัมภีร์ใหม่ พระกิตติคุณได้รับการกล่าวถึงในลักษณะต่างๆกัน ได้แก่

                ข่าวประเสริฐของพระเจ้า (มก 1.14)
                ข่าวประเสริฐแห่งพระคุณของพระเจ้า (กจ 20.24)
                ช่าวประเสริฐเรื่องความรอด (อฟ 1.13)
                ข่าวประเสริฐเรื่องพระบุตรของพระองค์ (รม 1.9)
                ข่าวประเสริฐของพระคริสต์ (ฟป 1.27)
                ข่าวประเสริฐแห่งสันติสุข (อฟ 6.15)

               เนื้อหาสาระที่สำคัญในหนังสือพระกิตติคุณก็คือ ชีวประวัติของพระเยซูคริสต์  ผู้เขียนหนังสือพระกิตติคุณไม่เพียงต้องการนำเสนอประวัติของพระเยซูเท่านั้น แต่ยังต้องการให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความเข้าใจถึงองค์พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระเจ้า ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อวางใจในพระองค์และผลที่ได้รับก็คือ ชีวิตนิรันดร์ (ยน 20.31)

ความหมายของพระกิตติคุณ
                คำว่า พระกิตติคุณหรือข่าวประเสริฐ มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Gospel หมายความว่าข่าวดีหรือข่าวประเสริฐ ซึ่งสอดคล้องกับคำในภาษากรีก euanggelos หมายถึงผู้นำมาซึ่งข่าวดี ในพระคัมภีร์ใหม่ คำว่ากิตติคุณหรือข่าวประเสริฐมักจะใช้ในความหมายว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นข่าวประเสริฐของพระเจ้าที่มีมาถึงมนุษย์ทั้งหลาย เป็นข่าวแห่งความรอดที่คริสเตียนประกาศแก่คนทั่วโลก

รูปแบบของพระกิตติคุณ
            แม้ว่าพระกิตติคุณมีผู้เขียนที่ต่างกัน เขียนถึงผู้อ่านที่ต่างกัน แต่เนื้อหาในพระกิตติคุณมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากการศึกษาพระกิตติคุณทั้ง 4 เล่ม พบว่ามีรูปแบบของเนื้อหาคล้ายกัน 3 ประการ คือ
1.     เรื่องราวของยอห์น ผู้ให้บัพติศมา ซึ่งเป็นการเปิดทางให้กับพระเยซูคริสต์
2.     พระราชกิจของพระเยซูทั้งที่เป็นคำสอนและการกระทำ
3.     เรื่องการสิ้นพระชนม์และการเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซู ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่สุดของพระกิตติคุณ และทุกเล่มได้ให้ความสำคัญและรายละเอียดไว้มากที่สุด

          ดังนั้น ผู้นำคริสตจักรในยุคแรกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า หนังสือที่จะจัดเป็นพระกิตติคุณได้นั้นต้องมีรูปแบบของพระกิตติคุณทั้ง 3 ประการนี้  และรูปแบบนี้เองที่ปรากฏอยู่ในคำเทศนาสั่งสอนของอัครสาวกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างคำเทศนาของเปโตรและเปาโลในพระธรรมกิจการ (กจ 2.22-24, 10.37-41, 13.24-31) 

          แม้ว่าการบันทึกพระกิตติคุณทั้ง 4 เล่ม จะมีระยะเวลาห่างกันถึง 40 ปี ก็ไม่เป็นเหตุที่จะลดความเชื่อถือและการยอมรับในสิทธิอำนาจของพระกิตติคุณให้น้อยลงได้ ทั้งนี้เพราะมีรูปแบบของพระกิตติคุณและการรับรองของอัครสาวกเป็นสำคัญ และโดยชีวิตของผู้เชื่อเองที่ได้รับพระกิตติคุณแล้วทำให้ชีวิตได้รับการเปลี่ยนแปลง

ความยาวและภาษาของพระกิตติคุณ
                พระกิตติคุณทั้งสี่มีเนื้อหาความยาวรวมกันยาวเกือบประมาณครึ่งหนึ่งของพระคัมภีร์ใหม่ ถ้าเรียงลำดับโดยความยาวของเนื้อหาของทั้งสี่เล่ม ดังนี้ ลูกา มัทธิว ยอห์น มาระโก

