Monday, October 28, 2013

พระธรรมกิจการ


1. เบื้องหลังการเขียน

    1.1  ผู้เขียน  เชื่อว่านายแพทย์ลูกาเป็นผู้เขียนทั้งพระกิตติคุณลูกาและพระธรรมกิจการ เพราะ
       - ผู้รับพระกิตติคุณลูกาและหนังสือกิจการเป็นคนเดียวกัน และบอกชัดเจนว่าเป็นเล่มต่อจากลูกา
       - ลูกาอยู่กับเปาโลขณะที่ท่านถูกจองจำที่กรุงโรม 2 ปี ทำให้ท่านได้รับข้อมูลต่างๆเป็นอย่างดี
       - ลูการ่วมกับคณะของเปาโลในการประกาศตั้งแต่เมืองโตรอัส(16.7-10)  จนกระทั่งถึงกรุเยรูซาเล็ม (27.1-28.16) ดังนั้นคำว่า เราหรือ พวกเราในหลายตอนของกิจการจึงน่าจะหมายถึงเปาโลและตัวลูกาเองที่ได้บันทึกและร่วมในการเดินทางด้วย

    1.2  จุดประสงค์ 
        1. พระธรรมกิจการมีจุดประสงค์เดียวกันกับพระกิตติคุณลูกา เพราะเป็นการบันทึกต่อเนื่อง จุดประสงค์พื้นฐานคือต้องการให้รายละเอียดที่ถูกต้องแม่นยำและเป็นระเบียบตามลำดับการพัฒนาการของคริสตศาสนา ท่านได้บันทึกคำพยานของเหล่าสาวกเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์  บันทึกการประกาศตั้งแต่กรุงเยรูซาเล็มถึงกรุงโรมซึ่งเป็นลำดับเหตุการณ์ 30 ปีแรกของคริสตศาสนา
        2. เพื่อให้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ปกป้องคริสตศาสนา มีคำชี้แจงความเข้าใจผิด ลูกาเป็นห่วงสิ่งที่ประชาชนได้รับรู้ ไม่ว่าที่ใดที่คริสตศาสนาเข้าไปถึงดูเหมือนกับจะมีแต่ความยุ่งยากและความโกลาหล ลูกาจึงได้พยายามจะเปลี่ยนความเข้าใจผิดๆที่ว่าคริสตจักรเป็นต้นเหตุให้เกิดความยุ่งยาก โดยได้บันทึกรายละเอียดอย่างชัดเจนและถูกต้อง โดยเฉพาะการเป็นปรปักษ์ของบรรดาผู้นำชาวยิว
        3. เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้เชื่อใหม่ ท่านต้องการให้ผู้อ่านเห็นถึงความร้อนรนในการประกาศไม่เพียงเท่านั้นท่านยังได้เน้นถึงพระราชกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทั้งยังได้บันทึกให้เห็นว่าพระราชกิจของพระองค์นั้นเป็นประสบการณ์ในชีวิตของคริสตชน และฤทธานุภาพของพระองค์ได้สำแดงออกอย่างชัดเจนในเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ

     1.3 ผู้รับ  ท่านเธโอฟีลัส ซึ่งเป็นคนต่างชาติ

     1.4  เวลาที่เขียน   พระธรรมกิจการจบลงที่ท่านอัครฑูตเปาโลได้ถูกจองจำในกรุงโรมประมาณปี ค.ศ.61 และอยู่ที่นั่นประมาณ 2 ปี (28.30) ดังนั้นเรื่องราวของพระธรรมกิจการก็จบลงในปี ค.ศ.63 (ในกิจการไม่ได้กล่าวถึงการข่มเหงคริเตียนโดยเนโรในปี ค.ศ.64 และไม่ได้กล่าวถึงการพลีชีพเพื่อรักษาความเชื่อของเปาโลในช่วงท้ายๆของทศวรรษ ไม่ได้กล่าวถึงกรุงเยรูซาเล็มที่ถูกทำลายในปี ค.ศ.70)

