Thursday, October 24, 2013

พระธรรมมาระโก


1.  เบื้องหลังการเขียน

   1.1  ผู้เขียน  ยอห์น มาระโก (ยอห์น เป็นภาษาฮีบรูแปลว่าพระคุณพระเจ้า, มาระโก เป็นภาษาลาตินแปลว่าฆ้อน) ผู้ซึ่งถูกกล่าวถึงใน กจ.12.12 เป็นผู้เขียน มาระโกเป็นบุตรของหญิงม่ายที่มั่งคั่งคนหนึ่งในกรุงเยรูซาเล็ม และบ้านของเขาก็เป็นที่ชุมนุมของผู้เชื่อในเวลานั้น ในตอนนั้นชายหนุ่มผู้นี้ได้จากบ้านที่เยรูซาเล็มไปเป็นผู้ช่วยทีมประกาศครั้งแรกของเปาโลและบารนาบัส (กจ.13.5) แต่เมื่อเดินทางถึงเมืองเปอร์กาได้หนีกลับเยรูซาเล็มก่อน (กจ.13.13) จึงไม่ได้ร่วมการประกาศครั้งที่ 2 ของเปาโล แต่ไปร่วมทีมกับบารนาบัส เหตุที่บารนาบัสให้ความสนใจในดัวของมาระโกและให้ร่วมงานด้วยเพราะทั้งสองเป็นญาติกัน (คส.4.10) และในพระธรรมตอนเดียวกันได้บันทึกว่า มาระโกได้อยู่กับเปาโลในขณะที่เขียนพระธรรมโคโลสี แสดงว่าทั้งสองได้กลับมาร่วมงานกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (ฟม.24) และช่วงสุดท้ายของชีวิตเปาโล ท่านต้องการให้มาระโกมาร่วมงานอีกในขณะที่ท่านติดคุกที่โรม  (2 ทธ.4.11)    ส่วนการรับใช้ของมาระโกร่วมกับเปโตรนั้นถูกกล่าวถึงใน 1 ปต.5.13 ซึ่งเปโตรเรียกมาระโกว่า ”บุตรของข้าพเจ้า” นั้นคงจะแสดงถึงความต้องการของเปโตรที่จะให้มาระโกสืบสานต่องานของท่านเหมือนที่เปาโลมีความคาดหวังในทิโมธี   มาระโกไม่ได้กล่าวถึงตัวท่านเองในฐานะผู้เขียนพระกิติคุณนี้ นอกจากตอนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงชายหนุ่มคนหนึ่งที่ได้ติดตามพระเยซูไปห่างๆหลังจากที่พระองค์ทรงถูกจับกุม ซึ่งพวกสาวกคนอื่นๆได้หนีไปหมดแล้ว ชายหนุ่มคนนั้นถูกพวกทหารจับแต่เขาได้สลัดผ้าห่มทิ้งแล้วหนีไป (มก.14.51-52)    มาระโกคงต้องการแนะนำตัวเองแบบเงียบๆโดยไม่ให้เป็นจุดสนใจ ในฐานะของผู้ร่วมงานของเปาโล บารนาบัสและเปโตรมาแล้ว มาระโกจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในการเป็นผู้บันทึกพันธกิจของพระเยซูในลักษณะงานรับใช้ที่ถ่อมใจ (มก.10.45)

   1.2  จุดประสงค์   มาระโกเน้นเรื่องการทนทุกข์เพื่อพระคริสต์ เพราะว่าในเวลานั้นผู้เชื่อในโรมถูกข่มเหงอย่างหนัก เนื่องจากในสมัยของจักรพรรดิ์เนโร (ค.ศ..64)  มีคนลอบวางเพลิงเผากรุงโรม พวกคริสเตียนถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำ จึงมีการข่มเหงและกวาดล้างผู้เชื่ออย่างหนัก คริสเตียนจำนวนมากถูกประหารชีวิต ต้องหลบหนีและซ่อนตัว การดำเนินชีวิตลำบากยากเข็ญ มาระโกมีแนวคิดว่าพระกิตติคุณที่ท่านเรียบเรียงชีวิตและงานรับใช้ที่ถ่อมใจและทนทุกข์ของพระเยซูนี้ จะเป็นที่หนุนใจพี่น้องคริสเตียนที่ต้องทนทุกข์และเผชิญการข่มเหงจากโรมในขณะนั้น ท่านหนุนใจให้เขาอดทนและเลียนแบบพระเยซูคริสต์ในการรับใช้อย่างถ่อมใจ และอดทนต่อการข่มเหงต่างๆ (1.12-13, 3.22, 10.30,33-34, 13.11-13) และยังยืนยันว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่พระเจ้าใช้มา