                ตามความเป็นจริงแล้วเรื่องราวในพระกิตติคุณจัดว่าสั้นมาก ทั้งนี้เพราะชีวประวัติของพระเยซูมีมากกว่าที่บันทึกไว้ในพระกิตติคุณอย่างแน่นอน แต่ที่บันทึกเป็นเพียงส่วนสำคัญที่คัดเลือกมาเขียนเท่านั้น       (ยน 20.30, 21.25) พระกิตติคุณแต่ละเล่มมีเป้าหมายของผู้เขียนที่ต่างกัน เช่น มัทธิวมีเป้าหมายให้ชาวยิวมีความเชื่อ (มธ 1.1) ส่วนมาระโกมีเป้าหมายให้ชาวต่างชาติได้รู้เรื่องราวและเชื่อ (มก 1.1) แม้ว่าเป้าหมายของแต่ละเล่มจะต่างกันไปบ้างแต่ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน พระกิตติคุณทั้งสี่เล่มช่วยเสริมซึ่งกันและกันให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพของพระเยซูคริสต์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำพาผู้ที่รู้เรื่องราวของพระองค์ให้เกิดความเชื่อและวางใจเป็นประการสำคัญ (ลก 1.1-4)  ชาวยิวที่ปาเลสไตน์ในสมัยของพระเยซูจะใช้ 2 ภาษาด้วยกัน คือ ภาษากรีก(คอยเน่)และภาษอารเมคซึ่งเป็นภาษาพื้นเมือง ดังนั้นภาษาที่ใช้ในพระคัมภีร์ใหม่จึงเป็นภาษากรีกเป็นหลัก (มีภาษาอารเมคปะปนอยู่บ้าง)

ตารางเปรียบเทียบระหว่างพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม



มัทธิว

มาระโก

ลูกา

ยอห์น

ผู้เขียน

มัทธิว

มาระโก

ลูกา

ยอห์น

สถานที่เขียน

เยรูซาเล็ม

โรม

ซีซารียา

เอเฟซัส

ผู้อ่าน

ชาวยิว

ชาวโรมัน

ชาวต่างชาติ(กรีก)

คริสตจักร

จุดมุ่งหมาย

ยืนยันว่าพระเยซูคือพระเมสสิยาห์

พระเยซูคือผู้รับใช้ของพระเจ้า

พระเยซูคือมนุษย์ที่สมบูรณ์ทุกประการ

พระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้า

หัวข้อ

กษัตริย์แห่งอิสราเอล

พระบัญชาแห่งอิสราเอล

แบบอย่างของอิสราเอล

พระเจ้าแห่งอิสราเอล

ท่าทีของผู้เขียน

อาจารย์

นักเทศน์

นักอักษรศาสตร์

นักศาสนศาสตร์

จุดเด่นของเนื้อหา

คำเทศนา

การอัศจรรย์

คำอุปมา

หลักคำสอน

ความคิดที่เน้น

พระบัญญัติ

ฤทธิ์อำนาจ

พระคุณ

พระสิริ

คำที่เน้น

สำเร็จแล้ว

ทันที, ทันใดนั้น

บุตรมนุษย์

เชื่อ

ลักษณะของพระกิตติคุณ

พระกิตติคุณพ้อง (Synoptic Gospel)

พระกิตติคุณที่เสริม

สถานที่ที่ประกาศสั่งสอนเป็นพิเศษ

แคว้นกาลิลี

แคว้นยูเดีย เยรูซาเล็ม

ผู้รับการสั่งสอน

คนหมู่มาก

คนกลุ่มน้อย

ลักษณะชีวิตของพระเยซู

ชีวิตที่เปิดเผยในสังคม

ชีวิตที่เป็นส่วนตัว

ข้อพระธรรมสำคัญ

มธ 27.37

มก 10.45

ลก 19.10

ยน 20.31

ความสอดคล้องของพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม
                เป็นอีกวิธีหนึ่งในการศึกษาชีวประวัติของพระเยซูคริสต์ที่น่าสนใจนอกเหนือจากการศึกษาพระกิตติคุณแต่ละเล่ม ผู้ที่เคยศึกษาพระกิตติคุณแต่ละเล่มแล้วเมื่อมาศึกษาความสอดคล้องของพระกิติคุณทั้งสี่ จะได้รับความเข้าใจเกี่ยวกับภาพชีวิตของพระเยซูทั้ง 4 ด้าน และจะสามารถลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับชีวิตและพระราชกิจของพระเยซูคริสต์อย่างเป็นระเบียบและครบถ้วน ซึ่งความสอดคล้องนี้ได้ระบุไว้แล้วในแต่ละหัวข้อใหญ่ของพระกิตติคุณแต่ละเล่ม ซึ่งเราสามารถเปิดข้อพระคัมภีร์เหล่านั้นและเปรียบเทียบกันได้ด้วยตนเอง (ดูตารางชีวิตของพระเยซู)

