Wednesday, October 23, 2013

พระวจนะ


ในพระธรรมฮีบรู 4:12 กล่าวไว้ว่า    "เพราะว่าพระวจนะของพระเจ้านั้นไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ  คมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆ   แทงทะลุกระทั่งจิตและวิญญาณ   ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก   และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย"
 
ผู้เขียนสดุดีได้กล่าวไว้ว่า  “พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพระองค์ และเป็นความสว่างแก่มรรคาของข้าพระองค์"  (สดุดี 119:105) 

จากพระธรรม 2 ข้อนี้ ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของพระวจนะของพระเจ้าต่อชีวิตของผู้เชื่อ และจะทำอย่างไรที่จะให้พระวจนะของพระเจ้ามีส่วนในการะฟื้นฟูชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของเรา พระเจ้าทรงตรัสกับมนุษย์หลายทางด้วยกัน แต่ที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุดคือทางพระวจนะของพระองค์

มีความผิดปกติด้านการได้ยินรูปแบบหนึ่งซึ่งพบได้ไม่บ่อยมาก  ผู้ที่เป็นสามารถได้ยินเสียงแต่ไม่สามารถเข้าใจความหมาย เขายังคงได้ยินเสียงนกร้องหรือเสียงนาฬิกาเดิน แต่เขาจะไม่เข้าใจว่าเป็นอะไร หรือเมื่อมีคนพูดด้วยเขาก็จะไม่เข้าใจความหมายใดๆ แท้จริงต้นตอของปัญหาไม่ได้อยู่ที่หู แต่เกิดจากอาการบาดเจ็บทางสมอง

ในท่ามกลางผู้เชื่อก็เช่นเดียวกัน มีอาการหูหนวกฝ่ายวิญญาณเกิดขึ้นกับคริสเตียนจำนวนไม่น้อย  เมื่อเขาได้ยินคำสอนหรือเมื่ออ่านพระวจนะ จึงไม่ทำให้เกิดความเข้าใจฝ่ายวิญญาณ เพียงชื่นชมพระคัมภีร์ในฐานะวรรณกรรมหรือประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ หรืออาจะเป็นเพียงแหล่งรวมจริยธรรมที่มีมาตรฐานสูง แต่กลับไม่เข้าใจข้อความฝ่ายวิญญาณ ทั้งยังไม่เข้าใจในสาระสำคัญที่พระคัมภีร์ได้บันทึก  ขอพระเจ้าเมตตาอย่าให้เราเป็นเช่นนั้น

ขอยกข้อพระธรรมใน เนหะมีย์ 8:1-8
            "ประชาชนทั้งปวงได้ชุมนุม พร้อมหน้ากันที่ลานเมืองหน้าประตูน้ำ   และเขาบอกเอสราธรรมาจารย์   ให้นำหนังสือธรรมบัญญัติของโมเสส ซึ่งพระเจ้าทรงบัญชาแก่อิสราเอลนั้นมา เอสราปุโรหิตได้นำธรรมบัญญัติมาหน้าชุมนุมชน   ทั้งชายและหญิงและบรรดาผู้ที่ฟังเข้าใจได้ ณ วันต้น ของเดือนที่เจ็ด และท่านหันหน้าไปทางลานเมืองหน้าประตูน้ำ   อ่านตั้งแต่เช้าตรู่จนเที่ยงวัน   ต่อหน้าผู้ชายผู้หญิงกับบรรดาผู้ที่ฟังเข้าใจได้   และประชาชนก็ตะแคงหูฟังพระธรรม เอสราธรรมาจารย์ยืนอยู่บนแท่นไม้   ซึ่งเขาทำไว้เพื่อการนี้   ข้างๆท่านมีมัททีธิยาห์  เชมา  อานายาห์  อุรีอาห์   ฮิลคียาห์และมาอาเสอาห์ยืนอยู่ข้างขวามือของท่าน   กับมีเปดายาห์   มิชาเอล  มัลคิยาห์  ฮาชูม  ฮัชบัดดานาห์   เศคาริยาห์และเมชุลลามอยู่ข้างซ้ายมือของท่าน และเอสราได้เปิดหนังสือต่อหน้าประชาชนทั้งปวง เพราะท่านอยู่สูงกว่าประชาชน   เมื่อท่านเปิดหนังสือประชาชนก็ยืนขึ้น เอสราสรรเสริญพระเยโฮวาห์   พระเจ้าใหญ่ยิ่ง  และประชาชนทั้งปวง   ตอบว่า  “อาเมน  อาเมน”   พร้อมกับยกมือขึ้นและเขาทั้งหลายโน้มตัวลงนมัสการพระเจ้า   ซบหน้าลงถึงดิน อนึ่งเยชูอา  บานี  เชเรบิยาห์  ยามีน  อักขูบ  ชับเบธัย  โฮดียาห์   มาอาเสอาห์   เคลิทา  อาซาริยาห์  โยซาบาด  ฮานัน  เปไลยาห์  พวกคนเลวี   ได้ช่วยประชาชนให้เข้าใจธรรมบัญญัติ   ฝ่ายประชาชนก็ยังอยู่ในที่ของตน และเขาทั้งหลายอ่านจากหนังสือ   จากธรรมบัญญัติของพระเจ้าเป็นตอนๆ   และเขาก็แปลความ   ประชาชนจึงเข้าใจข้อความที่อ่านนั้น"

