Thursday, October 24, 2013

พระธรรมยอห์น

1. เบื้องหลังการเขียน

                1.1  ผู้เขียน  ยอห์น มีความหมายว่า พระคุณของพระเจ้า เป็นบุตรเศเบดี (มธ4.21) มารดาชื่อ ซาโลเม (มก 15.40) เป็นผู้เขียนและผู้ซึ่งเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง (19.35, 21.24) เป็นผู้ที่รู้จัพิธีกรรมของยิว รู้แนวความคิดของยิว รู้สภาพทางภูมิศาสตร์ของปาเลสไตน์ เช่น รู้ว่าหมู่บ้านเบธานีมี 2 แห่ง (1.28,12.1) และรู้ว่าทะเลกาลิลีมีอีกชื่อหนึ่งว่าทะเลทิเบเรียส (6.1, 21.1) มีบ้านพักอาศัยในกรุงเยรูซาเล็ม (19.17) รู้จักคุ้นเคยกับมหาปุโรหิต (18.15-16) เป็นศิษย์ของยอห์นผู้ให้บัพติศมา (1.35) เป็นอัครสาวก 1 ใน 12 คน เป็นน้องของยากอบ มีอาชีพเป็นชาวประมง (มก 1.19-20)  ใช้คำแทนตนในการเขียนว่า “สาวกที่พระองค์ทรงรัก” เป็น 1 ใน 3 สาวกที่ใกล้ชิดพระเยซูและได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระเยซูในเหตุการณ์สำคัญหลายๆครั้ง เช่น
                - ทรงเรียกลูกสาวไยรัสให้เป็นขึ้นจากตาย (มก 5.37, ลก 9.28)
                - ได้เห็นการจำแลงพระกาย (มก 9.2, ลก 9.28)
                - ใกล้ชิดพระเยซูขณะที่ทรงอธิษฐานในสวนเกทเซมาเน (มก 14.33)
                - ใกล้ชิดพระเยซูขณะที่ทรงถูกตรึงและได้รับมอบหมายให้ดูแลนางมารีย์แทนพระองค์
                   (ยน 19.26-27)

และในพระธรรมกิจการยังได้บันทึกว่า ยอห์นได้ร่วมรับใช้กับเปโตรในหลายแห่ง เช่
                - การรักษาคนง่อยที่ประตูพระวิหาร (กจ 3.1)
                - เป็นพยานอย่างกล้าหาญต่อหน้าสภาแซนเฮดริน (กจ 4.13)
                - ยอห์น ยากอบและเปโตรได้รับการบันทึกว่าเป็นเสาหลักของคริสตจักร (กท 2.9)

ลักษณะนิสัยของยอห์นเป็นคนอารมณ์ร้อน โกรธง่าย (มก 3.17) พระเยซูทรงให้ชื่อยากอบกับยอห์นว่า โบอาเนอเย หรือลูกฟ้าร้อง เพราะในตอนที่ชาวสะมาเรียไม่ยอมให้พระเยซูและสาวกผ่านไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ทำให้ยอห์นคิดจะทำลายชาวเมืองทั้งหมด (ลก 9.54)

                1.2  จุดประสงค์   ยอห์นได้บันทึกวัตถุประสงค์ในการเขียนไว้ชัดเจนใน 20.31 ว่า “แต่การที่ได้บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ ก็เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า และมีความเชื่อแล้วท่านก็จะมีชีวิตในพระนามของพระองค์” แต่อย่างไรก็ตาม ยอห์นเขียนขึ้นทั้งเพื่อการประกาศและหนุนใจผู้เชื่อให้ดำรงความเชื่อต่อไป และอีกเหตุผลหนึ่งคือ เป็นพระกิตติคุณที่เขียนขึ้นเป็นเล่มสุดท้ายและมีหลายอย่างที่ได้เพิ่มเติมเนื้อหาของพระกิตติคุณ 3 เล่มแรกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