พระกิตติคุณกับพระธรรมต่างๆในพระคัมภีร์ใหม่
                ถ้าปราศจากพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม เราก็ไม่อาจที่จะเข้าใจการบันทึกของพระธรรมเล่มอื่นๆเลย

               พระกิตติคุณกับพระธรรมกิจการ  เรื่องราวในกิจการต่อเนื่องกับพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม กจ 1.1 ‘บรรดาการซึ่งพระเยซูได้ทรงตั้งต้นกระทำและสั่งสอน’ ข้อความที่อ้างถึงพระกิตติคุณที่ลูกาเป็นผู้บันทึกและเป็นนัยว่านี่เป็นการบันทึกต่อเนื่องจากการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ที่เป็นบทสุดท้ายของพระกิตติคุณ

               พระกิตติคุณกับจดหมายฝาก  จดหมายฝากเหล่านี้บรรยายถึง พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระทำกิจในคริสตจักร โดยช่วยผู้ที่เชื่อให้มีความเข้าใจและดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามน้ำพระทัยพระเจ้า เรื่องราวชีวประวัติของพระเยซูคริสต์นั้นเป็นรากฐานของหลักศาสนศาสตร์ทั้งมวลที่ปรากฏอยู่ในจดหมายฝาก และเนื้อหาในจดหมายฝากก็มุ่งพรรณนาถึงลักษณะและจุดประสงค์ที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่บาปของมวลมนุษย์ ตามที่ปรากฏในพระกิตติคุณ และผู้ที่เชื่อในพระองค์จะมีชีวิตที่เกิดผลตามพระสัญญาที่พระองค์ให้ไว้ในพระกิตติคุณ

                พระกิตติคุณกับวิวรณ์  พระธรรมวิวรณ์อ้างถึงเรื่องราวในพระกิตติคุณมากมาย เช่น
                วว 1.18  อ้างถึงพระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว และยังดำรงพระชนม์อยู่
                วว 5.6  พระเมษโปดกผู้ทรงถูกปลงพระชนม์
                วว 19.11-16  พระนามที่เรียกพระองค์นั้นคือ พระวาทะของพระเจ้าจะเสด็จมาพิพากษาชาวโลกทั้งหลาย
                ข้อความที่อ้างถึงองค์พระเยซูคริสต์ในวิวรณ์นั้นมีความสำคัญมาก ทั้งนี้เพราะเรื่องราวทั้งหมดในวิวรณ์เป็นสุดยอดแห่งการเปิดเผยของพระเจ้าผ่านทางองค์พระเยซูคริสต์ซึ่งพระกิตติคุณได้บันทึกไว้แล้วนั่นเอง

เหตุการณ์  7  วันสุดท้ายของพระเยซู

  1. การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต(วันอาทิตย์ )(มธ 21.1-11,มก 11.1-11,ลก 19.29-44,ยน 12.12-19)
-    ต้นปาล์มหรืออินทผาลัมเป็นสัญลักษณ์ของความสง่างาม ผู้ชอบธรรม (สดด 92.12-14) ความชื่นชมยินดีและชัยชนะ 
-    พระเยซูทรงใช้สาวก 2 คนไปนำลูกลามาให้พระองค์ และพระองค์ทรงลูกลาเข้าเยรูซาเล็ม
-    พระองค์เสด็จไปพักที่เบธานีในคืนวันอาทิตย์

  1. เหตุการณ์ที่เป็นหมายสำคัญ (วันจันทร์)
-    เช้าวันจันทร์ พระองค์กับสาวกเดินทางเข้ามายังเยรูซาเล็มอีก
-    ทรงสาปต้นมะเดื่อ (มธ 21.18-19, มก 11.12-14) เปรียบกับอิสราเอลซึ่งดูเหมือนจะเกิดผล
** ทำไมพระเยซูไปหาผลมะเดื่อ ในเมื่อไม่ใช่ฤดูของมัน **  (ชาวยิวมักจะกินมะเดื่อดิบลูกเล็กๆมีรสหวานอร่อยที่เรียกว่า ‘ทากซ์’ ซึ่งจะออกผลก่อนที่ใบมะเดื่อจะผลิ และผลทากซ์ยังเป็นเครื่องแสดงว่ามะเดื่อต้นนั้นจะออกผลอย่างแน่นอน)
-    ทรงชำระพระวิหารเป็นครั้งที่ 2 (มธ 21.12-13, มก 11.15, ลก 19.45-48) สร้างความเคียดแค้นแก่ผู้เสียผลประโยชน์คือพวกผู้นำศาสนา