   1.3  ผู้รับ  เห็นได้ชัดว่ามาระโกเขียนพระกิตติคุณนี้ถึงคริสตจักรโรมหรือคริสเตียนต่างชาติที่อยู่ในกรุงโรมอ่าน ดูได้จากการใช้คำศัพท์ภาษาลาตินมากมาย (4.21, 12.14, 6.27, 15.39,44,45) และมีการอธิบายธรรมเนียมของยิว (7.2-4, 15.42) ทั้งมีการแปลความหมายของคำจากภาษาอารเมคให้ผู้อ่านได้เข้าใจ (3.17, 5.41, 7.11,34, 15.22)

    1.4  เวลาที่เขียน  เชื่อว่าเขียนขึ้นประมาณ ค.ศ.50 กว่า หรือต้นๆ ค.ศ.60

   1.5  ลักษณะพิเศษ   พระธรรมมาระโกมีลักษณะเรียบง่าย สั้นกระทัดรัด เน้นการกระทำของพระเยซูมากกว่าคำสอน เน้นสภาพของพระเยซูในฐานะมนุษย์ (4.38, 8.12, 10.14,21) มาระโกไม่ได้บันทึกการกำเนิดของพระเยซูคริสต์และไม่ได้บันทึกลำดับเชื้อวงศ์ของพระองค์ด้วย (อาจเป็นเพราะ เมื่อต้องการเน้นสภาพแห่งผู้รับใช้ของพระองค์ จึงไม่จำเป็นต้องลำดับเชื้อสายและการกำเนิด) เน้นความผิดพลาดหรือความบกพร่องของเปโตรและพวกสาวก (4.40, 8.33,10.35-37) เน้นเรื่องกางเขน (8.31, 9.31, 10.33-34, 14.1-2)  เน้นการเป็นสาวก (8.34-38, 9.35-10.31, 10.42-45)   เน้นเรื่อการต่อสู้กับมาร  (1.12-13,23-26, 3.11,5.2-13, 7.25-31, 9.17-29)   เน้นเรื่องพระบุตรของพระเจ้า (1.1,11, 3.11, 5.7, 9.7, 13.32, 15.39)  

พระธรรมเล่มนี้เน้นการกระทำของพระเยซูคริสต์
- บันทึกว่าพระเยซูมีพระราชกิจมากมายจนไม่มีเวลารับประทานอาหาร (3.20, 6.31)
- บันทึกการอัศจรรย์ถึง 18 เรื่อง
- ส่วนเรื่องคำสอนของพระองค์ มาระโกไม่ได้ให้รายละเอียดไว้มากนัก

มาระโกยังบันทึกเรื่องราวที่เป็นจริงโดยไม่ปิดบัง
- กล่าวถึงความโง่เขลาของบรรดาสาวก (4.13, 6.52, 8.17, 21, 9.10,32)
- บรรดาสาวกวิพากวิจารณ์พระเยซู (4.38, 5.31)

และยังบันทึกการแสดงออกของพระเยซูในด้านความรู้สึก อารมณ์ของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

                - ทรงเปี่ยมด้วยความสงสาร                                                  (1.41, 6.34, 8.2)
                - ทรงถอนหายใจ                                                                   (7.34, 8.12)
                - ทรงหิวและเหน็ดเหนื่อย                                                      (4.38, 6.31, 11.12)
                - ทรงสนพระทัยในเด็กๆ                                                        (9.36, 10.14-16)

2.  โครงเรื่องของพระธรรมมาระโก

   1. การเริ่มต้นพันธกิจของพระเยซูคริสต์ (บทที่ 1.1-13)  

1.1 ผู้เตรียมทางของพระองค์                                                                 บทที่ 1.1-8
            1.2 การรับบัพติศมา                                                                                บทที่ 1.9-11
            1.3 พระเยซูถูกทอลอง                                                                           บทที่ 1.12-13

   2. พันธกิจของพระเยซูในกาลิลี (บทที่ 1.14-6.29)

                2.1 พันธกิจในกาลิลีช่วงต้นๆ (บทที่ 1.14-3.12)
                               
                                ก. การทรงเรียกสาวกคนแรก                                                บทที่ 1.14-20
                                ข. การอัศจรรย์ในคาเปอรนาอูม                                            บทที่ 1.21-34
                                ค. การเดินทางประกาศทั่วกาลิลี                                           บทที่ 1.35-45
                                ง. พันธกิจในคาเปอรนาอูม                                                    บทที่ 2.1-22
                                จ. ข้อโต้แย้งเรื่องวันสะบาโต                                                 บทที่ 2.23-3.12