                1.3  ผู้รับ  เชื่อว่ายอห์นเขียนขึ้นเพื่อชาวยิวที่อยู่นอกปาเลสไตน์และพวกกรีก(พวกต่างชาติ) ซึ่งท่านมีความคิดเห็นว่ายิวในปาเลสไตน์นั้นปฏิเสธพระเยซู จึงไม่อยากให้ชาวยิวที่อยู่นอกปาเลสไตน์นั้นมีความคิดเช่นเดียวกัน ท่านต้องการให้คนเหล่านั้นทราบความจริงว่า พระเยซูเป็นพระเจ้าที่มาบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อหนุนใจให้พวกเขาได้เชื่อและวางใจในพระองค์

                1.4  เวลาที่เขียน  เชื่อว่ายอห์นเขียนขึ้นประมาณปี ค.ศ. 85-90 สถานที่น่าจะเป็นเมืองเอเฟซัส
 
                1.5  ลักษณะพิเศษ  มีความแตกต่างจากพระกิตติคุณอีก 3 เล่ม
                - พระเยซูทรงประทับในกรุงเยรูซาเล็มหลายครั้ง (2.13, 5.1, 7.10, 12.12)
                - พระเยซูทรงร่วมปัสกามากกว่า 1 ครั้งในกรุงเยรูซาเล็ม (2.13, 6.4, 12.1)
   - ยอห์นได้อธิบายถึงความลึกลับของพระเยซูในฐานะเป็นบุคคลแม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นมนุษย์ พระองค์ก็ไม่ทรงเป็นเหมือนเขาเหล่านั้น พระองค์ทรงมีเอกลักษณ์ของตนเองและทรงความยิ่งใหญ่ ยอห์นได้ เปิดเผยให้เห็นถึงองค์พระเยซูคริสต์ในฐานะพระบุตรของพระเจ้า ดังที่ได้เห็นจากพระนามต่างๆ เช่น  พระวาทะ (1.1) พระเมษโปดก (1.29) พระเมสสิยาห์ (1.41) พระบุตรของพระเจ้า กษัตริย์ของอิสราเอล (1.49) พระผู้ช่วยให้รอด (4.42) องค์พระผู้เป็นเจ้า.....พระเจ้า (20.28) บางครั้งพระองค์ใช้คำว่า เราเป็น...  (6.35, 8.12, 10.7-14, 11.25, 14.6, 15.1,5) พระองค์อ้างว่าพระองค์คือพระเยโฮวาห์ (4.24,26, 8.24,28,58, 13.19)
                - ยอห์นได้เน้นให้เห็นถึงสภาพทางกายของพระเยซูในยามที่พระองค์ทรงยินดี หิว กระหายน้ำ  เป็นทุกข์  เจ็บปวด กรรแสงและสิ้นพระชนม์ ข้อเท็จจริงนี้แสดงถึงความเป็นมนุษย์ของพระเยซู

บทสนทนาของพระเยซูที่มีเฉพาะในพระธรรมยอห์น เป็นบทสนทนาที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘เราเป็น’ คือ
1. เราเป็นอาหารแห่งชีวิต (6.35)
2. เราเป็นความสว่างของโลก (8.12, 9.5)
3. เราเป็นประตู (ของแกะทั้งหลาย) (10.7)
4. เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี (10.11, 14)
5. เราเป็นเหตุให้คนทั้งปวงเป็นขึ้นและมีชีวิต (11.25)
6. เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต (14.6)
7. เราเป็นเถาองุ่นแท้ (15.1)

2..  โครงเรื่องพระธรรมยอห์น

                1. คำนำ (บทที่ 1.1-18)

                2. การเริ่มต้นพันธกิจของพระเยซู  (บทที่ 1.19-51)
                                2.1 พันธกิจของผู้เตรียมทาง                                                  บทที่ 1.19-34
                                2.2 สาวกของพระเยซู                                                            บทที่ 1.35-51
 