     1.5 ลักษณะพิเศษ
       - พระธรรมกิจการเป็นดั่งเอกสารของมิชชันนารี ซึ่งมีพระมหาบัญชาเป็นโครงสร้างหลัก
       - มีศูนย์กลาง 2 แห่งคือ กรุงเยรูซาเล็มและอันทิโอก มีผู้นำหลัก 2 คนคือ เปโตรและเปาโล
       - ดูเหมือนเป็นคำเทศนาตลอดทั้งเล่ม เพราะลูกาได้บรรยายคำอย่างละเอียด
       - คำที่ปรากฏบ่อยๆคือ คริสตจักร อัครฑูต ความเชื่อ บัพติศมา ทำให้เห็นบรรยากาศของหนังสือ
          เล่มนี้ว่าเน้นไปในทิศทางใด
       - พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นกุญแจหลักแห่งความสำเร็จของพันธกิจ เป็นผู้แนะนำที่เยี่ยมยอด
       - เน้นการก่อตั้งคริสตจักรและการทำให้เติบโตขึ้นโดยทางการสามัคคีธรรมของผู้เชื่อ
 
2. โครงเรื่องของพระธรรมกิจการ
   1. เปโตรและการเริ่มต้นคริสตจักรในปาเลสไตน์ (บทที่ 1-12)
              1.1  ทั่วแคว้นยูเดีย กาลิลีและสะมาเรีย (บทที่ 1.1-9.31)
                     ก. คำนำ                                                                                            บทที่ 1.1-2
                     ข. พันธกิจของพระเยซูหลังฟื้นคืนพระชนม์                                            บทที่ 1.3-1
                     ค. การรอคอยพระวิญญาณบริสุทธิ์                                                        บทที่ 1.12-26
                     ง. การประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์                                                 บทที่ 2
                     จ. การรักษาคนง่อยที่ประตูงามและการถูกจับกุม                                    บทที่ 3.1-4.31
                     ฉ. การรวมทุกสิ่งเป็นของกลาง                                                          บทที่ 4.32-5.11
                     ช. การจับกุมอัครสาวกทั้ง 12 คน                                                        บทที่ 5.12-42 
                     ซ. การเลือกตั้งผู้บริการ 7 คน                                                               บทที่ 6.1-7
                     ฌ. สเตเฟนถูกหินขว้างตาย                                                                บทที่ 6.8-7.6
                     ญ. การกระจัดกระจายจากเยรูซาเล็มของสาวก                                    บทที่ 8.1-4
                      ฎ. พันธกิจของฟิลิป (บทที่ 8.5-40)
                              - การรับใช้ในสะมาเรีย                                                         บทที่ 8.5-25
                              - การรับใช้กับขันทีชาวเอธิโอเปีย                                        บทที่ 8.26-40
                      ฐ. การกลับใจของเซาโล                                                                  บทที่ 9.1-31

              1.2 ขยายไปสู่โฟนีเซีย ไซปรัสและอันทิโอก (บทที่ 9.32-12.25)
                      ก. พันธกิจของเปโตรที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (บทที่ 9.32-11.8)
                              - การรับใช้กับไอเนอัสและโดรคัส                                      บทที่ 9.32-43
                              - การรับใช้กับโคเนลิอัส                                                      บทที่ 10.1-11.8
                      ข. คริสตจักรของคนต่างชาติที่อันทิโอก                                         บทที่ 11.19-30
                      ค. การข่มเหงและการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์เฮโรด                         บทที่ 12

    2. เปาโลและการขยายคริสตจักรไปสู่โรม (บทที่ 13-28)
              2.1 ทั่วแคว้นฟีเจียและกาลาเทีย (บทที่ 13.1-15.35)
                        - การประกาศเที่ยวแรกของเปาโล                                                    บทที่ 13-14
                        - การประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม                                                            บทที่ 15.1-35
              2.2 ที่แคว้นมาซิโดเนีย (บทที่ 15.36-21.16)
                        - การประกาศเที่ยวที่สองของเปาโล                                          บทที่ 15.36-18.22
                        - การประกาศเที่ยวที่สามของเปาโล                                          บทที่ 18.23-21.16
              2.3  การเดินทางสู่กรุงโรม (บทที่ 21.17-28.31)
                                ก. เปาโลถูกจับขังคุกที่กรุงเยรูซาเล็ม (บทที่ 21.17-23.35)
                                    - การถูกจับกุม                                                            บทที่ 21.17-22.29
                                    - การถูกสอบสวนต่อหน้าสภา                                       บทที่ 22.30-23.11
                                    - ถูกส่งไปที่ซีซารียา                                                   บทที่ 23.12-12.35
                                ข. เปาโลถูกขังคุกที่ซีซารียา (บทที่ 24-26)
                                    - การถูกสอบสวนต่อหน้าเฟลิกซ์                                     บทที่ 24
                                    - การถูกสอบสวนต่อหน้าเฟสทัส                                     บทที่ 25.1-12
                                    - การถูกสอบสวนต่อหน้าเฟสทัสและอากริปปา                 บทที่ 25.13-26.32
                                ค. การเดินทางสู่กรุงโรม                                                     บทที่ 27.1-28.15
                                ง. การถูกกักขังที่กรุงโรม 2 ปี                                              บทที่ 28.16-31