                2.2 พันธกิจในกาลิลีช่วงท้ายๆ (บทที่ 3.13-6.29)

                                ก. การเลือกสาวกทั้ง 12 คน                                                  บทที่ 3.13-19
                                ข. การสอนในคาเปอรนาอูม                                                  บทที่ 3.20-35
                                ค. คำอุปมาเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า                                     บทที่ 4.1-34
                                ง. การเดินทางข้ามทะเลกาลิลี                                              บทที่ 4.35-5.20
                                จ. การอัศจรรย์ต่างๆที่กาลิลี                                                  บทที่ 5.21-43
                                ฉ. คนในเมืองไม่เชื่อพระองค์                                                บทที่ 6.1-6
                                ช. ทีมอัครสาวกประกาศในกาลิลี                                          บทที่ 6.7-13
                                ซ. การตอบสนองของกษัตริย์เฮโรด                                     บทที่ 6.14-29

   3. การถอนตัวจากกาลิลี (บทที่ 6.30-9.32)

                 3.1 สู่ฝั่งตะวันออกของทะเลกาลิลี                                                       บทที่ 6.30-52
                 3.2 สู่ฝั่งตะวันตกของทะเลกาลิลี                                                         บทที่ 6.53-7.23
                 3.3 สู่โฟนีเซีย                                                                                      บทที่ 7.24-30
                 3.4 สู่แคว้นดีคาโพลิส                                                                          บทที่ 7.31-8.10
                 3.5 สู่เมืองซีซารียาฟิลิปปี                                                                    บทที่ 8.11-9.32

   4. พันธกิจสุดท้ายในกาลิลี (บที่ 9.33-50)

   5. พันธกิจของพระเยซูในยูเดียและเพอเรีย (บทที่ 10)

                5.1 คำสอนเกี่ยวกับการหย่าร้าง                                                             บทที่ 10.1-12
                5.2 คำสอนเกี่ยวกับเด็ก                                                                         บทที่ 10.13-16
                5.3 เศรษฐีหนุ่ม                                                                                      บทที่ 10.17-31
                5.4 คำทำนายเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์                                                   บทที่ 10.32-34
                5.5 คำขอของสาวก 2 คน                                                                       บทที่ 10.35-45
                5.6 การรักษาดวงตาของบารทิเมอัส                                                      บทที่ 10.46-52

  6. สัปดาห์สุดท้ายของพระเยซู (บทที่ 11.1-11)

                6.1 การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม                                                             บทที่ 11.1-11
                6.2 การชำระพระวิหาร                                                                           บทที่ 11.12-19
                6.3 การโต้แย้งกับผู้นำชาวยิว                                                                บทที่ 11.20-12.44
                6.4 คำสอนเกี่ยวกับยุคสุดท้าย                                                              บทที่ 13
                6.5 การเจิมพระเยซู                                                                               บทที่ 14.1-11
                6.6 การถูกจับ สอบสวนและการสิ้นพระชนม์                                          บทที่ 14.12-15.47

  7. การคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ (บทที่ 16)

3.  บทสรุป

                ข่าวประเสริฐไม่ได้ให้หลักประกันว่าจะไม่มีความยากลำบากและการข่มเหงเกิดขึ้นในชีวิตของคุณและก็ไม่ได้รับรองว่าคุณจะไม่สูญเสียเพื่อน ครอบครัว บ้านหรือความมั่งคั่งของคุณไปและแม้แต่ชีวิตของคุณเอง แต่ข่าวประเสริฐยืนยันว่าสิ่งที่คุณเสียไปเพราะเห็นแก่ความเชื่อและข่าวประเสริฐ คุณจะได้รับการตอบแทนหลายเท่านัก

 ชีวิตที่ต้องเสียไปไม่ใช่เรื่องที่น่าเศร้าที่สุด แต่การมีชีวิตที่ยืนยาวโดยอยู่อย่างไร้ความหมายและอยู่เพื่อตนเองเท่านั้นต่างหากที่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุด คนอย่างนั้นจะใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังและต้องตายไปโดยไม่เกิดประโยชน์อันใด

                 การที่เรามีความกล้าที่จะเชื่อและประกาศข่าวประเสริฐ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อศรัทธาและรู้ว่า ไม่ว่าเราจะเสียสละสิ่งใด สิ่งนั้นจะคุ้มค่าเสมอเพราะพระเจ้าทรงยืนยันเช่นนั้น

     ***     สำหรับข่าวประเสริฐ - จงเชื่อ    เสียสละเพื่อ    และประกาศออกไป   ***
 
 
 
 

No comments:

Post a Comment