                 3. พันธกิจของพระเยซูกับมวลชน -การอัศจรรย์และคำสอน (บทที่ 2-11)
                                3.1 เปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น                                              บทที่ 2.1-11
                                3.2 การชำระพระวิหาร                                                           บทที่ 2.12-25
                                3.3 การพบปะนิโคเดมัส                                                        บทที่ 3.1-21
                                3.4 งานคู่ขนานกับยอห์น บัพติศโต                                     บทที่ 3.22-4.3
                                3.5 การเดินทางผ่านสะมาเรีย –หญิงที่บ่อน้ำ                        บทที่ 4.4-42
                                3.6 การรักษาบุตรชายของข้าราชการ                                    บทที่ 4.43-54
                                3.7 การเดินทางสู่เยรูซาเล็มเพื่อร่วมฉลองเทศกาล                               บทที่ 5
                                3.8 การเลี้ยงคน 5000 คนและคำสอนเรื่องอาหารแห่งชีวิต  บทที่ 6
                                3.9 พระเยซูร่วมเทศกาลฉลองพระวิหาร                              บทที่ 7-8
                                3.10 ทรงรักษาชายตาบอดแต่กำเนิด                                     บทที่ 9
                                3.11 คำอุปมาเรื่องผู้เลี้ยงที่ดี                                                   บทที่ 10.1-21
                                3.12 การโต้แย้งกับผู้นำศาสนายิว                                          บทที่ 10.22-39
                                3.13 พันธกิจในแคว้นเพอเรีย                                                              บทที่ 10.40-42
                                3.14 การเรียกลาซารัสให้ฟื้นจากความตาย                           บทที่ 11

                4. สัปดาห์สุดท้ายของพระเยซู  (บทที่ 12-19)
                                4.1 การชโลมพระบาทของพระเยซู                                      บทที่ 12.1-11   
                                4.2 การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม                                              บทที่ 12.12-19
                                4.3 การมาของชนชาติกรีก                                                    บทที่ 12.20-36
                                4.4 ความไม่เชื่อของคนยิว                                                    บทที่ 12.37-50
                                4.5 คำสอนชุดสุดท้าย  (บทที่ 13-17)
                                                - คำสอนที่พิธีมหาสนิท                                         บทที่ 13-14
                                                - คำสอนที่เส้นทางสู่เกธเซมาเน                            บทที่ 15-16
                                                - การอธิษฐานอ้อนวอนของพระเยซู                     บทที่ 17

                                4.6 การถูกทรยศและถูกจับกุม                                             บทที่ 18.1-12
                                4.7 การถูกสอบสวน                                                              บทที่ 18.13-19.15
                                4.8 การถูกตรึงกางเขนและการฝังพระศพ                            บทที่ 19.16-42

                5. การฟื้นคืนพระชนม์  (บทที่ 20.1-29)

                 6. จุดประสงค์ของการบันทึก  (บทที่ 20.30-31)

                7. บทส่งท้าย  (บทที่ 21)

4.  บทสรุป

                 หลายคนเชื่อว่ามีพระเจ้า ซึ่งถือว่าป็นสิ่งที่ดี แต่คนเหล่านี้ก็ยังจะไม่ได้รับชีวิตนิรันดร์ เพราะเขาจะต้องเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าด้วย และที่สำคัญจำเป็นจะต้องเชื่อว่าพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่จะให้ชีวิตนิรันดร์ได้
1.  เราต้องเชื่อในการอัศจรรย์ของพระเยซูคริสต์ (2.11)
2. เชื่อในคำพยานของพระองค์ (4.39, 17.20)
3. พระเยซูทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า (3.16)
4. พระองค์ทรงเป็นทางเดียวไปสู่พระบิดา (14.6)
5. คำพยานของพระองค์ล้วนเป็นความจริงทั้งสิ้น (18.37)
6. เราเพียงเชื่อเท่านั้นก็จะได้ชีวิตนิรันดร์ (1.12)
7. ผู้เชื่อที่ได้รับชีวิตนิรันดร์เท่านั้นจึงสามารถรู้จักพระบุตรและพระบิดาผู้ซึ่งใช้พระองค์มา (17.3)