3.  บทสรุป

            - พระเยูซูตรัสสั่งให้เราเป็นพยานฝ่ายพระองค์ เริ่มต้นที่กรุงเยรูซาเล็ม แคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรียและจนสุดปลายแผ่นดินโลก กรุงเยรูซาเล็มคือถิ่นที่อยู่ของเรา ส่วนแคว้นยูเดียและแคว้นสะมาเรียจะเป็นถิ่นที่มีวัฒนธรรม กลุ่มคนและภาษาที่ต่างออกไปจากเรานิดหน่อย ที่สุดปลายแผ่นดินโลกจะเป็นสถานที่ที่ไกลที่สุดที่เราจะไปถึง หรืออีกนัยหนึ่ง เราต้องเป็นพยานฝ่ายพระเยซูไม่ใช่เพียงเพื่อนบ้านที่อยู่บนถนนเดียวกัน ไม่ใช่เพียงคนต่างเผ่าพันธุ์ที่อยู่รอบข้างเรา แต่ต้องกับคนทั่วทั้งโลกอีกด้วย ถึงอย่างไรเราก็ต้องเริ่มต้นที่เยรูซาเล็มของเรา เปโตรและยอห์นไปพบเห็นคนง่อย โดยบังเอิญ” (3.1-10) แต่พวกเขาก็เห็นโอกาสที่จะประกาศ เช่นเดียวกันกับคนที่มีปัญหาที่เราพบเจอทุกวัน เราต้องเห็นว่าเป็นโอกาสที่เราจะประกาศ (แต่ไม่ควรอาจหาญเกินไปที่จะไปสัญญาว่าพระเยซูจะทรงแก้ไขปัญหาของเขา และอย่าอ่อนแอเกินไปจนไม่กล้าเป็นพยานกับเขา)

   - อธิษฐานขอให้คริสตจักรได้รับการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่จะมีโอกาสได้ไปประกาศยังแคว้นยูเดียและสะมาเรียของเรา เราควรฉวยโอกาสประกาศพระเยซูในสถานที่ใหม่ๆทันที

   - อธิษฐานขอให้มีสมาชิกในคริสตจักรของเราไปเป็นมิชชันนารีเหมือนที่อันทิโอกได้ส่งเปาโลและบารนาบัสออกไป (13.1-3) ถ้าพระวิญญาณทรงนำเราก็ต้องสนับสนุนด้วยการอธิษฐานและกำลังทรัพย์

  *** จงอธิษฐาน ออกไปเอง และส่งคนออกไปประกาศเถิด ***

4. การตีความพระธรรมกิจการ

                พระธรรมกิจการได้บันทึกถึงการเสื้อมลงของระบบเก่าและเริ่มต้นระบบใหม่ เมื่อจะตีความพระธรรมกิจการควรจะระลึกถึงเรื่องนี้ด้วย และจะเป็นประโยชน์มากถ้าบันทึกเป็นรายๆไปว่า กำลังกล่าวถึงใคร และเขารู้อะไรมากน้อยเพียงไร เช่น ในยุคคริสตจักรเริ่มแรก มีชาวยิวที่มีความเชื่อศรัทธาอย่างแท้จริงในพระเจ้าของยิว แต่แทบจะไม่รู้จักพระเยซูคริสต์เลย  มีหลายคนที่ตอบรับคำสอนของยอห์น บัพติศโตเป็นอย่างดี แต่แทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ยอห์นประกาศนั้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องสังเกตุดูเนื้อหาให้ดีว่ากำลังเน้นอยู่ที่ใคร เพื่อจะได้ตีความเหตุการณ์ตอนนั้นได้ถูกต้อง กิจการเป็นพระธรรมที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจริงๆ



 

No comments:

Post a Comment