     เมื่อชนชาติอิสราเอลได้กลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน พวกเขาได้สร้างกำแพงเยรูซาเล็มที่ถูกพังลง นำโดยเนหะมีย์  ใช้เวลาเพียง 52 วัน ถึงแม้พวกเขาได้ประสบความสำเร็จในการสร้างกำแพงในช่วงเวลาสั้น แต่จิตใจลึกๆของเขายังไม่ค่อยมีความสุขและความมั่นคงเท่าที่ควร  พวกเขาจึงต้องการความสุขและความมั่นคงในจิตใจของเขา ความสุขและความมั่นคงในจิตใจนั้นมาจากพระเจ้า  เขาต้องการการฟื้นฟูจิตวิญญาณของเขา พระเจ้าจึงได้ทรงทำการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพวกอิสราเอลด้วยพระวจนะของพระองค์
           การฟื้นฟูจิตใจเกิดขึ้นได้ก็โดยพระวจนะของพระเจ้า  และพระวจนะของพระเจ้าตอนนี้แสดงให้เห็นว่า ชนชาติอิสราเอลได้ตอบสนองต่อพระวจนะของพระเจ้าด้วยท่าทีอย่างไร   การฟื้นฟูจิตใจจึงเกิดขึ้นได้

 
1. หิวกระหายพระวจนะของพระเจ้า (ข้อ 1-2)

"ประชาชนทั้งปวงได้ชุมนุมพร้อมหน้ากันที่ลานเมืองหน้าประตูน้ำ และเขาบอกเอสราธรรมาจารย์ให้นำหนังสือธรรมบัญญัติของโมเสสซึ่งพระเจ้าทรงบัญชาแก่อิสราเอลนั้นมา