  1. วันที่งานยุ่ง (วันอังคาร) พระเยซูทรงสั่งสอนในพระวิหารและบนภูเขามะกอกเทศ
-          ต้นมะเดื่อเหี่ยวแห้ง (มธ 21.19-22, มก 11.20-26)
·    เปโตรอัศจรรย์ใจที่ต้นมะเดื่อเหี่ยวแห้งไป
-          ปัญหาเรื่องสิทธิอำนาจของพระเยซู (มธ 21.23-27, มก 11.27-33, ลก 20.1-8) 
-   การที่พระเยซูทรงชำระพระวิหารทำให้ผู้นำศาสนาต่างไม่พอใจ จึงทูลถามว่า   พระองค์มีสิทธิอำนาจอะไรที่มาทำเช่นนี้
-    พระเยซูไม่ตอบ แต่ถามกลับว่า บัพติศมาของยอห์นนั้นมาจากไหน จากพระเจ้าหรือจากมนุษย์ พวกเขาไม่กล้าตอบ พระเยซูจึงไม่ตอบคำถามเขาเช่นกัน
-          คำอุปมาที่เป็นคำเตือนแก่พวกเขา 3 เรื่อง (มธ 21.28-34, มก 12.1-12, ลก 20.9-19)
-    บุตร 2 คน = พวกเขาเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก, ดูเหมือนเชื่อฟัง แต่ไม่จริงใจ
-    คนเช่าสวนองุ่นชั่วร้าย = พวกเขาเป็นคนต่อต้านพระเจ้า มีภาพเล็งถึงพระเยซู
·    การเลี้ยงในพิธีอภิเษกมเหสี
-          ปัญหา 3 เรื่องที่พวกเขาเอามาทดสอบเพื่อจับผิด (มธ 22.15-40, มก 12.13-34, ลก 20.20-40)
-    การเสียส่วยให้แก่ซีซาร์ (สิ่งใดควรแก่ใครก็ให้แก่ผู้นั้น รม 13.7)
-    การคืนชีพ (กายที่เป็นขึ้นเป็นกายใหม่ และมีสภาวะแบบใหม่)
-    พระบัญญัติข้อใหญ่ (พระเยซูสรุปจาก 10 ประการเหลือ 2 ประการ คือ ท่าทีที่ถูกต้องต่อพระเจ้าและต่อมนุษย์)
-          เงินถวายของหญิงม่าย (มก 12.41-44, ลก 21.1-4)
-     ตามกฎหมายยิวแล้ว การถวายเหรียญทองแดงถือว่าเป็นเงินถวายที่มีค่าน้อยที่สุด
-     แต่หญิงคนนี้ถวายหมดทั้งตัว ไม่ใช่ส่วนที่เหลือใช้
-     พระเจ้าทอดพระเนตรไม่เหมือนมนุษย์ ( 1 ซมอ 16.7)
-          คำตรัสที่ภูเขามะกอกเทศ (มธ 24-25, มก 13.1-17, ลก 21.5-36)
-     สาวกทูลถามถึงหมายสำคัญของการเสด็จมา มีอะไรบ้างเป็นสัญญาณบอก
-     คำเปรียบ 3 เรื่อง
1.      ต้นมะเดื่อ หมายถึง  อิสราเอล เป็นตารางเวลาบอกเหตุ
2.      โนอาห์ การที่จะมาโดยไม่รู้ตัว
3.      ขโมยจะมาในยามวิกาล เราต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ
-     คำอุปมา 4 เรื่อง
1.      ทาสผู้ไม่ซื่อสัตย์ (ความรับผิดชอบต่อหน้าที่)
2.      พรหมจารีย์ 10 คน (การเฝ้ารอคอย การดำเนินชีวิตอย่างพร้อมเสมอ)
3.      เงินตะลันต์ (การรับใช้ตามของประทานให้เกิดผล)
4.      แพะกับแกะ (การพิพากษาในอนาคตระหว่างผู้รับใช้แท้และเทียม)
-          ยูดาแอบไปพบกับผู้นำศาสนา (มธ 26.14-16, มก 14.10-11, ลก 22.3-6)
-     พวกผู้นำศาสนาถือว่าพวกสาวกที่ใกล้ชิด 12 คนก็เป็นศัตรูด้วย แต่เมื่อยูดาสแสดงตัวอาสาจะพาไปจับพระเยซู พวกนั้นก็เชื่อว่าพระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเขา
-     ซาตานเข้าดลใจเพราะยูดาสเปิดทางให้ เพราะเขารักเงินทอง เคยขโมย (ยน 12.6)

