Tuesday, October 29, 2013

พระธรรมโรม


1.  เบื้องหลังการเขียน

                1.1  ผู้เขียน  อัครฑูตเปาโลเป็นผู้เขียน (1.1) โดยมีผู้ช่วยที่ชื่อเทอร์ทิอัส (16.22 ใช้ว่า เทอร์ทูลลัส) เป็นผู้บันทึกตามคำบอกของเปาโล

                1.2  จุดประสงค์  เปาโลต้องการที่จะไปเยี่ยมกรุงโรมเป็นอย่างมาก (19.21, รม 1.10-11) และท่านหวังไว้ว่าจะมีโอกาสประกาศข่าวประเสริฐจากกรุงโรมไปจนถึงสเปน (15.24,28) แต่สถานการณ์ยังไม่อำนวยให้ทำเช่นนั้นได้ เพราะท่านมองเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงเร้าให้ท่านนำเงินถวายที่รวบรวมได้จากคริสตจักรต่างๆในประเทศกรีซ เพื่อนำไปให้พี่น้องที่ประสบทุกข์ยากที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านจึงกล่าวว่าไม่เพียงแต่พร้อมที่จะไปเท่านั้น แต่ยังพร้อมที่จะตายที่นั่นด้วย (20.22, 21.13)และเพราะเหตุที่ท่านมีความคิดเช่นนี้อันเป็นผลเนื่องมาจากการที่ท่านทราบว่าพวกยิวกำลังปองร้ายหมายเอาชีวิตของท่าน ซึ่งการไปเยรูซาเล็มนั้นอาจจะเกิดเหตุร้ายขึ้นก็ได้ ท่านจึงไม่แน่ใจว่าความหวังลึกๆที่จะไปกรุงโรมนั้นมีโอกาสเป็นจริงได้หรือไม่ แต่ท่านก็ยังหวังว่าท่านจะได้ไป ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ส่งไปถึงพี่น้องที่โรม เพื่ออธิบายให้พวกเขาเข้าใจแก่นแท้ของข่าวประเสริฐตามที่พระเจ้าได้ทรงสำแดงแก่ท่าน ถึงแม้ว่าพวกเขาไม่ได้ยินจากปากอัครฑูตคนใดมาก่อน พวกเขาก็จะได้รับรากฐานอันเดียวกันกับคริสตชนทั่วๆไป และอีกประการหนึ่งนั้น เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงคริสตจักรโรมก็คงเพื่อจะสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา เนื่องจากท่านยังไม่เคยมาที่คริสตจักรแห่งนี้ และท่านก็หวังว่าหากท่านได้มายังโรมจริงๆแล้ว พี่น้องในคริสตจักรโรมจะสนับสนุนท่านและทีมงานในการเดินทางไปประกาศที่สเปน (15.24)

     เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ท่านต้องการอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของคนยิวและคนต่างชาติในแผนการแห่งความรอดและการไถ่ของพระเจ้า คริสเตียนชาวยิวกำลังมีปัญหาและถูกปฏิเสธจากคริสเตียนชาวต่างชาติซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของคริสตจักร (14.1) เนื่องจากคนยิวนั้นยังติดอยู่กับการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์บางอย่างของธรรมบัญญัติของโมเสส และถือวันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่คนต่างชาตินั้นไม่ได้นับถือ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับสมาชิกชาวยิวและเกิดการโต้แย้งกันบ่อยครั้ง เปาโลจึงต้องการอธิบายถึงความสำคัญและความเกี่ยวข้องของชาวยิวกับแผนการของพระเจ้า เพื่อให้คนทั้งสองกลุ่มเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน

                1.3  ผู้รับ  ใน 1.7,15 ระบุชัดเจนว่ากลุ่มคริสเตียนในกรุงโรม เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่เปาโลต้องการจะเขียนถึง เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในจดหมายและสถานการณ์ที่ควรจะเป็นไปในกรุงโรม เชื่อว่ากลุ่มคริสตชนที่นั่นประกอบด้วย ชาวยิว ชาวต่างชาติที่เข้าจารีตยิว และขาวต่างชาติทั่วไป ชาวยิวที่นั่นแม้จะเคยถูกขับไล่ออกจากกรุงโรมหลายครั้ง เช่น ในปี ค.ศ.49 ถูกจักรพรรดิ์คลาวดิอัสไล่ (18.2) แต่ชาวยิวที่เหลือก็ยังคงมีเป็นจำนวนมากในกรุงโรม และยังมีการติดต่อกับคนในเยรูซาเล็มอยู่เสมอ เป็นไปได้ว่าผู้ก่อตั้งคริสตจักรโรมบางคน เป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันเพ็นเทคอสต์ด้วย (1.10-11)

                1.4  วันเวลาที่เขียน   เขียนขึ้นที่เมืองโครินธ์ในราว ค.ศ.57-58 ซึ่งเป็นช่วงต้นๆที่จักรพรรดิ์เนโรเริ่มปกครอง (เนโรเริ่มปกครองอาณาจักรโรมเมื่อประมาณ ปี ค.ศ.54 หลังคลาวดิอัสสิ้นพระชนม์) ขณะนั้นเปาโลกำลังเตรียมตัวเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อนำเงินถวายไปมอบให้พี่น้องคริสเตียนที่นั่นซึ่งกำลังประสบกับความทุกข์ยาก ช่วงที่เขียนนั้นเปาโลและทีมงานไม่เคยไปกรุงโรมมาก่อนเลย