       คนที่หิวกระหายพระวจนะของพระเจ้าจะได้รับการฟื้นฟูจิตวิญญาณได้  ข้อนี้ได้บอกว่า “ประชาชนทั้งปวงได้ชุมนุมพร้อมหน้ากัน” น่าจับตามองดูคำว่า พร้อมหน้ากัน หมายความว่าอะไร  ไม่ใช่เฉพาะผู้นำหรือบางคนที่มีตำแหน่งเท่านั้น แต่ทุกคนได้ชุมนุมกัน ไปหาเอสราและได้บอกว่า เอาหนังสือพระคัมภีร์มา เพราะว่าเอสราเป็นธรรมาจารย์   ท่านได้ตั้งใจว่าจะศึกษาธรรมบัญญัติของพระเจ้า และกระทำตามและสอนพระวจนะของพระเจ้าในอิสราเอล (เอสรา 7:10) หมายความว่า คนอิสราเอลที่ได้กลับมาอาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มทุกคนมีจิตใจที่หิวกระหายพระวจนะของพระเจ้า มีความปรารถนาที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพระเจ้า จิตใจที่หิวกระหายเช่นนี้ ก็มาจากพระเจ้า  เอสรานั้นมีนิมิตที่จะสอนพระวจนะของพระเจ้าแก่คนอิสราเอลอยู่แล้ว  เขาคงอธิษฐานกับพระเจ้าว่า “ขอพระเจ้าทรงเทจิตใจที่หิวกระหายพระวจนะของพระองค์แก่คนอิสราเอล แล้วข้าพระองค์มีโอกาสที่จะประกาศแก่พวกเขาว่า อะไรคือน้ำพระทัยของพระองค์”  ถึงอย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้จัดกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ หรือไม่ได้ประกาศหรือ บังคับให้มาเรียนพระคัมภีร์ แต่พวกเขามาเอง ร้องขอให้เอาหนังสือธรรมบัญญัติมา  คนที่มีจิตใจหิวกระหายพระวจนะของพระเจ้านั้นมักจะมาร่วมชุมนุมกัน พวกเขาชุมนุมกันในวันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ด วันต้นเดือนเป็นวันที่เขาถือรักษากันว่า เป็นวันบริสุทธิ์แด่องค์พระผู้เป็นเจ้า (8:10) เหมือนวันสะบาโต
          เมื่อเอสราเห็นคนทั้งปวงมาหาและขอให้เอาพระคัมภีร์มา เขาคงจะดีใจมาก รู้ไหมว่า ศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรจะชื่นชมยินดีมากเมื่อไร ? เมื่อสมาชิกมาหาด้วยใจปรารถนาที่จะเรียนพระคัมภีร์ นี่คือการฟื้นฟูฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าที่ถูกเทลงมาในคริสตจักรของพระองค์  ครูรวีวารศึกษาก็เช่นเดียวกัน คงจะดีใจมากถ้ามีสมาชิกมาเรียนกันเต็มห้อง และแสวงหาความรู้ในเรื่องของพระเจ้า  เพราะพระวจนะนั้นเป็นเหมือนอาหารฝ่ายวิญญาณ  คริสเตียนที่ขาดพระวจนะก็คงจะเป็นคริสเตียนที่ผอมโซเหมือนคนขาดอาหาร  มารมันเป่าเพี้ยงเดียวก็เซถลาล้มลงทันที  คงเป็นเช่นนั้นไม่ได้แน่ๆ เราต้องช่วยกันสร้างค่านิยมให้คริสตจักรของเราเป็นคริสตจักรที่รักพระวจนะ  สมาชิกหิวกระหายมารอรับการสอนและรอรับการสร้าง  มาแต่เช้า ตื่นแต่เช้าเพื่อจะมาเรียน ให้เราช่วยกันอธิษฐานต่อพระเจ้า ให้สมาชิกทุกคนเต็มไปด้วยจิตใจที่หิวกระหายพระวจนะของพระเจ้า

 
2. ขะมักเขม้นฟังพระวจนะของพระเจ้า (ข้อ 3)

          “และท่านหันหน้าไปทางลานเมืองหน้าประตูน้ำ อ่านตั้งแต่เช้าตรู่จนเที่ยงวันต่อหน้าผู้ชายผู้หญิงกับบรรดาผู้ที่ฟังเข้าใจได้ และประชาชนก็ตะแคงหูฟังพระธรรม

          ตามคำขอร้องของประชาชน เอสราซึ่งเป็นธรรมาจารย์ได้เอาหนังสือธรรมบัญญัติมาอ่าน ตั้งแต่เช้าตรู่จนเที่ยงวัน   เช้าตรู่ คงหมายถึงช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นก็ประมาณ 6 โมงเช้า จนถึงเที่ยง นับได้ว่าประมาณ 6 ชั่วโมง สิ่งที่น่าประทับใจมากก็คือ ประชาชนก็ตะแคงหูฟังนานถึง 6 ชั่วโมง ตั้งใจฟัง  ขะมักเขม้นฟังพระวจนะของพระองค์ เพราะเขากระหายพระวจนะของพระเจ้า
เราเคยมีประสบการณ์ในการภาวนาพระวจนะของพระเจ้าหลายชั่วโมงมั๊ย ?  เคยเกิดจิตใจที่อยากอ่านและภาวนามากกว่านั้นมั๊ย ?  ทั้งๆที่ภาวนาหลายสิบบทแต่รู้สึกไม่พอ ไม่อิ่ม ช่วงนั้นแหละ เป็นเวลาที่พระคุณของพระเจ้ามาถึงเราและเราจะพบการฟื้นฟูฝ่ายวิญญาณ
          การฟื้นฟูได้เกิดขึ้นในท่ามกลางของคนที่ขะมักเขม้นฟังพระวจนะของพระเจ้า เราจะเห็นได้จากพระธรรมกิจการ คริสตจักรเยรูซาเล็มเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้   3000 คนที่ได้รับบัพติศมาในวันเพ็นเตคอส  ก็ได้ขะมักเขม้นฟังคำสอนของเหล่าอัครทูต  พวกเขาจึงเข้าใจน้ำพระทัยของพระเจ้า แล้วกระทำตามพระวจนะนั้น เช่น อธิษฐาน สามัคคีธรรม ช่วยเหลือคนที่ต้องการ และนมัสการพระเจ้า ดังนั้นพวกเขาได้พบการฟื้นฟูทั้งภายในและภายนอกด้วย  มีความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง และมีคนมารับเชื่อทุกวันๆ  อยากเห็นคริสตจักรของเราเป็นเช่นนั้น มีคนมารับเชื่อทุกๆวันและเติบโตขึ้น  เคล็ดลับก็คือพระวจนะ ขมักเขม้นฟังคำสอน ขะมักเขม้นอ่านพระคัมภีร์
          "ความเชื่อเกิดขึ้นได้ก็เพราะการได้ยิน และการได้ยินเกิดขึ้นได้ก็เพราะการประกาศพระคริสต์" (โรม 10:17)  เราต้องตั้งใจฟังคำเทศนา เพราะคำเทศนา คือพระวจนะของพระเจ้า ไม่ควรหันไปข้างขวาหรือข้างซ้าย หรือหันกลับดูด้านหลัง ไม่ควรพูดคุยกับคนที่นั่งข้างๆ แต่ควรเอียงหูฟังพระวจนะของพระเจ้าผ่านผู้รับใช้ของพระเจ้าอย่างตั้งใจ