** เกร็ดความรู้  พระธรรมยอห์นมีควมแตกต่างจากพระกิตติคุณเล่มอื่น **

1.    พระธรรมยอห์นไม่ได้กล่าวถึงการประสูติ บัพติศมา การทดลองในถิ่นทุรกันดาร การรับประทาน   อาหารมื้อสุดท้าย เหตุการณ์ในสวนเกทเซมาเน และการเสด็จกลับสู่สวรรค์
2.    ไม่ได้กล่าวถึงคำอุปมาของพระเยซูไว้เลย หรือการขับผี คำตรัสของพระเยซูมักจะบันทึกรายละเอียดไว้ยาวเป็นบทๆ
3.    ราชกิจส่วนใหญ่ของพระองค์อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มและแคว้นยูเดีย แทนที่จะอยู่ในแคว้นกาลิลีเหมือนที่บันทึกไว้ในพระกิตติคุณอีกสามเล่ม โดยเฉพาะหลังจากยอห์น บทที่ 10 พระเยซูทำราชกิจในเยรูซาเล็มทั้งหมด ในอีก 3 เล่มนั้นพระเยซูเข้ามาในเยรูซาเล็มแค่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนถูกตรึงกางเขนเท่านั้น
4.  กล่าวถึงการเลี้ยงปัศคา 3 ครั้งในขณะที่เล่มอื่นๆกล่าวไว้เพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้นราชกิจของพระเยซูบนโลกกระทำในช่วงเวลาประมาณ 3 ปี แทนที่จะเป็น 1 ปีถ้าอ่านคร่าวๆในอีก 3 เล่ม (ยน 2.13 การชำระพระวิหาร, ยน 6.4 ก่อนการเลี้ยง 5000 คน, ยน 13.1 ก่อนการถูกจับกุม)
5.   คำสอนเน้นความเป็นพระเจ้าของพระเยซู แทนที่จะเน้นแผ่นดินพระเจ้าหรือความเป็นมนุษย์ของพระองค์
6.   มีคำสนทนา และคำสอนส่วนตัวแก่หลายคนถึง 27 ครั้ง
7.   เน้นหลักข้อเชื่อแทนที่จะเน้นเหตุการณ์ (ไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์) ดังนั้นจึงเริ่มพระธรรมด้วยการทรงสำแดงของพระเจ้า แทนที่จะกล่าวถึงพงศ์พันธ์ของพระเยซู
8.   ยอห์นกล่าวถึงการชำระพระวิหารไว้ในช่วงแรกของพระราชกิจ (ยน 2.13-22)  แต่อีก 3 เล่มเหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงปลายของพระราชกิจของพระเยซู (มธ 21.12, มก 11.15-17, ลก 19.45-46)
9.   ยอห์นบันทึกเหตุการณ์หลายอย่างที่เล่มอื่นไม่มี
-   การเลี้ยงในพิธีสมรสที่บ้านคานา (2.1-11)
-   เรื่องราวของนิโคเดมัส (3.1-5)
-   เรื่องหญิงสะมาเรียข้างบ่อน้ำ (4)
-   ลาซารัสเป็นขึ้นจากความตาย (11)
-   การล้างเท้าสาวก (13.1-17)
-   คำสอนเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (14-17)
-   คำพูดของโธมัส (11.15, 14.5, 20.21-25)
-   คำคัดค้านของยูดาส อิสคาริโอท เมื่อพระเยซูทรงรับการเจิมที่เบธานี (12.4-5)
10.  ยอห์นกล่าวถึงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในเรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่มีในอีก 3 เล่ม เช่น
-   ขนมปังที่เด็กนำมาให้ในการเลี้ยงคน 5000 คนนั้น เป็นขนมปังที่ทำมาจากข้าบาร์เล่ย์ (6.9)
-   เมื่อพระเยซูทรงดำเนินบนทะเลมาหาสาวกที่อยู่ในเรือนั้น พวกเขาอยู่ห่างฝั่ง 3-4 ไมล์ (6.19)
-   ยอห์นรู้ว่าทหารที่จับฉลากฉลองพระองค์ชั้นนอกของพระเยซูนั้นมีอยู 4 คน (19.23)
-   ยอห์นกล่าวถึงน้ำหนักของเครื่องหอมที่นำมาชโลมพระศพของพระเยซู  (19.39)

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ยอห์นได้อยู่ที่นั่นในแต่ละเหตุการณ์ และได้เห็นด้วยตาตัวเอง จึงสามารถจำรายละเอียดได้ดี



No comments:

Post a Comment