                1.5  ลักษณะพิเศษ 
                 - เป็นจดหมายที่เป็นระบบมากที่สุดของเปาโล ดูเป็นศาสนศาสตร์มากกว่าจดหมาย
                - เน้นที่หลักคำสอนของคริสเตียน เรื่อง ความบาป ความรอด พระคุณ ความเชื่อ ความชอบธรรม  การชำระให้บริสุทธิ์ การไถ่ ความตายและการเป็นขึ้นจากตาย
                 - อ้างอิงพระคัมภีร์เดิมเป็นอย่างมาก และใช้เป็นข้อโต้แย้งเพื่อสนับสนุนการเขียนของท่าน
                - มีความห่วงใยต่อคนยิวอย่างลึกซึ้ง   เขียนทั้งสภาพปัจจุบัน   ความสัมพันธ์กับคนต่างชาติ  และความรอดของคนยิวในอนาคต

2.  โครงเรื่องของพระธรรมโรม

                1. คำนำ  (บทที่ 1.1-15)

                2. หัวเรื่อง ความชอบธรรมจากพระเจ้า  (บทที่ 1.16-17)

                3. ความบาปของมวลมนุษย์ชาติ  (บทที่ 1.18-3.20)
                    3.1 ความบาปของคนต่างชาติ                                                     บทที่ 1.18-32
                    3.2 ความบาปของชนชาติยิว                                                           บทที่ 2.1-3.8
                    3.3 สรุปความบาปของมนุษย์ทั้งปวง                                                บทที่ 3.9-20

                4. ความหมายของความชอบธรรม การทำให้เป็นผู้ชอบธรรม  (บทที่ 3.21-5.21)
                    4.1 ผ่านทางองค์พระเยซูคริสต์                                                        บทที่ 3.21-26
                    4.2 รับโดยความเชื่อ  (บทที่ 3.27-4.25)
                             - รากฐานแห่งความเชื่อ                                                         บทที่ 3.27-31
                             - ภาพเปรียบเทียบแห่งความเชื่อ                                            บทที่ 4
                    4.3 ผลแห่งความชอบธรรม                                                             บทที่ 5.1-11
                    4.4 ความชอบธรรมของมนุษย์แตกต่างจากพระเจ้า                            บทที่ 5.12-21

                5. การประทานความชอบธรรม การชำระให้บริสุทธิ์   (บทที่ 6-8)
                    5.1 เป็นอิสระจากการปกครองของบาป                                              บทที่ 6
                    5.2 เป็นอิสระจากการพิพากษาของธรรมบัญญัติ                                  บทที่ 7
                    5.3 ชีวิตในฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณ                                              บทที่ 8

                6. การปกป้องความชอบธรรมของพระเจ้า-ปัญหาเรื่องการปฏิเสธชาวยิว  (บทที่ 9-11)
                    6.1 ความยุติธรมของการปฏิเสธ                                                         บทที่ 9.1-29
                    6.2 สาเหตุของการปฏิเสธ                                                              บทที่ 9.30-10.21
                    6.3 ความจริงที่แก้ไขความยุ่งยาก  (บทที่ 11)
                            - คนยิวไม่ได้ถูกปฏิเสธทั้งหมด                                           บทที่11.1-10
                            - ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง                                       บทที่ 11.11-24
                            - พระประสงค์สูงสุดของพระเจ้าคือพระเมตตา                   บทที่ 11.25-36

                7. การดำเนินชีวิตในความชอบธรรม  (บทที่ 12-15.13)
                    7.1 ในพระกาย คริสตจักร                                                                บทที่ 12
                    7.2 ในโลกภายนอก                                                                              บทที่ 13
                    7.3 ท่ามกลางคริสเตียนที่อ่อนแอและเข้มแข็ง                                    บทที่ 14-15.13

                8. สรุป   (บทที่ 15.14-33)

                9. คำแนะนำและคำทักทาย  (บทที่ 16)

3. บทสรุป

                 - เชื่อในความชอบธรรมของพระคริสต์ เพื่อจะมีอำนาจเต็มขนาดเหนือความบาป
                - มีชีวิตตามความชอบธรรมของพระคริสต์ เพื่อจะได้รับใช้พระองค์อย่างเต็มที่คุณอยู่ในกลุ่มใด
                         1. คนที่ยังไม่ตระหนักว่าตนเป็นคนบาป (กลับไปอ่าน โรม 1-3)
                         2. คนที่คิดวาเป็นคนชอบธรรมได้โดยการประพฤติ (กลับไปอ่าน โรม 3-5)
                         3. คริสเตียนที่เชื่อในการไถ่ของพระคริสต์ แต่รู้สึกว่ามีบาปบางอย่างที่ไม่สามารถเอาชนะได้ เขาต้องเข้าใจเรื่องฤทธิ์เดชของข่าวประเสริฐอย่างถี่ถ้วน (กลับไปอ่าน โรม 6-8)
                         4.คนที่กังขาในความยุติธรรมของพระเจ้าในเรื่องการทรงเลือก(กลับไปอ่าน โรม 9-11)
                         5. คริสเตียนที่เชื่อในข่าวประเสริฐอย่างบริบูรณ์      แต่มุ่งเน้นเรื่องการอัศจรรย์ของพระวิญญาณ   หรือกิจกรรมของคริสตจักรเท่านั้น พวกเขาจำต้องให้ความสนใจเรื่องการสามัคคีธรรมกับ  ผู้อื่นด้วย (กลับไปอ่าน โรม 12-15)

   *** โลกนี้หลงใหลในอำนาจที่จะเอาชนะธรรมชาติและทำให้คนอื่นมารับใช้เขา แต่พระคัมภีร์สอนเราว่าให้ใช้ฤทธิ์เดชของพระเจ้าเอาชนะความบาปและรับใช้ผู้อื่น ***



 

No comments:

Post a Comment