  1. ช่วงพักสงบตลอดวันพุธ และ พฤหัสบดี พระเยซูทรงอยู่เพียงลำพังที่เนินเขาที่เบธานี เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงสุดท้ายแห่งพระราชกิจของพระองค์
      5. คืนวันพฤหัสบดี (วันศุกร์ของชาวยิวเริ่ม 6 โมงเย็นของวันพฤหัสบดี)
-          การเตรียมอาหารมื้อสุดท้าย (มธ 26.17-19, มก 14.12-16, ลก 22.7-13)
-     พระเยซูทรงกำหนดสถานที่ทานเลี้ยงไว้แล้ว
-     ปกติแล้วหน้าที่แบกเหยือกน้ำเป็นของผู้หญิงหรือเด็ก ไม่ใช่ผู้ชาย ฉะนั้นจึงเป็นการง่ายสำหรับสาวกที่จะหาพบ ผู้รับผิดชอบไปเตรียมงานคือ เปโตรและยอห์น
-          ร่วมพิธีปัสกา (มธ 26.20, มก 14.17, ลก 22.14-16, 24-30)
-     เริ่มต้นด้วยการอธิษฐานขอพรจากพระเจ้า รำลึกถึงเรื่องราวของพิธีปัสกาจากหนังสืออพยพ และร้องเพลงสดุดี 113 และ 114
-     ร่วมรับประทานอาหารคือ เนื้อลูกแกะ ซึ่งถูกฆ่าเป็นเครื่องบูชา  ขนมปังไร้เชื้อ  ผักรสขม และเหล้าองุ่น
-     เมื่อรับประทานเสร็จ จะร่วมอธิษฐานขอบคุณพระเจ้า และร้อง สดุดี 115-118
-          ทรงล้างเท้าพวกสาวก (ยน 13.1-20)
·     เพราะสาวกโต้เถียงกันเรื่องใครจะเป็นใหญ่ (ลก 22.24-30)  พระเยซูจึงสอนว่าคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นคนที่รับใช้ผู้อื่น แล้วพระองค์ทรงกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
-         ทรงบอกถึงการทรยศต่อพระองค์ (มธ 26.21-25, มก 14.18-21, ลก 22.21-23, ยน 13.21-30)
-     พระเยซูทรงรู้ว่ายูดาสจะทรยศพระองค์
-     การเปิดเผยในเรื่องนี้แก่สาวกเป็นการเตือนหรือให้โอกาสทางอ้อมแก่ยูดาสที่จะกลับใจ เพราะเหล่าสาวกก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร
-     ยูดาสไม่ยอมกลับใจ ซาตานจึงสามารถทำงานในใจของเขา
-          ทรงตั้งพิธีมหาสนิท (มธ 26.26-29, มก 14.22-25, ลก 22.17-20, ยน 13.31-35)
-     หลังจากยูดาสออกไปแล้ว พระเยซูเพิ่มความหมายในพิธีปัสกาโดยมอบพันธสัญญาใหม่ให้แก่สาวก
-     พระองค์ทรงใช้อาหาร 2 อย่างมาเป็นเครื่องหมาย คือ ขนมปังไร้เชื้อและเหล้าองุ่น ซึ่งหมายถึงพระกายและพระโลหิตที่ต้องถวายเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปมนุษย์
-     เปาโลได้อธิบายพิธีนี้เพิ่มเติมใน 1 โครินธ์ 11.23-32
-          คำตรัสเรื่องการเกิดผลมาก (ยน 15.1-27)
-     ใช้คำอุปมาเปรียบเทียบเรื่องเถาองุ่นและแขนง
       เถา คือ พระเยซู   แขนง คือ สาวก   ผู้ดูแล คือ พระเจ้าพระบิดา
-          ทรงอธิษฐานเผื่อพวกสาวก (ยน 17.1-26) ทรงอธิฐานต่อหน้าพวกสาวก และพวกเขาได้ยิน
-          การจับกุมที่สวนเกทเซมาเน (มธ 26.36-46, มก 14.32-42, ลก 22.39-46, ยน 18.1)
-     พระเยซูทรงอธิษฐานอย่างจริงจังก่อนเผชิญการทนทุกข์
-     ที่สวนนี้จะมีที่สำหรับบีบน้ำมันจากลูกมะกอก เช่นกันที่สวนนี้ พระเยซูต้องเข้าสู่สภาพบีบคั้นอย่างหนักทางจิตใจ
-     ยูดาสนำฝูงชนและผู้นำศาสนามาจับกุม โดยการจุบ
-          การพิจารณาคดีของพวกยิว (มธ 26.57, มก 14.53, ลก 22.54, ยน 18.13)
-     เป็นช่วงเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นของวันศุกร์
-     ทรงถูกพิจารณาคดี 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการสอบสวนหาความผิดมากกว่า
** ครั้งแรกที่สภายิว ซึ่งถ้าไม่ใช่โทษประหาร สภายิวก็ตัดสินได้เลย
** ครั้งที่ 2 ที่ศาลของโรมัน เนื่องจากพวกยิวต้องการประหารพระองค์แต่เขาไม่มีอำนาจ จึงต้องนำมาให้ปีลาตตัดสิน
-     ข้อกล่าวหาที่ทำให้เขาตัดสินประหารชีวิตพระเยซู คือ พระองค์ทรงรับว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า ซึ่งพวกยิวถือว่าเป็นการดูหมิ่นพระเจ้าซึ่งมีโทษถึงตาย
-          เปโตรปฏิเสธพระเยซู (มธ 26.58, มก 14.54, ลก 22.54, ยน 18.15)
-     มีสาวกเพียง 2 คนที่ติดตามพระเยซูไปในช่วงที่ถูกจับ คือ ยอห์น ซึ่งเขารู้จักกับมหาปุโรหิตเป็นการส่วนตัว อีกคนคือเปโตร นอกนั้นหลบหนีด้วยความกลัว
-     เปโตรปฏิเสธพระเยซู 3 ครั้งภายในเวลาชั่วโมงกว่าๆ

