Sunday, October 20, 2013

ผู้เลี้ยง

พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้กล่าวถึงองค์พระเยซูคริสต์ว่าเป็นผู้เลี้ยงแกะ (ยอห์นบทที่ 10) และพระองค์ทรงตรัสว่าพระองค์เป็นผู้เลี้ยงที่ดี

"เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี ผู้เลี้ยงที่ดีนั้นย่อมสละชีวิตของตนเพื่อฝูงแกะ ผู้ที่รับจ้างมิได้เป็นผู้เลี้ยงแกะ และฝูงแกะไม่เป็นของเขา เมื่อเห็นสุนัขป่ามาเขาจึงละทิ้งฝูงแกะหนีไป สุนัขป่าก็ชิงเอาแกะไปเสีย และทำให้ฝูงแกะกระจัดกระจายไป เขาหนีเพราะเขาเป็นลูกจ้างและไม่เป็นห่วงแกะเลย เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี เรารู้จักแกะของเราและแกะของเราก็รู้จักเรา" (ยอห์น 10:11-14)

ความแตกต่างระหว่างคนเลี้ยงแกะสองประเภทอยู่ตรงที่คนเลี้ยงแกะจริง ๆ เกิดมาเพื่อเลี้ยงแกะโดยเฉพาะ  ทันทีที่มีอายุพอสมควร พวกเขาจะถูกส่งออกไปอยู่กับฝูงแกะและคลุกคลีอยู่กับแกะ  จนแกะกลายเป็นเพื่อนและเป็นเหมือนหุ้นส่วนชีวิตที่พวกเขาคิดถึงก่อนจะคิดถึงตัวเองเสียอีก
ส่วนคนเลี้ยงแกะที่เป็นลูกจ้างนั้น  สาเหตุเดียวที่ทำให้พวกเขามาเลี้ยงแกะคือความต้องการ “งานและเงิน”  พวกเขาจึงขาดสำนึกและความรับผิดชอบต่อหน้าที่

พระเยซูทรงประสงค์และทรงเรียกให้เราเป็นผู้เลี้ยงที่แท้จริง ไม่ใช่มาเป็นลูกจ้างในการเลี้ยงแกะ ในตอนท้ายของพระธรรมยอห์น พระองค์ได้กำชับเหล่าสาวก โดยเฉพาะเปโตร ให้เลี้ยงดูแกะของพระองค์

"เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว พระเยซูตรัสกับซีโมนเปโตรว่า "ซีโมนบุตรยอห์นเอ๋ย เจ้ารักเรามากกว่าเหล่านี้หรือ" เขาทูลพระองค์ว่า "เป็นความจริงพระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพระองค์รักพระองค์" พระองค์ตรัสสั่งเขาว่า "จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด" พระองค์ตรัสกับเขาครั้งที่สองว่า "ซีโมนบุตรยอห์นเอ๋ย เจ้ารักเราหรือ" เขาทูลตอบพระองค์ว่า "เป็นความจริงพระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพระองค์รักพระองค์" พระองค์ตรัสกับเขาว่า "จงดูแลแกะของเราเถิด" พระองค์ตรัสกับเขาครั้งที่สามว่า "ซีโมนบุตรยอห์นเอ๋ย เจ้ารักเราหรือ" เปโตรก็เป็นทุกข์ใจที่พระองค์ตรัสถามเขาครั้งที่สามว่า "เจ้ารักเราหรือ" เขาจึงทูลพระองค์ว่า "พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบว่า ข้าพระองค์รักพระองค์" พระเยซูตรัสกับเขาว่า "จงเลี้ยงแกะของเราเถิด"" (ยอห์น 21:15-17)

1. แรงจูงใจในการเป็นผู้เลี้ยง

ความรักจะต้องเป็นแรงจูงใจสูงสุดในการรับใช้พระเจ้า
เราจะเห็นได้จากคำถามและคำตอบระหว่างพระเยซูและเปโตรในพระธรรมตอนนี้

คำถามของพระเยซู                     คำตอบของเปโตร             คำตอบสนองของพระเยซู
ข้อ 15 - เจ้ารักเรา... (agapas)      ข้าพระองค์รัก...(filo)         จงเลี้ยงลูกแกะของเรา (Feed)
ข้อ 16 - เจ้ารักเรา... (agapas)      ข้าพระองค์รัก...(filo)         จงดูแลแกะของเรา (Tend)
ข้อ 17 - เจ้ารักเรา... (filois)         ข้าพระองค์รัก...(filo)         จงเลี้ยงแกะของเรา (Feed)

     1.1 คำว่ารักที่ใช้ต่างกันในภาษากรีก
           agapas - รักแบบพระเจ้า
           filo      - รักที่เน้นอารมณ์ ความสนิทสนม
           เมื่อพระเยซูทรงถามครั้งที่ 3 พระองค์ใช้คำว่า 'รัก' ที่เปโตรใช้ ทำให้เปโตรรู้ว่าพระเยซูทรงกำลังตรวจสอบความจริงใจของเขา เป็นเหตุให้เปโตรทุกข์ใจนัก
     1.2 การใช้คำว่า 'รัก' ที่ต่างกัน ไม่ได้เปลี่ยนความหมายอะไร
           ในพระธรรมยอห์น คำว่า agapas กับ filo ใช้แทนกันได้และมีความหมายเหมือนกัน เช่น
           ในยอห์น 14:23; 17:23 ใช้คำว่า agapas และ ในยอห์น 16:27 ใช้คำว่า filo ซึ่งหมายถึงความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์เหมือนกัน
            agapas ในยอห์น 11:5 และ filo ในยอห์น 11:3 หมายถึงความรักของพระเยซูต่อมนุษย์
            agapas ในยอห์น 14:15,21,23,24,28 และ filo ในยอห์น 16:27 หมายถึงความรักของมนุษย์ต่อพระเยซูเหมือนกัน