3. ให้เกียรติแก่พระวจนะของพระเจ้า (ข้อ 5)

            “และเอสราได้เปิดหนังสือต่อหน้าประชาชนทั้งปวง เพราะท่านอยู่สูงกว่าประชาชน เมื่อท่านเปิดหนังสือ ประชาชนก็ยืนขึ้น” 
 
             คำว่า ประชาชนก็ยืนขึ้น เป็นการสำแดงถึงการถวายเกียรติ ความยำเกรงและความถ่อมใจ ไม่ได้ถือว่ากำลังฟังคำปราศัยของคนธรรมดา แต่ถือว่ากำลังฟังพระสุระเสียงของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ คริสตจักรเธสะโลนิกาเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เปาโลได้บอกว่า “เราขอบพระคุณพระเจ้าเสมอ เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายได้รับพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งท่านได้ยินจากเรา  ท่านไม่ได้รับไว้อย่างเป็นคำของมนุษย์ แต่ได้รับไว้ตามความเป็นจริง คือเป็นพระวจนะของพระเจ้า..."  (1 เธสะโลนิกา 2:13) พระคัมภีร์บอกว่า  "....เพราะว่าผู้ที่ให้เกียรติแก่เรา เราจะให้เกียรติ และบรรดาผู้ที่ดูหมิ่นเรา ผู้นั้นจะถูกดูหมิ่น" (1 ซามูเอล 2:30)ผู้ที่ให้เกียรติแก่พระคัมภีร์ ก็ให้เกียรติแก่พระเจ้า เพราะว่าพระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระเจ้า การที่เรายืนขึ้นเมื่อผู้นำจะอ่านพระคัมภีร์ ก็เพราะเหตุนี้ เชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะทรงทำการฟื้นฟูจิตใจของคนที่ให้เกียรติแก่พระวจนะของพระเจ้า  

          เราต้องไวในเรื่องนี้ด้วย การนั่งฟังเทศน์แล้วไม่สนใจฟัง คุยบ้าง หลับบ้าง โทรศัพท์บ้าง เล่นแทปเลตบ้าง ใจลอยบ้าง ก็ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติแก่พระวจนะของพระเจ้า  เราควรจะเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่คืนวันเสาร์แล้ว อธิษฐานเตรียมใจให้พร้อมที่จะมารับพระพรจากพระวจนะของพระเจ้าในวันอาทิตย์  เคลียร์งานให้หมด เคลียร์ปัญหาให้จบ  แล้วการฟังเทศน์ก็จะเป็นพระพรสำหรับชีวิตของเราเอง

 4. เข้าใจพระวจนะของพระเจ้า (ข้อ 8)