  1. กลางวันของวันศุกร์
-          การพิจารณาคดีของโรม (มธ 27.2-31, มก 15.1-20, ลก 23.1-25, ยน 18.28-19.6)
-     ปอนทิอัส ปีลาต เป็นที่รู้กันดีในคนยิวว่าเป็นผู้ปกครองที่เข้มงวด ดุดัน เขาเหยียดหยามคนยิวและไม่ค่อยมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำศาสนายิว เพราะปีลาตได้สั่งให้แห่รูปซีซาร์ไปตามท้องถนนในกรุงเยรูซามเล็ม ทำให้ยิวไม่พอใจ และเขายังได้สั่งให้สังหารฝูงชน 2-3 ครั้ง เมื่อได้ยินว่าพวกยิวจะก่อจลาจล (ลก 13.1)
-     แต่การตัดสินพระเยซูกลับเป็นช่องทางที่ทำให้พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
-     ปีลาดได้ส่งพระเยซูไปให้เฮโรดด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เขาทั้งสองไม่ค่อยลงรอยกัน แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เขาคืนดีกัน (ลก 23.6-12)
-          การตรึงพระเยซูที่กางเขน (มธ 27.31-56, มก 15.20-41, ลก 23.26-49, ยน 19.16-37)
-     การตรึงกางเขนเป็นวิธีประหารชีวิตที่พวกโรมันใช้กับทาสหรือคนต่างชาติ
-     นักโทษที่ถูกตรึงตามปกติอาจกินเวลาหลายวันถึงจะตายอย่างทรมาน
-     กางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งความอัปยศอดสู และการดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งพวกโรมันจะใช้ประหารต่างชาติที่มีโทษรุนแรงที่สุด (แต่คนโรมันเองจะใช้วิธีตัดคอ)
-     สดุดี บทที่ 22 ได้พรรณนาไว้อย่างแจ่มชัดก่อนหน้านี้แล้ว
-          คำตรัสของพระเยซู  7  ประโยคบนกางเขน
           ** 1. แสดงการให้อภัย ‘โอพระบิดาเจ้าข้า ขอโปรดอภัยโทษเขา เพราะเขาไม่รู้ว่า เขาทำอะไร’ ลก 23.34
           ** 2. อภัยและยอมรับ ‘เราบอกความจริงแก่เจ้าว่า วันนี้เจ้าจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม’ ลก 23.43
           ** 3. ฝากฝังห่วงใยมารดา ‘จงดูบุตรของท่าน ... จงดูมารดาของท่านเถิด’ ยน 19.26-27
           ** 4. แสดงความรู้สึกว้าเหว่ และการแยกขาดจากพระบิดาเพราะบาปของมวลมนุษย์ ‘พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย’ มธ 27.46
           ** 5. แสดงถึงความทรมานฝ่ายกาย ‘เรากระหายน้ำ’ ยน 19.28
           ** 6. ประกาศคำสำเร็จ ‘สำเร็จแล้ว’ ยน 19.30
           ** 7. มอบฝากวิญญาณไว้กับพระเจ้า ‘พระบิดาเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝากวิญญาณจิตของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์’ ลก 23.46
-          ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์ (มธ 27.15-56)
-     ความมืดตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายสามโมง
-     ม่านในวิหารขาดเป็น 2 ท่อน แสดงถึงประตูแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าได้ถูกเปิดออกโดยพระองค์
-     แผ่นดินไหว,    อุโมงค์ฝังศพก็เปิดออก(น่าจะเป็นความหมายฝ่ายวิญญาณ)
-          การฝังศพพระเยซู (มธ 27.57-66, มก 15.42-47, ลก 23.50-56, ยน 19.38-42)
-     โยเซฟแห่งอาริมาเธีย เป็นคนมีฐานะดี เป็นสมาชิกสภายิว (มก 15.43)   แต่เป็นสาวกลับๆของพระเยซู ได้ขอรับศพจากปีลาตมาฝังตามธรรมเนียม   พร้อมกับสาวกลับๆอีกคนคือ นิโคเดมัส
-     เนื่องจากยิวถือว่า เวลาดวงอาทิตย์ตกก็เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ ซึ่งจะเป็นวันสะบาโต ฉะนั้นจึงต้องรีบจัดการฝังพระศพของพระเยซูก่อน และพวกผู้ร้ายที่ยังไม่ตายก็ต้องเร่งให้ตายด้วยการทุบขาให้หัก เพื่อทำให้เจ็บปวดมากขึ้นและทรงตัวยาก ทำให้หายใจลำบากและตายเร็ว ยิวมีกฎหมายห้ามฝังศพในวันสะบาโต
-     อุโมงค์ฝังศพนั้นจะขุดเข้าตามภูเขาและมีก้อนหินใหญ่สำหรับปิดปากอุโมงค์
-     ก่อนฝังศพจะมีการชโลมด้วยเครื่องหอมที่ทำมาจากมดยอบกับกฤษณาก่อน แล้วใช้ผ้าพันศพเป็นมัมมี่ แล้ววางไว้ในอุโมงค์
-     พวกผู้นำยิวขอให้ปีลาตประทับตราอุโมงค์และมีทหารเฝ้าด้วย