สรุปคือเปโตรทุกข์ใจเพราะถูกถาม 3 ครั้งไม่ใช่เพราะภาษาที่ต่างกัน พระเยซูถาม 3 ครั้งเพราะเปโตรปฏิเสธพระองค์ 3 ครั้ง ดั้งนั้นที่พระองค์ถาม 3 ครั้งเพื่อให้เขาได้มั่นใจในคำตอบ ให้เขาเห็นแรงจูงใจที่จะรับใช้พระเจ้า นั่นคือรับใช้เพราะความรัก

2. หน้าที่รับผิดชอบของผู้เลี้ยง

ความรักที่เรามีต่อพระเจ้านั้นจะพิสูจน์ได้ด้วยการกระทำ คือการรับใช้ผู้อื่น ความรักจะต้องมาพร้อมหน้าที่รับผิดชอบ

     2.1 'เจ้ารักเรามากกว่าเหล่านี้หรือ'
           'เหล่านี้หรือ' อาจจะหมายถึง เรือ แห อวน เครื่องมือทำกิน หรือแม้แต่ทรัพย์สมบัติของโลก พระเยซูถามเปโตรว่าเขาพร้อมที่จะสละสิ่งเหล่านี้เพื่อรับใช้พระองค์หรือ ดังนั้นสิ่งที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงที่ดี คือ การยอมสละความสุขสบายของตน

     2.2 'จงเลี้ยงแกะของเรา'
           คำว่า 'เลี้ยง' ในข้อ 15 และ 17 หมายถึงการให้อาหาร หมายถึงอาหารฝ่ายวิญญาณ
           คำว่า 'ดูแล' ในข้อ 16 หมายถึงการพิทักษ์รักษา ปกป้อง และให้ความปลอดภัย
           ลักษณะของแกะ 2 ชนิดในพระธรรมตอนนี้
           คำว่า 'ลูกแกะ' หมายถึงแกะตัวเล็กๆ
           คำว่า 'แกะ' หมายถึงแกะที่โตแล้ว

3. ชีวิตของผู้เลี้ยง

ผู้เลี้ยงที่ดีต้องมีชีวิตที่พร้อมจะฟังและทำตามคำบัญชาของพระเยซูคริสต์ เพราะชีวิตของเรานั้นก็ล้วนอยู่ในแผนการณ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงประสงค์ให้เราเชื่อและวางใจในการทรงนำของพระองค์ ในพระธรรมยอห์นบทที่ 21 เป็นข้อสรุปเพื่อให้เราเข้าใจถึงหน้าที่รับผิดชอบของผู้เชื่อในการเลี้ยงดูแกะของพระเจ้าและพร้อมที่จะทุ่มเทชีวิตเพื่อพระองค์ ดังตัวอย่างชีวิตของสาวก 2 ท่านนี้
    
     3.1 เปโตร
           - รับความทุกข์ทรมานและถูกประหารในที่สุด (ยอห์น 21:18-19)
           - รับการท้าทาย 'จงตามเรามาเถิด' (ยอห์น 21:19)
           เพราะความรักที่มีต่อพระเยซู เปโตรถูกตรึงกางเขนที่กรุงโรม โดยที่เขาได้ขอให้ตรึงเขาแบบกลับหัวเพราะเห็นว่าตนไม่สมควรจะถูกตรึงแบบเดียวกับพระเยซู ความรักที่พระเยซูได้ย้ำถึง 3 ครั้งก็ได้รับการพิสูจน์แล้ว
    
     3.2 ยอห์น
           ในยอห์น 21:20-21 เปโตรได้ถามถึงยอห์นว่า 'คนนี้จะเป็นอย่างไร' เปโตรรู้ว่าตนเอง
จะต้องเผชิญกับความทุกข์ จึงอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับยอห์น แต่พระเยซูทรงตอบเขาว่า 'เป็นเรื่องอะไรของเจ้าเล่า' พระองค์ทรงสอนสาวกไม่ให้เปรียบเทียบกับคนอื่น แต่ให้แต่ละคนติดตามพระองค์อย่างสัตย์ซื่อตามที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ให้กับเราแต่ละคน ดังนั้นพระองค์จึงตรัสย้ำกับเปโตรว่า 'จงตามเรามาเถิด' เพื่อให้เขารู้ว่า หน้าที่ของเขาคือ ทำตามที่พระองค์ทรงบัญชาและกำหนดไว้สำหรับเขา

เราทั้งหลายที่เป็นผู้เชื่อทุกคนต่างได้รับมอบหมายพันธกิจแห่งการเลี้ยงดูลูกแกะของพระองค์ อย่าให้เราเปรียบเทียบกับผู้อื่นว่าเรามีสภาพแบบไหน แต่ให้เราพร้อมเสมอที่จะติดตามรอยพระบาทของพระองค์ หากผู้เลี้ยงแกะมองหน้าที่ของตนเป็น “อาชีพ” มากกว่าเป็น “การรับใช้” แกะย่อมตกอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง เพราะศัตรูจากภายนอกสามารถจู่โจมเข้าทำลายฝูงแกะได้โดยง่าย มีทางเดียวที่จะป้องกันอันตรายนี้ได้คือเราต้องเป็นผู้เลี้ยงแกะตามแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า !

ขอพระเจ้าอวยพระพร

วิจิตร วารินทร์ศิริกุล


1 comment: