Monday, December 14, 2015

ภาคผนวก

สัปดาห์ที่ 20    ภาคผนวก                                                          ชั้น พระธรรมวิวรณ์ คริสตจักรพลับพลา
หลักข้อเชื่อเรื่องการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์
                เมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในโลกครั้งแรกนั้น พระองค์ทรงมาในฐานะผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย พระองค์เสด็จมาเพื่อช่วยให้คนทั้งปวงที่ทรงไถ่ไว้นั้นได้รับความรอดจากความผิดบาป  แต่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระองค์ได้ทรงสัญญากับเหล่าสาวกไว้ว่า พระองค์จะเสด็จกลับมาอีก แต่ไม่ใช่ในสภาพเดิมที่เคยมา พระองค์จะเสด็จมาในฐานะกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่  ผู้ทรงเต็มด้วยพระสิริอันทรงสง่าราศี และจะเสด็จมาในอีกไม่ช้านี้
1. ความหมายของการเสด็จกลับมาครั้งที่สอง
                การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ หมายถึงการที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับเข้ามาในโลกอีกครั้งหนึ่ง ในสภาพที่เราสามารถมองเห็นพระองค์ด้วยตาของเราได้  (กิจการ 1.11)
2. ความสำคัญของการเสด็จกลับมา
                การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์นั้นมีความหมายสำหรับคริสเตียนมาก เพราะเป็นสิ่งที่คริสเตียนทุกคนรอคอย เมื่อพระองค์เสด็จมานั้น หมายถึงการเดินไปสู่จุดจบของทุกสิ่งและเป็นอวสานของโลกนี้
                พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงเรื่องการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์ไว้มากมายเกือบตลอดทั้งเล่ม ทั้งพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ โดยเฉพาะพระคัมภีร์ใหม่มีการกล่าวถึง 318 ครั้ง และโดยเฉพาะในพระธรรมมัทธิว บทที่ 24-25 มีการกล่าวถึงเรื่องนี้เกือบทั้งบท และในจดหมายฝากของเปาโล พระธรรม 1-2 เธสะโลนิกา และในวิวรณ์และอื่นๆอีก
                การเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์ มีความสำคัญต่อคริสเตียน คือ
1.        เป็นกุญแจไขพระคัมภีร์  การเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์จะทำให้คำสอนทุกอย่างในพระคัมภีร์กระจ่างขึ้น เพราะทุกเรื่องในพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่ม จะมุ่งเน้นไปที่การเสด็จกลับมาของพระองค์  เราจะเข้าใจภาพของการเป็นกษัตริย์ของพระองค์แจ่มชัดขึ้น  และพระสัญญาต่างๆที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับคนของพระองค์นั้นจะมีความหมายอย่างยิ่งเมื่อถึงเวลานั้น
2.        เป็นความหวังของคริสตจักร  การที่คริสเตียนมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ เรามีความหวังในการรอคอยการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ในฐานะเป็นเจ้าสาวของพระองค์  เพราะเมื่อพระองค์เสด็จกลับมา พระองค์จะนำบำเหน็จรางวัลมาให้แก่ทุกคนตามการกระทำของเขา
3.        เป็นแรงจูงใจให้ดำเนินชีวิตตามพระคัมภีร์ เมื่อเรามีความหวังใจว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จมาอีก เราก็มีกำลังใจที่จะรักษาชีวิตของเราให้บริสุทธิ์ ชอบธรรม ด้วยใจที่เพียรพยายาม  อดทนต่อความยากลำบาก เพราะเรารู้ว่าเราอยู่เพื่ออะไร
4.        เป็นแรงกระตุ้นให้เราปรนนิบัติรับใช้ เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในยุคสุดท้าย เราก็จะไม่นิ่งเฉย แต่จะกระตุ้นตนเองให้ทำในสิ่งที่พระเจ้าทรงพอพระทัย ด้วยการมอบถวายชีวิตให้กับพระเจ้าในการปรนนิบัติรับใช้พระองค์ และมีชีวิตในการประกาศเป็นพยานเพื่อนำผู้อื่นมาถึงความรอด
3. ลักษณะการเสด็จกลับมา
1.        เสด็จกลับมาด้วยพระองค์เอง ในลักษณะเดียวกันกับเมื่อพระองค์ถูกรับขึ้นไป และเป็นการเสด็จกลับมาบนโลกด้วยกายจริงๆที่สัมผัสได้ แต่เป็นกายใหม่หลังจากที่พระองค์ทรงเป็นขึ้นจากตายแล้ว (กิจการ 1.11)
2.        เสด็จกลับมาในสภาพที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาของเรา (มัทธิว 24.30)
3.        เสด็จกลับมาในทันทีทันใด คือ รวดเร็วมากแบบไม่ทันรู้ตัวหรือคาดคิดมาก่อน (มัทธิว 24.37-39, 44)
4.        เสด็จกลับมาด้วยสง่าราศีและด้วยชัยชนะพร้อมกับเหล่าทูตสวรรค์และวิสุทธิชนของพระองค์ และทรงเสด็จมาในฐานะจอมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ (1 เธสะโลนิกา 1.7,10 , วิวรณ์ 19.14-16)


4. จุดประสงค์ของการเสด็จกลับมา
                การเสด็จกลับมาของพระองค์นั้นจะมีลำดับเวลาเป็น 2 ช่วง คือ พระองค์จะเสด็จมาในท้องฟ้าก่อนและมาพร้อมด้วยผู้คนของพระองค์ หลังจากนั้นจะเสด็จมาอีกครั้งโดยทรงปรากฏบนแผ่นดินโลก ในการเสด็จมาทั้ง 2 ช่วง เวลานี้ ทรงมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันดังนี้
                4.1 จุดประสงค์ของการเสด็จมาบนท้องฟ้า
                                1. มารับคนของพระองค์ไปอยู่กับพระองค์ โดยมี 2 สิ่งที่ต้องเกิดขึ้น คือ
                                - คนที่ตายไปแล้วจะเป็นขึ้นมาใหม่ คือ พระเยซูจะทรงชุบคนที่ตายไปแล้วให้กลับคืนชีวิตอีกครั้ง
                                - คนที่ยังเป็นอยู่จะรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ เพราะพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า เนื้อและเลือดจะมีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้ ดังนั้นร่างกายของผู้เชื่อจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ก่อนที่จะถูกรับขึ้นไป ส่วนจะเปลี่ยนอย่างไรนั้นไม่มีข้อพระคัมภีร์ระบุชัดเจน แต่อาจจะเปรียบเทียบได้กับภาพของเอโนคและเอลียาห์ ที่ทั้งสองท่านถูกรับขึ้นไปทั้งที่มีชีวิตอยู่ (1 ธก 4.17, 1 คร 15.50, ปฐมกาล 5.24, ฮบ 11.5, 2 พงษ์กษัตริย์ 2.11)
                                2. มาเพื่อพิพากษาและประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้เชื่อ  การพิพากษาในที่นี้เป็นการพิพากษาในแง่ของการใช้ตะลันต์ความสามารถที่พระเจ้าให้อย่างสัตย์ซื่อหรือไม่  ซึ่งทุกคนจะต้องกล่าวรายงานในวันนั้น สำหรับบำเหน็จนั้นจะประทานให้แก่ผู้ที่มีความอดทน และยอมทนทุกข์เพื่อพระคริสต์ คนเหล่านั้นจะได้บำเหน็จรางวัลที่มีค่าถาวรและไม่มีวันเสื่อมสูญ  (ดูตัวอย่างคำอุปมาในพระคัมภีร์ประกอบด้วย)
                                                - มัทธิว 25.14-30    คำอุปมาเรื่องเงินตะลันต์
                                                - มัทธิว 20.1-16      คำอุปมาเรื่องคนทำงานในสวนองุ่น
                                                - ลูกา 19.11-27       คำอุปมาเรื่องเงินสิบมินา
                                3. มาเพื่อยกเอาสิ่งที่หน่วงเหนี่ยวนั้นออกไป  สิ่งที่หน่วงเหนี่ยวนั้นก็คือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้สามารถยับยั้งความชั่วร้ายในโลก พระองค์จะทรงหยุดยั้งการงานของพระองค์ และเมื่อนั้นคนนอกกฎหมายกับปฏิปักษ์ของพระคริสต์ (Antichrist) จะปรากฏตัว และความชั่วจะถูกปล่อยออกมาอย่างเต็มที่และวาระสุดท้ายก็จะมาถึง  ( 2 เธสะโลนิกา 2.6-7 )
                4.2 จุดประสงค์ของการเสด็จมาสู่โลก
                                1. เพื่อสำแดงพระสิริของพระองค์พร้อมด้วยคนของพระองค์ พระคัมภีร์บอกว่า นัยน์ตาทุกดวงและมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะเห็นพระองค์  (มัทธิว 24.30, เศคาริยาห์ 14.4)
                                2. เพื่อพิพากษาสัตว์ร้าย ผู้เผยพระวจนะเทียมเท็จ และลูกสมุนของมันที่กำลังทำสงครามต่อสู้กับพระบุตรของพระเจ้า พวกมันจะถูกกองทัพของพระเจ้าจับทิ้งลงในบึงไฟนรก หลังจากนั้นพระองค์จะสถาปนาอาณาจักรพันปี  ( 2 เธสะโลนิกา 2.8 , วิวรณ์ 19.19-20 )
                                3. เพื่อผูกมัดซาตาน  ซาตานจะถูกคุมขังไว้เป็นเวลาพันปี จนครบกำหนดพันปีแล้วจึงจะต้องปล่อยมันออกไปชั่วขณะหนึ่ง  มนุษย์บนแผ่นดินโลกในยุคพันปียังคงมีธรรมชาติบาปอยู่ เพียงแต่การยั่วยุให้ทำบาปจะน้อยลง มนุษย์จะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นแต่ยังต้องตาย ความบาปจะลดน้อยลง (วิวรณ์ 20.1-3, อิสยาห์ 65.20)
                                4. เพื่อช่วยกู้อิสราเอล  อิสราเอลจะได้รับการช่วยกู้ให้พ้นจากศัตรูของพวกเขาในแผ่นดินโลก  พวกเขาจะถูกรวบรวมเข้ามาสู่คริสตจักรของพระคริสต์ ด้วยการกลับใจใหม่และยอมรับพระองค์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา จะมีการสร้างพระวิหารหลังใหม่และรื้อฟื้นการนมัสการตามพิธีกรรมอีกครั้งหนึ่ง (โรม 11.15, เอเสเคียล 37.26-28)
                                5. เพื่อพิพากษาบรรดาประชาชาติ  พระเยซูคริสต์จะจัดการกับพวกที่ต่อสู้กับพระองค์และนำเข้าสู่การพิพากษา ณ พระที่นั่งอันรุ่งเรืองของพระองค์ ก่อนจะเข้าสู่ยุคพันปี พวกที่เชื่อจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์ พวกที่ไม่เชื่อจะเข้าสู่การพิพากษานิรันดร์  (มัทธิว 25.31-46  เรื่องการพิพากษาประชาชาติทั้งหลาย)
                                6. เพื่ออวยพรสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง  พระเจ้าจะคืนความสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาติ แผ่นดินโลกจะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ สรรพสิ่งทั้งปวงที่ทรงสร้างจะกลายเป็นสิ่งใหม่  ลักษณะภูมิประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปมาก สัตว์ที่เคยดุร้ายจะอยู่ด้วยกันกับสัตว์ที่เชื่องได้  (อิสยาห์ 35.1-2, 5)
                                7. เพื่อตั้งราชอาณาจักรของพระองค์เอง และครอบครองอาณาจักรร่วมกับผู้เชื่อ พระองค์จะทรงเป็นจอมกษัตริย์ปกครองแผ่นดินของพระองค์ กรุงเยรูซาเล็มจะถูกยกขึ้นกลายเป็นเมืองหลวงของแผ่นดินโลก บรรดาประชาชาติจะมานมัสการยังกรุงเยรูซาเล็ม (วิวรณ์ 20.1-4, อิสยาห์ 2.2-4)
5.  หมายสำคัญที่แสดงถึงเวลาการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์
                เรื่องเวลาของการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์นั้น ไม่มีผู้ใดสามารถทราบได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุเวลาที่แน่นอน จึงทำให้มีการคาดเดาไปต่างๆนาๆมาทุกยุคทุกสมัย  แม้แต่ในสมัยของคริสตจักรยุคแรกก็ยังมีความเชื่อและเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จมาในเวลานั้น  แต่พระคัมภีร์ก็ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ก่อนที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมานั้น จะมีหมายสำคัญหลายอย่างที่บ่งบอก เช่น
1.        ด้านการเมือง  จะเกิดสงครามและข่าวลือเรื่องสงคราม (มัทธิว 24.6)
2.        ด้านสังคม  มนุษย์จะเห็นแก่ตัว เย่อหยิ่ง ความรักเยือกเย็นลง ศีลธรรมเสื่อม (2 ทิโมธี 3.2-4)
3.        ด้านเศรษฐกิจ  สภาพเศรษฐกิจเสื่อมทราม เกิดการกันดารอาหารทั่วไป (ลูกา 21.11)
4.        ด้านศาสนา  จะมีคนอวดอ้างตัวว่าเป็นพระคริสต์  ลัทธิเทียมเท็จเกิดขึ้น (มัทธิว 24.5, 11)
5.        ด้านสติปัญญาความรู้  โลกจะพัฒนาความรู้ วิทยาการต่างๆก้าวหน้าไปมาก (ดาเนียล 12.4)
6.        ด้านธรณีวิทยา  จะเกิดแผ่นดินไหวในที่ต่างๆทั่วโลก  (มัทธิว 24.7)
7.        ด้านกายภาพ  จะเกิดโรคระบาดที่รุนแรงรักษาไม่หาย  (ลูกา 21.11)
8.        ด้านประเทศอิสราเอล  จะมารวมชาติอีกครั้งหนึ่ง    หลังจากที่แตกกระจัดกระจายไปตั้งแต่ปี ค.ศ.70  (มัทธิว 24.32-34)
9.        จะมีการประกาศข่าวประเสริฐไปทั่วโลก  ถ้าหมายสำคัญเกิดขึ้นเมื่อไร หมายความว่า วาระสุดท้ายของโลกมาถึงแล้ว  (มัทธิว 24.14)
สรุป
                เมื่อเราทุกคนทราบความจริงเรื่องการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์แล้ว  เราไม่ควรนิ่งเฉย  แต่ควรกระตือรือร้นและลุกขึ้นเตรียมชีวิตให้พร้อม เพื่อคู่ควรในการรอรับการเสด็จกลับมาของพระองค์










                                                                                                                                               





                                                                                                                                    ขอพระเจ้าอวยพระพร


ท้องฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่

สัปดาห์ที่ 19    ท้องฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่                       ชั้น พระธรรมวิวรณ์ คริสตจักรพลับพลา
วิวรณ์  บทที่ 21-22
1. ท้องฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ (21:1 - 22:5)
                ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเริ่มที่สวนเอเดน แม้ถูกทำลายด้วยความบาปของมนุษย์ แต่ด้วยความรักและพระเมตตาคุณของพระเจ้า เมื่อสิ้นสุดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในโลกนี้ พระองค์ประทานท้องฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ให้แก่มนุษย์  ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากพระคริสต์ทรงปกครองโลกเป็นเวลาพันปี   เราสามารถเปรียบเทียบการทรงสร้างในปฐมกาลกับท้องฟ้าใหม่แผ่นดินโลกใหม่ดังนี้
ปฐมกาล
วิวรณ์
พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้า และแผ่นดิน (1:1)
ท้องฟ้าและแผ่นดินโลกใหม่ (21:1)
พระเจ้าทรงสร้างดวงสว่างขนาดใหญ่ไว้สองดวง (1:16) ได้ทรงกำหนดความมืดนั้นว่า คืน (1:5)
นครนั้นไม่ต้องการแสงจากดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ (21:23) กลางคืนไม่มีอีกต่อไป (22:5)
ได้ทรงสร้าง ทะเล (1:10)
ทะเลไม่มีอีกต่อไป (21:1)
ทรงสาปแช่งความบาปของมนุษย์ (3:14-17)
ไม่มีสิ่งใดถูกสาปแช่งอีกต่อไป (22:3)
ความตายเกิดขึ้นกับมนุษย์ (3:24)
ความตายจะไม่มีอีกต่อไป (22:14)
ความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้นกับมนุษย์ (3:17)
การคร่ำครวญ การร้องไห้ และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป(21:4)
2.  กรุงเยรูซาเล็มใหม่ (21.2-26)
                ยอห์นได้เห็นวิสุทธนคร คือ นครเยรูซาเล็มใหม่ เลื่อนลอยลงมาจากสวรรค์และจากพระเจ้า    พระสัญญาของพระเยซูคริสต์ใน ยอห์น 14.2  เราจะไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับท่านทั้งหลาย  เป็นข้ออ้างอิงถึงนครนี้  และเมื่อผ่านพ้นยุคพันปี  - โลกถูกทำลาย แผ่นดินโลกใหม่ถูกสร้างขึ้น - กรุงเยรูซาเล็มใหม่เลื่อนลอยลงมา
                ขณะเดียวกันได้มีการบรรยายให้เรารู้ว่า ประชากรในแผ่นดินสวรรค์มีสภาพอย่างไร
·        เขาจะเป็นประชาชาติของพระเจ้า มีพระเจ้าทรงประทับอยู่ด้วยตลอดไป    ข้าพเจ้าได้ยินเสียงจากพระที่นั่งว่า ดูเถิดพลับพลาของพระเจ้าอยู่กับมนุษย์แล้ว  พระองค์จะทรงสถิตกับเขา   เขาจะเป็นชนชาติของพระองค์ และพระเจ้าเองจะประทับอยู่กับเขา (21:3) เหล่าธรรมิกชนจะชื่นชมยินดีในความสัมพันธ์สนิทที่เขามีกับพระเจ้า  ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ในโลกแห่งความบาปและความตาย และในโลกใหม่เขาจะมีชีวิตเต็มไปด้วยสันติสุข ไม่มีความทุกข์โศก ความเจ็บปวดและความตายอีกต่อไป พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกๆ หยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีอีกต่อไป การคร่ำครวญ การร้องไห้และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป เพราะยุคเดิมนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว (21:4)
·        การเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตื่นตาสู่ยุคใหม่ถูกบันทึกไว้ด้วยถ้อยคำที่ว่า เราสร้างสิ่งสารพัดขึ้นใหม่  ซึ่งผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาให้ก็คือ พระเยซูคริสต์
·        เขาจะมีชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ขัดสน ไม่กระหายอีกต่อไป เพราะเขาได้บ่อน้ำพุแห่งชีวิต    พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า สำเร็จแล้วเราเป็นอัลฟาและโอเมกา เป็นปฐมและอวสาน ผู้ใดกระหาย เราจะให้ผู้นั้นดื่มจากบ่อน้ำพุแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย (21:6)  สิ่งนี้ไม่ได้อ้างอิงถึงความกระหายทางฝ่ายร่างกาย แต่เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้รับพระพรฝ่ายวิญญาณ
·        เขาเป็นผู้ที่มีชัยชนะ ได้รับมงกุฎแห่งชัยชนะ เขาจะได้สิ่งดีทั้งปวงที่ทรงสัญญาเป็นมรดก ผู้ใดมีชัยชนะ ผู้นั้นได้รับสิ่งเหล่านี้เป็นมรดก (21:7a)
·        เขาเป็นบุตรของพระเจ้าที่มีลักษณะตามแบบอย่างของพระเจ้า และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นบุตรของเรา (21:7b) สิ่งนี้แสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างธรรมิกชนและพระเจ้าในสภาวะนิรันดร
                -  ยอห์นได้บรรยายลักษณะพิเศษของนครเยรูซาเล็มใหม่ว่า นครนี้คือ เจ้าสาว ซึ่งได้แก่ บุคคลที่ประกอบด้วยพระสิริของพระเจ้า  แต่สิ่งใดที่เป็นมลทิน หรือผู้ทีประพฤติสะอิดสะเอียน หรือแม้พูดมุสาก็เข้าไปในนครนี้ไม่ได้      เพราะคนขลาด คนไม่เชื่อ คนที่น่าเกลียดน่าชัง คนที่ฆ่ามนุษย์ คนล่วงประเวณี คนใช้เวทมนต์ คนไหว้รูปเคารพ และคนทั้งปวงที่พูดมุสานั้น มรดกของเขาอยู่ที่บึงไฟและกำมะถันที่กำลังไหม้อยู่นั้น นั่นคือความตายครั้งที่สอง (21:8)
                -  นครนั้นเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีส่วนกว้าง ยาวและสูงเท่ากันคือ สองพันกว่ากิโลเมตร ได้มีการใช้ตัวเลขจำนวน 12  กับนครเยรูซาเล็มใหม่ ซึ่งน่าจะหมายถึงความสมบูรณ์ของนครนี้
o   ประตู 12  ประตู (21:12)
o   มีทูตสวรรค์ 12  องค์ (21:12)
o   จารึกชื่อเผ่าของอิสราเอล 12  เผ่า (21:12)
o   ฐานศิลาจารึกชื่ออัครทูต 12 คน (21:14)
o   กำแพงนครวัดได้ 144 ศอก คือ 12 x 12  ศอก (21:7)
o   ประตู 12 ประตู ทำด้วยไข่มุก 12 เม็ด (21:21)
o   ต้นไม้แห่งชีวิตออกผล 12  ชนิด (22:2)
               - ยอห์นได้บรรยายถึง  การใช้อัญมณีต่างๆ รวมทั้งทองคำบริสุทธิ์และไข่มุก เป็นวัสดุก่อสร้างหรือเป็นเครื่อง ประดับของนครนี้ กำแพงก่อด้วยแก้วมณีโชติ  นครสร้างด้วยทองคำบริสุทธิ์ ฐานประดับด้วยเพชรนิลจินดา ประตูทำด้วยไข่มุก  (21:11,18-21)
                - การจารึกชื่อของอิสราเอล 12  เผ่า ไว้ที่ประตูนคร  กับชื่ออัครทูต 12 คนไว้ที่ฐานศิลาของนครตามลำดับ (20.12-14)  แสดงให้เห็นว่าที่นครเยรูซาเล็มใหม่หรือสวรรค์นี้ มีธรรมมิกชนทั้งหลายที่เชื่อวางใจในพระเมษโปดก และชนชาติอิสราเอลที่ได้รับการประทับตราไว้ (7:4-8)
                - ข้าพเจ้าไม่เห็นมีพระวิหารในนครนั้นเลยเพราะพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด และพระเมษโปดกทรงเป็นพระวิหารในนครนั้น (21:22)  นครนั้นไม่ต้องการแสงของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เพราะว่าพระสิริของพระเจ้าเป็นแสงสว่างของนครนั้น และพระเมษโปดกทรงเป็นดวงประทีปของนครนั้น (21:23)
                - ยอห์นได้พูดถึงหนังสือแห่งชีวิต แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต และต้นไม้แห่งชีวิต
3. หนังสือแห่งชีวิตของพระเมษโปดก (21.27)
                การที่กำหนด เฉพาะคนที่มีชื่อจดไว้ในหนังสือแห่งชีวิต ของพระเมษโปดกเท่านั้นจึงจะเข้าไปได้ (21:27) ชี้ให้เห็นว่า โดยพระคุณผ่านทางความเชื่อเท่านั้น ที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ (เอเฟซัส 2:8)
                หนังสือแห่งชีวิตถูกกล่าวถึงตั้งแต่ในสมัยโมเสส  เชื่อว่าประชากรที่เชื่อวางใจในพระเจ้าจะมีชื่ออยู่ในทะเบียนของพระองค์ (อพยพ 32:23-33)  ผู้เขียนสดุดีบทที่ 69 ได้ย้ำให้เห็นในข้อ 28 ว่าทะเบียนของพระเจ้านั้นคือ ทะเบียนแห่งชีวิต เป็นทะเบียนของผู้ชอบธรรม   ดาเนียลได้อ้างถึงหนังสือแห่งชีวิตว่า ทุกคนที่มีรายชื่อบันทึกไว้ในหนังสือจะได้รับการช่วยกู้ (ดาเนียล 12:1)  เปาโลก็แสดงความเชื่อในเรื่องของหนังสือแห่งชีวิต โดยบอกว่าบรรดาผู้เชื่อทั้งหลายมีรายชื่ออยู่ในหนังสือแห่งชีวิต (ฟิลิปปี 4:3)   และในพระธรรมวิวรณ์ได้พูดถึงหนังสือแห่งชีวิตอย่างน้อย 6 ครั้ง ดังนี้    วว 3.5,    วว 13.8,   วว 17.8,   วว 20.12,   วว 20.15,   วว 21.27
4.        แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต (22.1-2)              
        ท่านได้ชี้ให้ข้าพเจ้าดูแม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต ใสเหมือนแก้วไหลมาจากพระที่นั่งของพระเจ้าและที่นั่งของพระ
        เมษโปดก (22:1)  แสดงถึงความหมายของชีวิตที่สมบูรณ์ ไม่หิวกระหายอีก บนสวรรค์คือท้องฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ที่นั่นมีแต่ชีวิตนิรันดร์ ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ ชีวิตที่ไม่ขาดสิ่งใด ไม่กระหายอะไรอีกต่อไป ความหมายของน้ำแห่งชีวิตนี้สามารถดูได้จากพระธรรมตอนอื่นๆ ด้วย            แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้แก่เขานั้นจะไม่กระหายอีกเลย น้ำซึ่งเราจะให้เขานั้นจะบังเกิดเป็นบ่อน้ำพุในตัวเขาพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์   (ยอห์น 4:14)
                เพราะว่าพระเมษโปดกผู้ทรงอยู่ท่ามกลางพระที่นั่งนั้น จะคุ้มครองดูแลเขาและจะทรงนำเขาไปให้ถึงน้ำพุแห่งชีวิต และพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเขาเหล่านั้น (7:17)
                พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า สำเร็จแล้ว เราเป็นอัลฟาและโอเมกา เป็นปฐมและอวสาน ผู้ใดกระหาย เราจะให้ผู้นั้นดื่มน้ำจากบ่อพุแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย (21:6)
                พระวิญญาณและเจ้าสาวตรัสว่า เชิญมาเถิด และให้ผู้ที่ได้ยินคำกล่าวว่า เชิญมาเถิด และให้ผู้ที่กระหายเข้ามา ผู้ใดมีใจปรารถนา ก็ให้ผู้นั้นมารับน้ำแห่งชีวิต โดยไม่ต้องเสียอะไรเลย (22:17)
5.  ต้นไม้แห่งชีวิต (22.2)
                ริมแม่น้ำทั้งสองฟากมีต้นไม้แห่งชีวิต   ซึ่งออกผลสิบสองชนิด   ออกผลทุกๆเดือนและใบของต้นไม้นั้นสำหรับรักษาบรรดาประชาชาติให้หาย
                ออกผล 12 ชนิด และออกทุกเดือน นี่เป็นภาพของความอุดมสมบูรณ์ มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี ที่สวนเอเดนพระเจ้าได้ทรงประทานต้นไม้แห่งชีวิตให้มนุษย์แล้ว แต่มนุษย์เลือกกินต้นไม้ที่ต้องห้าม ผลคือถูกห้ามกินผลจากต้นไม้แห่งชีวิต และขับจากสวนเอเดน ต้นไม้แห่งชีวิตนี้ได้ถูกกล่าวถึงอีก เป็นพระสัญญาต่อคริสตจักรที่มีชัยชนะว่า จะได้กินผลจากต้นไม้แห่งชีวิตที่อยู่ในอุทยานสวรรค์ของพระเจ้า (2:7) และพระธรรมวิวรณ์บทที่ 21 - 22 พระเจ้าก็ได้ทรงสำแดงนิมิตของท้องฟ้าใหม่แผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งเป็นอุทยานสวรรค์ และมีต้นไม้แห่งชีวิตตามที่ได้ทรงสัญญาไว้แล้ว (22: 14, 22:19)
                แต่เหมือนกับยอห์นจะเตือนผู้อ่านว่า แท้ที่จริงการรักษาโรคเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และท่านได้ย้ำว่าจะไม่มีสิ่งใดถูกสาปแช่งอีกต่อไป (22.3)  เพราะคำสาปแช่งต่างๆไม่มีในสภาวะนิรันดร์
6.  พระที่นั่งของพระเจ้า (22.3-5)
                พระที่นั่งของพระเจ้าและของพระเมษโปดกจะตั้งอยู่ที่นั่น และบรรดาผู้รับใช้ของพระเจ้าจะนมัสการพระองค์ เขาเหล่านั้นจะเห็นพระพักตร์พระองค์   และพระนามของพระองค์จะประทับอยู่ที่หน้าผากเขา  ผู้เชื่อทุกคนจะได้รับใช้อยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้า หน้าต่อหน้า สิ่งที่เรายังไม่เข้าใจหรือสิ่งที่เราอยากรู้ ทุกอย่างจะได้รับการเปิดเผย
                นครใหม่นั้นไม่มีกลางคืน ไม่ต้องการดวงอาทิตย์  เพราะพระเจ้าทรงเป็นสง่าราศีและแสงสว่างของนครนั้น และผู้เชื่อจะได้ร่วมครอบครองกับพระองค์สืบไปเป็นนิตย์
 7. คำบอกกล่าวของทูตสวรรค์ต่อยอห์น (22:6-11)
                ทูตสวรรค์ได้ยืนยันถึงความจริงเป็นคำหนุนใจและท้าทายให้เราใช้ชีวิตที่เตรียมพร้อมเพื่อรับการเสด็จมาของพระคริสต์ ถ้าเปรียบเทียบกับบทนำที่อยู่ในบทที่ 1 แล้วจะเห็นว่ามีเนื้อหา และจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน ซึ่งเป็นการทวนซ้ำหรือย้ำเตือนให้รู้ว่า นี่เป็นการทรงสำแดงของพระเจ้าอย่างแท้จริงเป็นคำที่สัตย์ซื่อและสัตย์จริง พระองค์จะเสด็จมาแน่ นอนให้เราเตรียมชีวิตให้พร้อม
·        ต้องถือรักษาคำพยากรณ์ของหนังสือ (22:7, 18-19)
·        ต้องนมัสการพระเจ้าเท่านั้น (22:8-9)
·        ต้องประกาศพระกิตติคุณเพราะว่าเวลาใกล้จะมาถึงแล้ว (22:10-11)
·        ต้องดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์ (22:11,14)
                ดาเนียลได้รับคำกำชับว่า คำพยากรณ์ของเขาจะถูกประทับตราไว้จนถึงวาระสุดท้าย (ดนล 12.9)   แต่ยอห์นได้รับคำบัญชาว่า อย่าประทับตราคำพยากรณ์ในหนังสือนี้  แสดงให้เห็นว่า การวิวรณ์ไม่ว่าจะโดยประโยคเรียบง่ายหรือโดยสัญลักษณ์ ถูกออกแบบไว้ให้เปิดเผยความจริงและเหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์ที่ทุกคนต้องรู้
8. คำตรัสสุดท้ายขององค์พระผู้เป็นเจ้า (22:12-21)
- ดูเถิดเราจะมาในเร็วๆ นี้ และจะนำบำเหน็จของเรามาด้วย เพื่อตอบแทนการกระทำของทุกคน (22:12)
พระองค์ผู้ทรงเป็นพยานในเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ ตรัสว่า เราจะมาในเร็วๆ นี้แน่นอน (22:20)
                โดยเฉพาะในคำสุดท้ายที่ทรงเน้นว่า แน่นอน เป็นการชี้ให้เห็นว่า วัตถุประสงค์ที่ทรงสำแดงในพระธรรมวิวรณ์ถึงการเสด็จมาของพระองค์นั้นจะต้องสำเร็จ 
                พระเยซูคริสต์ได้แสดงให้เห็นสิทธิอำนาจความเป็นเอก ในฐานะทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างชัดเจน
- เราคือ อัลฟาและโอเมกา   เป็นเบื้องต้นและเบื้องปลาย    เป็นปฐมและเป็นอวสาน (22:13)
- เราคือ เยซูผู้ใช้ให้ทูตสวรรค์ของเราไปเป็นพยานสำแดงเหตุการณ์เหล่านี้แก่ท่าน เพื่อคริสตจักรทั้งหลาย เราเป็นเชื้อสายของดาวิดและเป็นดาวประจำรุ่งอันสุกใส (22:16)
- นอกจากคำตรัสของพระเยซูคริสต์ยังมีคำตรัสของพระวิญญาณบริสุทธิ์กับเจ้าสาว (คริสตจักร) ที่เชิญชวนให้ผู้ที่ได้ยินทั้งหลาย   ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้ที่ยังไม่ได้เป็นคริสเตียน เพราะคริสเตียนนั้นได้เป็นเจ้าสาวของพระคริสต์แล้ว นี่เป็นคำเชิญชวนสุดท้ายที่บันทึกในพระคัมภีร์ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ต้อนรับพระเยซูคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด
- เชิญมาเถิด และให้ผู้ที่กระหายเข้ามา  ผู้ใดที่มีใจปรารถนาก็ให้ผู้นั้นมารับน้ำแห่งชีวิต โดยไม่ต้องเสียอะไรเลย
- ที่น่าสังเกตสำหรับพระธรรมวิวรณ์ตอนนี้คือ คำว่า คริสตจักร ซึ่งไม่ได้ถูกกล่าวอีกเลยตั้งแต่ พระธรรมวิวรณ์บทที่ 4 เป็นต้นมาจนถึงบทที่ 22 ข้อ 16 นี้จึงได้ถูกเอ่ยถึงอีกครั้งหนึ่ง นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่นักวิชาการในส่วนของทัศนะก่อนพันปี (Premillenialist) ยืนยันว่าคริสตจักรถูกรับขึ้นไปก่อนภัยพิบัติยิ่งใหญ่ในโลกนี้ (Great Tribulation)
- คำเตือนสุดท้ายในพระธรรมวิวรณ์และของพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งเล่มคือ ห้ามเพิ่มเติมและตัดข้อความจาก คำพยากรณ์ในหนังสือนี้ซึ่งหมายความว่า พระวจนะของพระเจ้ามีความสมบูรณ์อยู่แล้วไม่จำเป็นที่จะเสริมแต่งหรือตัดต่อใดๆ ทั้งสิ้น เพราะนี่เป็นคำพยากรณ์ที่มาจากการทรงสำแดงของพระเจ้า  เพื่อแจ้งให้ผู้รับใช้ทั้งหลายของพระองค์รู้ว่า อะไรจะต้องอุบัติขึ้นในไม่ช้า และพระองค์ได้ทรงใช้ทูตสวรรค์สำแดงแก่ยอห์นผู้รับใช้ของพระเจ้า (1:1)
-  คำตอบสนองของยอห์น หลังจากได้ยินคำตรัสของของพระเยซูคริสต์ว่า พระองค์จะเสด็จมาในเร็วๆ นี้แน่ นอน  ยอห์นตอบว่า อาเมน พระเยซูคริสต์เชิญเสด็จมาเถิด (22:20) ท่านยอห์เปรียบเสมือนตัวแทนของคริสตจักรที่เต็มไปด้วยความหวัง และเฝ้ารอคอยการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ เหมือนดังเจ้าสาวคอยเจ้าบ่าวมารับเพื่อสู่พิธีมงคลสมรส เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินได้รู้ว่าพระองค์จะเสด็จมาเร็วๆ นี้แน่นอน คำตอบของคริสตจักรคือ อาเมน และร้องเชิญว่า พระเยซูเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด
เมื่อการวิวรณ์อันยิ่งใหญ่เสร็จสิ้นลง มีการประกาศถึงคำอวยพรครั้งสุดท้ายว่า 
ขอให้พระคุณแห่งพระเยซูเจ้า จงดำรงอยู่กับธรรมิกชนทั้งหลายเถิด อาเมน
ไม่มีหนังสือเล่มใดในพระคัมภีร์ที่ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดการพิพากษาลงโทษ และกล่าวถึงพระพรนิรันดร์ที่ธรรมิกชนจะได้รับเท่ากับพระธรรมวิวรณ์  อย่าให้เราเป็นหนึ่งในคนที่มองข้ามความมหัศจรรย์ของหนังสือวิวรณ์นี้
·        คุณพร้อมหรือยัง ถ้าพระเยซูจะเสด็จมาในวันนี้
·        คุณได้รับใช้พระเจ้าด้วยสุดชีวิตของคุณหรือยัง
·        คุณมีชื่อจดไว้ในหนังสือแห่งชีวิตหรือยัง  และกล้าพูดไหมว่า เชิญมาเถิด เชิญเสด็จมาวันนี้
                                                                                        ขอพระเจ้าทรงอวยพระพรผู้เรียนทุกท่าน
                                                                                                        มน.วิจิตร วารินทร์ศิริกุล  

                                                                                                               8  มิถุนายน 2008

การพิพากษาหน้าพระที่นั่งสีขาว

สัปดาห์ที่ 18    การพิพากษาหน้าพระที่นั่งใหญ่สีขาว               ชั้น พระธรรมวิวรณ์ คริสตจักรพลับพลา
 วิวรณ์ บทที่ 20.7-20.15
สงครามโลกครั้งสุดท้าย (วิวรณ์ 20:7-10)
  • เมื่อซาตานถูกปล่อยจากที่คุมขังชั่วขณะหนึ่ง มันออกไปล่อลวงคนมากมายทั่วโลก คือ โกกและมาโกก ให้มาทำสงครามกับพระคริสต์ การปล่อยซาตานจะก่อให้เกิดการกบฏไปทั่วโลกต่อการครองราชย์ของพระคริสต์ในยุคพันปี กองทัพจะมีจำนวนมหาศาลดุจเม็ดทรายในทะเล
        โกกและมาโกก  ในเอเสเคียล โกกเป็นกษัตริย์ผู้ปกครอง และ มาโกกเป็นประชาชน ทั้งโกกและมาโกก กบฏต่อ         พระเจ้าและเป็นศัตรูของอิสราเอล จึงน่าจะเป็นเพียงความหมายสัญลักษณ์ของกองทัพคนชั่วร้ายทั้งหมด
  • คนเหล่านี้ที่ติดตามซาตานคือใคร ??  à ผู้ที่รอดจากภัยพิบัติครั้งใหญ่ และจะอยู่ในยุคพันปีโดยมีร่างกายตามธรรมชาติ พวกเขาจะมีลูกหลานและเพิ่มประชากรบนโลก (อิสยาห์ 65.18-25)  คนจำนวนมากจะเชื่อพระเยซูคริสต์เพียงเปลือกนอก แต่ไม่ได้วางความเชื่อของเขาไว้ที่การช่วยให้รอดของพระองค์อย่างแท้จริง ความตื้นเขินของความเชื่อของคนเหล่านี้ จะปรากฏชัดเมื่อซาตานถูกปล่อยตัวจากบาดาล  มวลชนที่ติดตามซาตานก็คือ คนเหล่านั้นที่ไม่ได้บังเกิดใหม่อย่างแท้จริงในอาณาจักรพันปี
  • สงครามโลกครั้งสุดท้ายเกิดขึ้น กองทัพจะล้อมรอบกองทัพธรรมิกชนและนครเยรูซาเล็มไว้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลพระคริสต์ในอาณาจักรพันปี (อิสยาห์  2.1-5)    ไฟได้ตกลงจากสวรรค์เผาผลาญผู้ที่ได้ติดตามพญามาร  โดยพระคัมภีร์ไม่มีรายละเอียดในการต่อสู้เลย แต่ไฟแห่งพระเจ้าได้ทำลายศัตรูทั้งหมดอย่างสิ้นเชิงทันที
  • ส่วนพญามารก็ถูกโยนลงไปในบึงไฟนรกชั่วนิจนิรันดร์  
การพิพากษาหน้าพระที่นั่งใหญ่สีขาว (20:11-15)
                ชีวิตหลังความตายและการเป็นขึ้นจากความตาย
                สำหรับพระคริสตธรรมคัมภีร์ ชีวิตหลังความตายมีแน่นอน
·         พระคัมภีร์เดิม  บอกไว้ว่า เมื่อตายไปแล้วมนุษย์ทุกคนจะไปอยู่ที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า ซีโอล(Sheol)
        - โคราห์ ดาธาน อาบีรัม  ลงไปสู่ที่นั่นทั้งเป็น (กดว 16.33)
        -  ยาโคบรอคอยที่จะไปเยี่ยมโยเซฟลูกของตนในซีโอล (ปฐม 37.35, 42.38, 44.2)
        -  การไปอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษของคนในพระคัมภีร์เดิม (ปฐม 25.8, 35.29, 49.33, กดว 20.24)
·         พระคัมภีร์ใหม่  ก็กล่าวไว้เช่นกัน ทั้งคนชั่วและผู้ชอบธรรมต่างก็ลงไปยังเฮเดส (Hades)  ก่อนที่พระเยซูจะเป็นขึ้นจากความตาย 
        -  เศรษฐีและลาซารัส (ลูกา 16.19-31)
        -  พระเยซูเองเสด็จลงไปยังเฮเดส (กิจการ 2.27, 31)
        -  บัดนี้พระคริสต์ทรงถือลูกกุญแจแห่งความตายและเฮเดสไว้ (วิวรณ์ 20.13-14)
        ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ซีโอลในพระคัมภีณ์เดิมและเฮเดสในพระคัมภีร์ใหม่ คือสถานที่เดียว กัน  คำสอนของพระเยซูใน มัทธิว 22.31-32  เราจะเห็นว่า เศรษฐีและลาซารัสสามารถ สนทนา คิด จดจำ รู้สึกและเป็นห่วงได้  ไม่ได้หลับหรือดับไป แต่ยังมีความรู้สึกได้  คำพูดของพระเยซูกับโจรที่ไม้กางเขนว่า วันนี้เจ้าจะอยู่กับเราที่เมืองบรมสุขเกษม  ลก 23.43   ก็มีนัยทำนองเดียวกันว่า เฮเดสมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ  ที่หนึ่งสำหรับคนบาป และอีกที่หนึ่งสำหรับคนชอบธรรม  สถานที่ที่คนชอบธรรมอยู่เรียกว่า เมืองบรมสุขเกษม  ส่วนสถานที่ที่คนชั่วร้ายอยู่ไม่ได้ระบุชื่อ เพียงแต่บรรยายว่าเป็นที่ที่ทุกข์ทรมาน ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อพระคัมภีร์ใช้คำว่า ล่วงหลับไป  หมายถึงฝ่ายร่างกายเท่านั้น   เพราะยังมีชีวิตหลังความตาย
        แต่ดูเหมือนว่า หลังจากที่พระเยซูคริสต์เป็นขึ้นจากความตายแล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น พระคัมภีร์ระบุว่า ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา  เมื่อผู้เชื่อตายเขาจะไปอยู่กับพระคริสต์  ดังนั้นเปาโลจึงกล่าวถึงตนเองในขณะมีชีวิตว่า อยู่ห่างไกลองค์พระผู้เป็นเจ้า  และใน 2 โครินธ์ 5.6-9 ใช้คำว่า อยู่กับพระคริสต์หลังจากเสียชีวิต
        และการเป็นขึ้นจากความตายนั้น ร่างกายที่เป็นขึ้นมาใหม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ใน 1 โครินธ์ 15.43-44, 53-54  บอกว่า  ‘กายใหม่ที่จะถูกชุบให้เป็นขึ้นมานั้นเป็นกายเดียวกันนี้ที่หว่านลง  แสดงว่ากายที่จะเป็นขึ้นมานั้นมีความสัมพันธ์กับกายในปัจจุบันนี้  ทำนองเดียวกันกับ ร่างกายคนเราเมื่อยังเด็ก แล้ว เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถึงแม้ร่างกายได้เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในขบวนการเติบโต แต่ก็ยังเป็นกายเดิม ถึงแม้ส่วนประกอบบางส่วนเปลี่ยนไป
                                ในข้อที่ 20.13  เมื่อคนบาปชั่วที่ตายไปต้องถูกพิพากษา ทะเล ความตาย และแดนมาณาจะส่งคืนคนตายให้  หมายความว่า ร่างกายของผู้ที่ไม่ได้รับความรอดจะรวมเข้ากับวิญญาณของพวกเขาซึ่งอยู่ในแดนมรณา  การกล่าวว่า ทะเลส่งคืนคนตายให้นั้น ทำให้เห็นชัดว่า ไม่ว่าร่างกายนั้นจะถูกย่อยสลายไปมากเพียงใด มันก็จะฟื้นขึ้นเพื่อรับคำพิพากษา
                การพิพากษา
                การพิพากษานี้จะเกิดขึ้นหลังยุคพันปี  เมื่อยุคพันปีสิ้นสุดลงแล้วจะมีการเป็นขึ้นมาจากตายครั้งที่สอง (20.5)
                ผู้พิพากษา  คือ  พระเยซูคริสต์  ยอห์น 5.22,  2 ทิโมธี 4.1
                ผู้ถูกพิพากษา  คนเหล่านี้เป็นผู้คนจากทุกยุคทุกสมัยที่ไม่ได้รับความรอด พวกเขาจะเป็นขึ้นมาและปรากฏต่อหน้าพระที่นั่งใหญ่สีขาว ในกลุ่มนี้จะมีทั้งเศรษฐีและยาจก  ไทและทาส   ปราชญ์และคนเขลา  นายและบ่าว
หลักการพิพากษา
1.        คนเหล่านี้จะถูกพิพากษาตามข้อความที่จารึกไว้ในหนังสือเหล่านั้น  (20.12, 15)
2.        คนเหล่านั้นจะถูกพิพากษาตามการกระทำของตน (20.12)
ขณะที่มีการพิพากษา หนังสือเล่มต่างๆจะเปิดออก (20.12) หนังสือเหล่านี้เป็นตัวแทนการพิพากษาของพระเจ้าและในหนังสือเหล่านั้นจะบันทึกการกระทำของทุกคนทั้งดีและชั่ว  เราไม่ได้รอดเพราะการกระทำ  แต่การกระทำเป็นหลักฐานอันเด่นชัดของผู้เชื่อที่มีความสัมพันธ์อันแท้จริงกับพระเจ้า  หนังสือแห่งชีวิตจะบรรจุชื่อของผู้ที่ไว้วางใจให้พระคริสต์ช่วยเขาให้รอด
                นี่เป็นจุดท้ายก่อนสิ้นสุดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและเริ่มเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์  ยอห์นได้เขียนว่า ข้าพเจ้าได้เห็นพระที่นั่งใหญ่สีขาว พระที่นั่งใหญ่สีขาวนี้แตกต่างจากพระที่นั่งอื่นๆที่ได้กล่าวมา เพราะไม่ได้ตั้งอยู่ในสวรรค์หรือแผ่นดินโลก แต่ตั้งอยู่กลางอากาศ ดังที่กล่าวไว้ว่า แผ่นดินโลกและท้องฟ้าก็หายไป และไม่มีที่อยู่สำหรับแผ่นดินโลกและท้องฟ้าเลย และพระคริสต์ประทับบนพระที่นั่งใหญ่สีขาวเพื่อพิพากษามนุษย์ทั่วโลกที่ไม่ได้เชื่อวางใจในพระองค์ เพราะว่าพระบิดามิได้ทรงพิพากษาผู้ใด แต่พระองค์ได้ทรงมอบการพิพากษาทั้งสิ้นไว้กับพระบุตร (ยอห์น 5:22)            พระที่นั่งใหญ่สีขาวน่าจะตั้งอยู่ระหว่างแผ่นดินโลกกับท้องฟ้าใหม่ ที่นั่นผู้ที่ตายแล้วทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยจะฟื้นขึ้นมายืนอยู่หน้าพระที่นั่ง  มีหนังสือต่างๆ ที่บันทึกการกระทำของมนุษย์ทั้งปวงเปิดออกขณะเดียวกันมีหนังสือแห่งชีวิตอยู่ด้วย เพื่อยืนยันให้รู้ว่าผู้ที่ไม่มีชื่ออยู่ในหนังสือแห่งชีวิตทุกคนต้องรับการพิพากษาตามการกระทำของเขา (20:15)    ดูเหมือนการพิพากษานี้จะมีไว้เฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับความรอดเท่านั้น  ภาพที่ให้ความกระจ่างกับเรามากขึ้น ได้แก่ การอธิบายให้รู้ว่าการตายครั้งที่สองของผู้ที่ถูกพิพากษานั้น คือการที่พวกเขาถูกผลักทิ้งลงไปในบึงไฟชั่วนิรันดร์  และควันแห่งการทรมานของเขาพลุ่งขึ้นตลอดเป็นนิตย์ และคนทั้งหลายที่บูชาสัตว์ร้ายและรูปของมัน และที่รับเครื่องหมายชื่อของมันจะไม่มีการพักผ่อนเลยทั้งกลางวันกลางคืน (14:11) แล้วความตายและแดนมรณาก็ถูกผลักทิ้งลงไปในบึงไฟ บึงไฟนี่แหละเป็นความตายครั้งที่สอง 20:14
                บึงไฟหรือนรกนี้ เป็นพยานถึงความชอบธรรมและเที่ยงธรรมของพระเจ้า ที่ไม่ยอมให้ความอธรรมคงอยู่ในแผ่นดินสวรรค์ของพระองค์ ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่มนุษย์จะต้องมีในโลกนี้ การกระทำของเขาได้ฟ้องร้องเขา   การไม่ยอมรับพระคุณของพระเจ้าที่กางเขน พึ่งพาการกระทำของตนก็ต้องรับผลตามที่ตนได้ก่อขึ้น  นอก จากนี้บึงไฟนรกก็ได้บอกให้เรารู้ว่าผลของความบาปเป็นอย่างไร
                น่าสังเกตอย่างยิ่ง คือ ข้อสรุปในตอนนี้ที่ว่า ถ้าผู้ใดที่ไม่มีชื่อจดไว้ในหนังสือ ผู้นั้นก็ถูกทิ้งลงไปในบึงไฟ (20:15)       ซึ่งยืนยันให้รู้ว่า พระคุณที่บนกางเขนของพระคริสต์เท่านั้น ที่ให้มนุษย์รอดพ้นจากความพิพากษาและบึงไฟนรกได้ ไม่ใช่การกระทำที่มีจำกัดของมนุษย์
                ระยะเวลาการลงโทษ
                ทุกคนที่ไม่มีชื่อในหนังสือแห่งชีวิตจะถูกทิ้งลงในบึงไฟนรก (วว 20.15) ซึ่งเรียกว่าเป็นความตายครั้งที่สอง จึงเกิดคำถามขึ้นว่า จะเป็นการลงโทษถาวรเป็นนิตย์หรือไม่  ตามพระวจนะแล้วสามารถตอบได้ว่า ชั่วนิจนิรันดร์  ข้อพระคัมภีร์ที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็น มัทธิว 25.46  ที่กล่าวถึงโทษนิรันดร์ของคนชั่วเปรียบเทียบกับความสุขสำราญชั่วนิรันดร์ของผู้ที่ได้รับความรอด ผู้ที่เชื่อจะมีชีวิตนิรันดร์อยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าและเป็นที่โปรดปรานตลอดไป ผู้ที่ไม่เชื่อจะต้องอยู่โดยขาดจากพระเจ้าผู้กอปรด้วยพระคุณชั่วนิรันดร์
                สรุป
                ผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์นั้นไม่ต้องกลัวการพิพากษา  เพราะเราอยู่ในพระเยซูคริสต์ และพระอาชญาซึ่งพระเจ้าทรงมีต่อความบาปได้ตกอยู่ที่พระเยซูแล้ว เราได้รับการลบล้างบาปแล้ว และจะไม่ถูกลงโทษด้วยพระอาชญาในวันพิพากษา (โรม 3.24-26, 2 โครินธ์ 5.21) ชื่อของเราได้จดไว้ในหนังสือแห่งชีวิตแล้ว (ลูกา 10.20, ฟิลิปปี 4.13)
                แต่ไม่ได้หมายความว่าคริสเตียนจะไม่ถูกพิพากษาเสียเลย  เราจะรอดแน่นอน แต่เราก็จะต้องปรากฏตัวต่อพระพักตร์พระคริสต์ พระองค์จะพิจารณาดูชีวิตของเราว่า เราได้ใช้ชีวิตเพื่อพระองค์หรือเพื่อตนเอง เราได้ปฏิบัติตามพระวจนะของพระองค์หรือตามโลกียวิสัย  ซึ่งจะเป็นการตัดสินว่าเราจะได้บำเหน็จอะไร หรือจะต้องอับอายขายหน้าอยู่จำเพาะพระพักตร์พระเจ้า (1 โครินธ์ 3.8-15, 2 โครินธ์ 5.10)

                ความอยากรู้อยากเห็นของเราอาจทำให้เราอยากรู้หลายสิ่งที่พระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกไว้  แต่การที่พระคัมภีร์ไม่ได้กล่าวถึงสิ่งนั้นแสดงว่า  เราควรจะพอใจกับสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงสำแดงแก่เราไว้ที่พระองค์ทรงเห็นว่าเพียงพอแล้ว