  1. วันอาทิตย์
-          การคืนพระชนม์และการปรากฏครั้งแรก (มธ 28.1-15, มก 16.1-11, ลก 24.1-12, ยน 20.1-18)
-     เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเช้าตรู่วันอาทิตย์หรือวันต้นสัปดาห์
** แผ่นดินไหว  ทูตสวรรค์กลิ้งก้อนหินออกแล้วนั่งอยู่บนหินนั้น ทหารหนีไป
-     กลุ่มคนที่อยู่ในเหตุการณ์ (มก 16.1, ลก 24.10, ยน 20.2-10)
** ผู้หญิงที่ไปที่อุโมงค์ มี มารีย์ชาวมักดาลา มารีย์(มารดา) นางสะโลเม โยฮันนา
** ทูตสวรรค์ได้บอกกับพวกผู้หญิงว่า พระเยซูทรงเป็นขึ้นจากความตายแล้ว และพระองค์เสด็จไปยังแคว้นกาลิลี พวกเจ้าจะได้พบพระองค์ที่นั่น
** พวกผู้หญิงกลับมาบอกพวกอัครทูต แต่พวกเขาไม่เชื่อ มีเพียงเปโตรกับยอห์น เมื่อได้ยินมารีย์มักดาลาบอกก็รีบวิ่งไปที่อุโมงค์ ได้เห็นแต่ยังไม่เข้าใจ ???
** เมื่อเปโตรกับยอห์นได้กลับจากอุโมงค์แล้ว มารีย์มักดาลาได้ตามไปด้วยแต่ถึงทีหลัง นางจึงนั่งร้องไห้อยู่นอกอุโมงค์ พระเยซูได้ปรากฏกับเธอเป็นคนแรก
-          ทรงปรากฏบนถนนที่จะไปเอมมาอูส (มก 16.12, ลก 24.13-33)
-     ตอนบ่ายวันอาทิตย์  สาวก 2 คน คนหนึ่งชื่อ เดล โอปัส กำลังเดินทางไปเอมมาอูสซึ่งอยู่ห่างจากเยรูซาเล็มประมาณ 11 กิโลเมตร กำลังคุยกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
-   พระเยซูได้ปรากฏและร่วมเดินทางไปกับเขา แต่เขาจำไม่ได้ จนเข้าไปในบ้าน พระเยซูทรงหักขนมปัง เขาจึงรู้ว่าเป็นพระองค์ แล้วพระองค์ก็หายไป
-          ทรงปรากฏกับเปโตรและพวกสาวก (มก 16.13-14, ลก 24.33-43, ยน 20.19-25)
-     เย็นวันอาทิตย์ ขณะที่พวกเขาประชุมกันอยู่ พระเยซูทรงปรากฏท่ามกลางพวกเขา และได้ทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์เป็นขึ้นมาจริงๆทั้งฝ่ายร่างกายและฝ่ายวิญญาณ โดยที่โธมัสไม่ได้อยู่ด้วย
-          ทรงปรากฏเพื่อโธมัสจะแน่ใจ (ยน 20.26-31)
-     โธมัสคนเดียวที่ไม่ได้อยู่ในคืนนั้นและเขาไม่ยอมเชื่อจนกว่าจะได้เห็นเอง
-      วันอาทิตย์ถัดไป พระเยซูปรากฏอีกครั้งท่ามกลางพวกเขาเพื่อให้โธมัสแน่ใจ

ช่วงเวลา 40 วัน และการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์

       ** 1. ทรงปรากฏที่ทะเลกาลิลี (ยน 21.1-25)
-         พวกสาวก 7 คนกลับมาที่กาลิลีมาทำอาชีพประมงอีก เนื่องจากสับสนไม่รู้จะทำอะไรต่อไป
-         พวกเขาจับปลาไม่ได้เลยในคืนนั้น เมื่อกำลังนำเรือเข้าฝั่ง พระเยซูปรากฏกับเขาแต่เขาจำไม่ได้ พระองค์สั่งให้หย่อนอวนลง พวกเขาทำตามและจับปลาได้เป็นอันมาก
-         ยอห์นจำพระองค์ได้ก่อนจึงบอกเปโตร  เปโตรจึงรีบกระโดดออกจากเรือมาหาพระองค์
** ถ้าเราหันออกจากน้ำพระทัยพระเจ้าแล้วจะไม่เกิดผล แต่ถ้าเชื่อฟัง ทำตาม จะเห็นผลมากมาย **
       ** 2. ทรงมอบภารกิจที่สำคัญ (มธ 28.16-20, มก 16.15-18)
-          พระองค์ทรงรับมอบอำนาจสูงสุด ‘ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดี ทรงมอบไว้แก่เราแล้ว’
-          ทรงสั่ง และ ให้สาวกเป็นตัวแทนของพระองค์ออกไปประกาศและสร้างสาวก ‘เหตุฉะนั้น เจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวกของเรา’
-          วิธีการ หรือ สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือ ‘ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์’
-          สรุป คือ ให้นำคนมาเชื่อ ‘สอนให้เขาถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้’ (เติบโตขึ้น)
-          คำสัญญา ‘นี่แหละ เราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค’

       ** 3. คำตรัสย้ำภารกิจที่ทรงมอบไว้ (ลก 24.44-49)
-          พระเยซูทรงใช้เวลาตลอด 40 วันในการสั่งสอนสาวกในสิ่งที่ทรงเคยสอนพวกเขามาแล้ว ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าใจถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์และพระราชกิจของพระองค์มากขึ้น ทำให้พวกเขาพร้อมที่จะออกไปปฏิบัติภารกิจต่อจากพระองค์
-          พระองค์ทรงสั่งให้เขาคอยรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อนการออกไปรับใช้ ซึ่งเป็นเวลา 10 วันหลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์

       ** 4. เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ (มก 16.19-20, ลก 24.50-53, กจ 1.9-12)
-         สถานที่ที่พระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ คือ ภูเขามะกอกเทศ ซึ่งอยู่เลยหุบเขาขิดโรน และอยู่ห่างจากเยรูซาเล็มเป็นระยะทาง 2000 คิดบิท (ครึ่งไมล์กว่าๆ) ซึ่งเป็นระยะทางที่อนุญาตให้เดินได้ในวันสะบาโต (กจ 1.12) เพราะวันนั้นเป็นวันสะบาโตคือวันเสาร์
-         พระองค์ได้ตรัสย้ำถึงภารกิจสำคัญ และอวยพรพวกเหล่าสาวก แล้วก็เสด็จขึ้นสู่สวรรค์        (กจ 1.8-9) ต่อหน้าต่อตาพวกเขา
-         ทูตสวรรค์บอกกับสาวกว่า พระองค์จะเสด็จกลับมาเหมือนอย่างที่ได้เห็นพระองค์เสด็จไปสวรรค์นี้อีกครั้ง