            “และเขาทั้งหลายอ่านจากหนัวสือจากธรรมบัญญัติของพระเจ้าเป็นตอนๆ และเขาก็แปลความ ประชาชนจึงเข้าใจข้อความที่อ่าน
            ด็อกเตอร์ สไมลี่ แบลนตัน จิตแพทย์ชาวนิวยอร์ค มีพระคัมภีร์วางประจำอยู่บนโต๊ะทำงาน คนไข้ของเขาแปลกใจจึงถามว่า  ‘จิตแพทย์อย่างคุณหมออ่านพระคัมภีร์ด้วยหรือ ?’   ด็อกเตอร์ แบลนตัน  ซึ่งเป็นคริสเตียนที่เคร่งครัดตอบว่า ‘ไม่เพียงแค่อ่านเท่านั้น ผมยังศึกษาพระคัมภีร์อีกด้วย‘ แล้วเขาก็กล่าวเสริมว่า ‘ถ้าผู้คนซึมซับเนื้อหาในพระคัมภีร์ จิตแพทย์คงต้องตกงานแน่ๆ’ ด็อกเตอร์ แบลนตัน ยังขยายความต่อไปอีกว่า  ถ้าคนไข้ที่ถูกรุมเร้าด้วยความรู้สึกผิดและโทษตัวเอง เมื่อเขาได้อ่านคำอุปมาเรื่องบุตรน้อยหลงหายกับบิดาผู้ให้อภัยในพระธรรมลูกา 15:11-32  พวกเขาก็จะพบกุญแจสู่การรักษา

          เราทั้งหลายได้แสวงหาการรักษาจากพระวจนะอันทรงฤทธิ์ของพระเจ้าหรือไม่ ?  เราอาจจะอ่านพระวจนะโดยความเชื่อ  แต่ลองพิจารณาดูว่าเราได้ศึกษาจริงจัง และนำถ้อยคำในพระคัมภีร์มาปฏิบัติจริงๆหรือยัง  ความจริงแห่งการช่วยให้รอดในพระคัมภีร์นั้นเป็นยาขนานเอกที่จะรักษาเราจากโรคร้ายแห่งบาปได้  ความเข้าใจในพระวจนะจะนำเราให้พบทางออกเมื่อเราประสบกับปัญหา  พระเจ้าตรัสไว้ในพระธรรม โฮเชยา 6:6  

 "เพราะเราประสงค์ความรักมั่นคง  ไม่ประสงค์เครื่องสัตวบูชา  
 เราประสงค์ความรู้ในพระเจ้า  ยิ่งกว่าเครื่องเผาบูชา
"

          เคยมองภาพวัวที่นอนเคี้ยวเอื้องมั๊ย ทำไมวัวจึงต้องพิถีพิถันในการเคี้ยวอย่างยิ่ง  ทำไมมันต้องใช้เวลาอย่างมากในการเคี้ยว  ก่อนอื่น วัวจะกินหญ้าและอาหารอื่นๆเข้าไป จากนั้นก็จะหยุดเพื่อเคี้ยวอย่างละเอียดเป็นเวลานาน  มันจะสำรอกอาหารออกมาจากท้องแล้วเคี้ยวสิ่งที่มันกินเข้าไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง  เพื่อย่อยสิ่งที่มีประโยชน์เข้าไปเปลี่ยนให้เป็นน้ำนมอย่างดี

ใช้เวลามากใช่ไหม ? ใช่      เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์มั๊ย ?  ไม่เลย

          คำว่า ‘เคี้ยวเอื้อง’  ถูกใช้อธิบายภาพขบวนการใคร่ครวญ  ผู้เขียนพระธรรมสดุดี บทที่ 119 ได้ใช้ความคิดการบดเคี้ยวอย่างละเอียดขณะที่อ่านพระวจนะของพระเจ้า  สำหรับเขา ไม่มีอาหารจานด่วน ไม่มีบะหมี่หรืออาหารสำเร็จรูป ถ้าเราปฏิบัติตามเขาโดยอ่านพระวจนะอย่างถี่ถ้วนด้วยใจอธิษฐาน เราก็จะ
             - ไม่อ่อนข้อต่อบาป  สดุดี 119:11
             - ปิติยินดีในการเรียนรู้จักพระเจ้ามากขึ้น  สดุดี 119:15-16
             - ค้นพบความจริงฝ่ายวิญญาณอันมหัศจรรย์  สดุดี 119:18
             - พบคำปรึกษาที่ฉลาดในชีวิตประจำวัน  สดุดี 119:24

การใคร่ครวญนั้นไม่เพียงแต่อ่านพระคัมภีร์และเชื่อเท่านั้น แต่เป็นการนำพระวจนะไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย นั่นแหละจึงเรียกว่าได้รับการฟื้นฟูชีวิตด้วยพระวจนะอย่างแท้จริง

อย่าลืม...  พระวจนะของพระเจ้าไม่ใช่อาหารจานด่วน
               แต่จงใช้เวลาบดเคี้ยวอย่างละเอียด


ขอพระเจ้าอวยพระพร

วิจิตร  วารินทร์ศิริกุล

No comments:

Post a Comment