Thursday, November 7, 2013

พระธรรมวิวรณ์


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  ผู้เขียนพระธรรมเล่มนี้คือ ยอห์น อัครสาวก (1.4,9, 22.8) ท่านเรียกตัวท่านเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เป็นพี่น้องและเพื่อนร่วมการยากลำบากกับคริสตชน โดยท่านได้ตกเป็นเชลยที่เกาะปัทมอส เพราะประกาศเรื่องของพระเยซูคริสต์ (1.1,9) ยอห์นรู้จักคริสตจักรทั้งเจ็ดในแคว้นเอเชียและได้เขียนถึงพวกเขาด้วยสิทธิอำนาจที่ได้รับจากพระเจ้า ซึ่งพวกเขาก็ยอมรับ และมีหลักฐานที่ยืนยันว่าอัครสาวกยอห์นเป็นผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์ เพราะมีบางคำที่ยอห์นมักใช้เสมอทั้งในพระกิตติคุณยอห์นและจดหมายฝากของท่าน เช่น พระเมษโปดก (ยน 1.29, วว 5.6,12)  พระวาทะ (ยน 1.1, 17.17, 1 ยน 1.1)  น้ำธำรงชีวิต (ยน 4.10-11, วว 22.1)  ชัยชนะ (ยน 16.31, 1 ยน 2.13)  ประพฤติตาม (ยน 8.5, 14.15,23, วว 2.6)  แท้สัตย์จริง (ยน 1.9, 15.1, 1 ยน 2.8)  พยาน (ยน 1.7, 1 ยน 5.9, วว 1.5)  พระสิริ (ยน 1.14, วว 1.6, 4.9)  ชีวิต (ยน 1.4, 1 ยน 1.1) 

               ยอห์นเป็นคนยิวที่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์เดิมเป็นอย่างดี ท่านรับหน้าที่เป็นผู้เผยพระวจนะ (10.11) เนื้อหาในหนังสือวิวรณ์ส่วนใหญ่เป็นคำพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต (1.8, 22.7)

        1.2  จุดประสงค์   ยอห์นเขียนพระธรรมเล่มนี้เพื่อหนุนใจคริสเตียนที่กำลังเผชิญการข่มเหงอย่างหนักจาก ลัทธิบูชาจักรพรรดิ เนื่องจากในขณะนั้นอาณาจักรโรมันได้เริ่มบังคับให้อาณาจักรกราบไหว้บูชาจักรพรรดิเป็นเทพเจ้า สำหรับคริสเตียนที่เชื่อถือว่าพระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและไม่ยอมกราบไหว้ ก็ต้องเผชิญกับการข่มเหงอย่างรุนแรง ยอห์นจึงได้เขียนพระธรรมเล่มนี้ เพื่อหนุนใจให้คริสเตียนยืนหยัดมั่นคงในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามจากลัทธิบูชาจักรพรรดิ  ท่านได้แนะนำผู้เชื่อว่าฉากสุดท้ายระหว่างพระเจ้ากับซาตานใกล้เข้ามาแล้ว ซาตานจะยิ่งเพิ่มการข่มเหงต่อคนของพระเจ้า ซึ่งพวกเขาต้องยืนหยัดอดทนแม้อาจจะต้องตาย พวกเขาได้รับการป้องกันอันตรายฝ่ายวิญญาณและจะมีชัยชนะอย่างเด็ดขาด เมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จกลับมา คนชั่วร้ายจะถูกทำลายนิรันดร์ คนของพระเจ้าจะเข้าสู่สง่าราศีถาวรนิรันดร์เช่นกัน สิ่งที่ต้องทำก็คือ อดทนและยึดความเชื่อไว้ให้มั่น นอกจากนั้นยอห์นยังได้เขียนเป็นลักษณะคำพยากรณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

พระธรรมวิวรณ์จึงเป็นพระธรรมที่สำคัญสำหรับผู้เชื่อ คือ
1. พระเจ้าได้ทรงสำแดงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นใน ปฐมกาล 1-2 จะสำเร็จครบบริบูรณ์ตาม วิวรณ์ 21-22 เพราะทั้งในหนังสือปฐมกาลและวิวรณ์ต่างกล่าวถึงต้นไม้แห่งชีวิต โลกที่ปราศจากบาป และพระเจ้าทรงสถิตอยู่กับประชากรของพระองค์
2. วิวรณ์เขียนขึ้นสำหรับคริสตจักรเล็กและอ่อนแอที่มีอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งกำลังเผชิญกับการสอนผิดภายในคริสตจักรเองและกำลังถูกข่มเหงจากภายนอก สภาพของคริสตจักรหลายแห่งในปัจจุบันก็มีลักษณะคล้ายกับคริสตจักรในสมัยนั้น
3. เป็นการสำแดงของพระเจ้าเกี่ยวกับเหตุการณ์หลายอย่างที่จะเกิดขึ้นในยุคสุดท้าย
4. มีคำสัญญาว่า ผู้ที่อ่านและเชื่อฟังจะได้รับพระพรและความยินดี

       1.3  ผู้รับ  พระธรรมวิวรณ์ได้เขียนถึงคริสตจักรทั้งเจ็ดในแคว้นเอเชีย (1.4) เนื่องจากจุดที่ตั้งของคริสตจักรทั้งเจ็ดนั้นตั้งอยู่บนเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังเมืองต่างๆได้สะดวก เราจึงพอจะมองเห็นได้ว่า ยอห์นมีความตั้งใจที่จะให้คริสตจักรทั้งเจ็ดแห่งเป็นศูนย์กลางในการส่งต่อพระธรรมฉบับนี้ไปยังคริสตจักรในเมืองอื่นๆ ทำให้ไม่มีข้อสงสัยใดๆว่า พระธรรมเล่มนี้แท้จริงแล้วก็เขียนเพื่อคริสตจักรทั้งหมด เนื่องจากว่าการข่มเหงนั้นเกิดขึ้นทั่วไป

       1.4  เวลาที่เขียน   ขณะที่เขียนนั้น พวกคริสตชนในแคว้นเอเชียกำลังถูกข่มเหง รับความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น (1.9, 17.6) ตั้งแต่ราว ค.ศ.64 เป็นต้นมา จักรพรรดิเนโรได้ข่มเหงคริสเตียนทั่วอาณาจักรโรมัน และเชื่อกันว่าทั้งอัครสาวกเปโตรและอัครทูตเปาโลก็ถูกประหารในช่วงนี้
                แต่นักพระคัมภีร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ยอห์นเขียนพระธรรมวิวรณ์ในสมัยของ จักรพรรดิโดมิเทียน (คศ.81-96) จักรพรรดิองค์นี้ได้ตั้งพระนามของพระองค์ว่า ‘พระผู้ช่วยให้รอด’ และ ‘จอมเจ้านาย’ มีรูปของจักรพรรดิตั้งอยู่ทั่วอาณาจักรโรมัน ประชาชนถูกบังคับให้ถวายเครื่องบูชาต่อรูปนั้น และต้องกราบไหว้จักรพรรดิเป็นจอมเจ้านาย คริสเตียนถูกประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก บ้างก็ถูกทรมาน บ้างก็ถูกจับไปเป็นเชลยตามแคว้นต่างๆทั่วอาณาจักรโรมัน (โครินธ์ 8.6) เนื่องจากการยืนหยัดไม่ยอมกราบไหว้บูชาจักรพรรดิ เพราะพวกเขานมัสการพระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียว  คริสตจักรที่กล่าวถึงในบทที่ 2-3 นั้นเป็นสภาพคริสตจักรที่ก่อตั้งมานานแล้ว จึงมีความเชื่อว่ายอห์นได้เขียนพระธรรมเล่มนี้ในปี ค.ศ.95 ที่เกาะปัทมอส ซึ่งท่านถูเนรเทศไปอยู่ที่นั่นเนื่องจากการประกาศพระเยซูคริสต์ของท่าน

       1.5  ลักษณะพิเศษ 
                1. ภาษาเต็มไปด้วยภาพพจน์และสัญลักษณ์ แตกต่างจากพระธรรมเล่มอื่นๆ
                2. เต็มไปด้วยนิมิตต่างๆมากมาย มีส่วนคล้ายกับพระธรรมเอเสเคียลและแดเนียล
                3. กล่าวถึงแผนการของพระเจ้าบางประการที่พระธรรมเล่มอื่นๆไม่ได้กล่าวถึง เช่น
                                3.1 การที่พระเจ้าเสด็จกลับมาครองโลกนี้โดยฤทธานุภาพของพระองค์ และทำให้โลกนี้กลายเป็นอาณาจักรของพระองค์ (11.15)
                                3.2 การมาของแผ่นดินของพระเจ้า ที่มาโดยผู้มีชัยชนะ (12.10) ในขณะที่พระธรรมเล่มอื่นๆกล่าวว่า แผ่นดินของพระเจ้าได้นำมาแล้วโดยพระเยซู (มธ 12.28, ลก 17.21) ในด้านหนึ่งแผ่นดินของพระเจ้าอยู่กับผู้เชื่อแล้วซึ่งก็คือคริสตจักร  แต่อีกด้านหนึ่งแผ่นดินของพระเจ้าจะมาพร้อมกับผู้ที่มีชัยชนะ
                4. พระคริสต์กับผู้ที่มีชัยชนะจะครอบครองนานาประเทศในอาณาจักรพันปี (2.26-27, 12.5, 20.4-6)
                  5. คริสตจักรเป็นคันประทีปที่ส่องสว่างและที่สุดจะเป็นกรุงเยรูซาเล็มใหม่
                 6. คำกริยาและคำบรรยายไม่ได้ใช้คำในรูปของอนาคต แต่ใช้เป็นอดีต แสดงว่าสิ่งที่บันทึกนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ในสายพระเนตรพระเจ้ามันเป็นอดีตแล้ว แผนงานของพระเจ้าเกิดขึ้นสำเร็จแล้ว
                7. นิมิตและเหตุการณ์ต่างๆในพระธรรมวิวรณ์ไม่ได้เกิดขึ้นตามลำดับก่อนหลังทุกอย่าง  บางคนกล่าวว่า เพราะท่านยอห์นเป็นคนตะวันออก (เอเชีย) จึงไม่ได้สนใจเรื่องลำดับเวลามากนัก
                8. อ้างอิงพระคัมภีร์เดิมมากถึง 285 ข้อ (พระธรรมมัทธิวอ้างถึง 92 ข้อ, พระธรรมฮีบรูอ้างถึง 102 ข้อ)
                 9. หมายเลข  ‘7’ ถูกใช้อย่างมากจนเป็นที่สะดุดตา
                10. เป็นพระธรรมเล่มเดียวที่มีคำสัญญาว่า จะให้พรแก่คนที่อ่าน ฟัง และถือรักษาข้อความที่เขียนไว้นี้ (1.3) แต่แช่งสาปผู้ที่ตัดหรือเพิ่มเติมข้อความอื่นใดเข้าไป (22.19)

2.  โครงเรื่องของพระธรรมวิวรณ์

                1. คำนำ   (บทที่ 1.1-8)
                                1.1 บทนำ                                                                              บทที่ 1.1-3
                                1.2 คำขอบคุณ                                                                        บทที่ 1.4-8
                2. พระเยซูท่ามกลางคริสตจักรทั้งเจ็ด                                                  บทที่ 1.9-20
                3. จดหมายถึงคริสตจักรทั้งเจ็ด  (บทที่ 2-3)
                                3.1 คริสตจักรเอเฟซัส                                                            บทที่ 2.1-7
                                3.2 คริสตจักรสเมอร์นา                                                          บทที่ 2.8-11
                                3.3 คริสตจักรเปอร์กามัม                                                       บทที่ 2.12-17
                                3.4 คริสตจักรธิยาทิรา                                                            บทที่ 2.18-29
                                3.5 คริสตจักรซาร์ดิส                                                             บทที่ 3.1-6
                                3.6 คริสตจักรฟิลาเดลเฟีย                                                     บทที่ 3.7-13
                                3.7 คริสตจักรเลาดีเซีย                                                           บทที่ 3.14-22
                4. พระที่นั่ง – หนังสือม้วน และพระเมษโปดก (บทที่ 4-5)
                                4.1 พระที่นั่งในสวรค์                                                            บทที่ 4
                                4.2 หนังสือม้วนที่มีตราประทับเจ็ดดวง                                  บทที่ 5.1-5
                                4.3 พระเมษโปดก                                                                บทที่ 5.6-14
                5. ตราทั้งเจ็ด (บทที่ 6.1-8.1)
                                5.1 ตราดวงที่หนึ่ง - ม้าสีขาว                                                 บทที่ 6.1-2
                                5.2 ตราดวงที่สอง – ม้าสีแดง                                                 บทที่ 6.3-4
                                5.3 ตราดวงที่สาม - ม้าสีดำ                                                    บทที่ 6.5-6
                                5.4 ตราดวงที่สี่ – ม้าสีกะเลียว(สีหม่น)                                 บทที่ 6.7-8
                                5.5 ตราดวงที่ห้า – วิญญาณใต้แท่นบูชา                               บทที่ 6.9-11
                                5.6 ตราดวงที่หก – แผ่นดินไหวใหญ่                                   บทที่ 6.12-17
                                5.7 การประทับตราคน 144,000 คน                                      บทที่ 7.1-8
                                5.8 มวลชนจากทุกประชาชาติ                                              บทที่ 7.9-17
                                5.9 ตราดวงที่เจ็ด – ความเงียบในสวรรค์                             บทที่ 8.1
                6. แตรทั้งเจ็ด  (บทที่ 8.2-11-19)
                                6.1 คำนำ                                                                                 บทที่ 8.2-5
                                6.2 แตรคันที่หนึ่ง – ลูกเห็บและไฟปนด้วยเลือด                    บทที่ 8.6-7
                                6.3 แตรคันที่สอง – ภูเขาใหญ่ถูกทิ้งลงทะเล                       บทที่ 8.8-9
                                6.4 แตรคันที่สาม – ดาวใหญ่เป็นเปลวไฟ                           บทที่ 8.10-11
                                6.5 แตรคันที่สี่ – ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวถูกทำลาย     บทที่ 8.12-13
                                6.6 แตรคันที่ห้า – ภัยพิบัติจากตั๊กแตน                                  บทที่ 9.1-12
                                6.7 แตรคันที่หก – การปลดปล่อยทูตสวรรค์ 4 องค์           บทที่ 9.13-21
                                6.8 ทูตสวรรค์และหนังสือม้วนเล็ก                                      บทที่ 10
                                6.9 พยานทั้งสอง                                                                    บทที่ 11.1-14
                                6.10 แตรคันที่เจ็ด – การพิพากษาและบำเหน็จรางวัล         บทที่ 11.15-19
                7. บุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ  (บทที่ 12-14)
                    7.1 ผู้หญิงและพญานาค                                                         บทที่ 12
                    7.2 สัตว์ร้ายสองตัว                                                                บทที่ 13
                    7.3 พระเมษโปดกและคน 144,000 คน                                บทที่ 14.1-5
                    7.4 การเก็บเกี่ยวแผ่นดินโลก                                                บทที่ 14.6-20
    8. ขันแห่งพระพิโรธทั้งเจ็ด  (บทที่ 15-16)
                    8.1 บทนำ – บทเพลงของโมเสสและทูตสวรรค์                  บทที่ 15
                    8.2 ขันใบที่หนึ่ง – แผล ฝีร้ายทั้งตัว                                      บทที่ 16.1-2
                    8.3 ขันใบที่สอง – ทะเลกลายเป็นเลือด                                บทที่ 16.3
                    8.4 ขันใบที่สาม – แม่น้ำและน้ำพุกลายเป็นเลือด                  บทที่ 16.4-7
                    8.5 ขันใบที่สี่ – ดวงอาทิตย์คลอกมนุษย์ด้วยไฟ                 บทที่ 16.8-9
                    8.6 ขันใบที่ห้า – ความมืด                                                     บทที่ 16.10-11
                    8.7 ขันใบที่หก – แม่น้ำยูเฟรติสแห้ง                                    บทที่ 16.12-16
                    8.8 ขันใบที่เจ็ด – แผ่นดินไหวอย่างร้ายแรง                         บทที่ 16.17-21
9. บาบิโลน – หญิงแพศยาคนสำคัญ  (บทที่ 17.1-19.5)
                    9.1 คำบรรยายถึงกรุงบาบิโลน                                              บทที่ 17
                    9.2 การล่มสลายของบาบิโลน                                               บทที่ 18
                    9.3 คำสรรเสริญพระเจ้าเพราะบาบิโลนล่มสลาย                  บทที่ 19.1-5
10. คำสรรเสริฐในงานสมรสของพระเมษโปดก                                  บทที่ 19.6-10
11. การเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์                                                  บทที่ 19.11-21
12. ยุคพันปี                                                                                            บทที่ 20.1-6
13. จุดจบของซาตาน                                                                             บทที่ 20.7-10
14. การพิพากษาที่พระที่นั่งใหญ่สีขาว                                                 บทที่ 20.11-15
15. สวรรค์ใหม่ แผ่นดินโลกใหม่ เยรูซาเล็มใหม่                                 บทที่ 21.1-22.5
16. สรุป                                                                                    บทที่ 22.6-21         

3.  บทสรุป

            ยอห์นได้จบพระธรรมวิวรณ์ด้วยคำเตือนว่าอย่าให้ผู้ใดเพิ่มเติมหรือลดทอนข้อความในหนังสือนี้ เราควรจะพร้อมเสมอที่จะนำหลักการของพระคัมภีร์ไปใช้ในชีวิต ในการศึกษาพระวจนะของพระเจ้านั้นไม่มีคำอธิบายหรือการตีความใดๆของมนุษย์ที่ควรจะยกให้มีสิทธิอำนาจเทียบเท่ากับพระคัมภีร์

                เราไม่รู้วันหรือเวลา แต่แน่นอนพระเยซูจะเสด็จมาในไม่ช้านี้ ในเวลาที่ใครๆไม่คาดคิด นี่เป็นข่าวดีสำหรับคนที่เชื่อวางใจในพระองค์ แต่เป็นข่าวร้ายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ปฏิเสธพระองค์ซึ่งจะตกอยู่ในการพิพากษา คำว่า ‘ในไม่ช้า’ หมายถึงขณะใดขณะหนึ่งก็ได้ เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับพระองค์ เตรียมตัวสำหรับการเสด็จกลับมาของพระองค์เสมอ

                พระธรรมวิวรณ์ปิดฉากประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในที่ที่พระธรรมปฐมกาลเปิดฉากขึ้น คือในเมืองบรมสุขเกษม แต่มีลักษณะเด่นที่แตกต่างอย่างหนึ่งคือในวิวรณ์นั้นความชั่วร้ายได้สูญสิ้นชั่วนิรันดร์ ปฐมกาลบรรยายถึงอาดัมและเอวาดำเนินกับพระเจ้าและสนทนากับพระองค์ พระธรรมวิวรณ์บรรยายว่าคนนมัสการพระเจ้าหน้าต่อหน้า ปฐมกาลพูดถึงสวนที่มีงูชั่วร้าย วิวรณ์บรรยายถึงนครสมบูรณ์แบบที่ไม่มีความชั่วร้าย สวนเอเดนถูกทำลายโดยความบาป แต่เมืองบรมสุขเกษมได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในนครเยรูซาเล็มใหม่

                จุดเริ่มต้นและจุดจบ

                พระคัมภีร์บันทึกจุดเริ่มต้นและจุดจบของโลกไว้สำหรับเรา ในพระคัมภีร์เราจะพบเรื่องราวของมนุษย์ชาติตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ คือตั้งแต่ตกลงในบาปจนถึงการไถ่บาป และการที่พระเจ้ามีชัยเหนือความชั่วร้ายในที่สุด                      

 
                             ปฐมกาล                                                                   วิวรณ์
                พระเจ้าทรงสร้างดวงอาทิตย์                                 ไม่จำเป็นต้องมีดวงอาทิตย์
                ซาตานมีชัยชนะ                                                     ซาตานถูกพิชิต
                ความบาปเข้ามาสู่มนุษย์ชาติ                                 ความบาปถูกขับไล่ออกไป
                คนวิ่งหนีหลบซ่อนจากพระเจ้า                            ผู้คนได้รับการเชื้อเชิญให้อยู่กับพระเจ้าชั่วนิจนิรันดร์
                คนถูกสาปแช่ง                                                       การสาปแช่งถูกขจัดออกไป
                หลั่งน้ำตาด้วยความเศร้าโศกที่ทำบาป                 ไม่มีความบาป น้ำตาและความเศร้าโศกอีกต่อไป
                สวนเอเดนและแผ่นดินโลกถูกแช่งสาป                              นครของพระเจ้าได้รับสง่าราศี โลกถูกสร้างขึ้นใหม่
                ห้ามกินผลไม้จากต้นไม้แห่งชีวิต                         ประชากรของพระเจ้ากินผลไม้จากต้นไม้แห่งชีวิตได้
                สูญเสียเมืองบรมสุขเกษม                                      ได้เมืองบรมสุขเกษมคืนมา
                คนถูกกำหนดให้ต้องตาย                                     ความตายถูกพิชิต ผู้เชื่อได้อยู่กับพระเจ้าชั่วนิจนิรันดร์
 
 

  พระธรรมวิวรณ์จบลงด้วยการร้องขออย่างเร่งด่วนว่า ‘องค์พระเยซูเจ้า...โปรดเสด็จมาเถิด’

ในโลกแห่งปัญหา การกดขี่ข่มเหง ความชั่วร้ายและความเสื่อมทรามด้านศีลธรรม พระคริสต์ทรงเรียกเราให้ยืนหยัดอดทนในความเชื่อ ความเพียรพยายามของเราที่จะทำให้โลกดีขึ้นนั้นสำคัญ แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นเทียบไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงที่พระเยซูจะทรงนำเข้ามาเมื่อพระองค์เสด็จกลับมา พระองค์ผู้เดียวทรงควบคุมประวัติศาสตร์มนุษย์ อภัยบาป และจะสร้างโลกขึ้นใหม่ อีกทั้งนำสันติสุขอันยั่งยืนเข้ามา

                เหนือสิ่งอื่นใด พระธรรมวิวรณ์เป็นพระธรรมแห่งความหวัง จึงแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบนแผ่นดินโลก พระเจ้ายังทรงควบคุมอยู่ พระธรรมวิวรณ์สัญญาว่าความชั่วร้ายจะไม่ยั่งยืนอยู่เป็นนิตย์  และพรรณาให้เห็นถึงรางวัลอันยอดเยี่ยมที่คอยท่าทุกคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ และให้พระองค์เป็นพระผู้ไถ่และองค์พระผู้เป็นเจ้า

 

 

พระธรรม 3 ยอห์น


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  อัครสาวกยอห์นเป็นผู้เขียน

       1.2  จุดประสงค์ 
               เป็นจดหมายส่วนตัวที่ไม่ได้ส่งให้คริสตจักร เพราะมีผู้นำที่ชื่อว่า ดิโอเตรเฟส ใช้อำนาจเผด็จการไม่ต้อนรับผู้ประกาศ ท่านยอห์นได้เขียนจดหมายฉบับนี้หนุนใจกายอัสให้ยังคงต้อนรับผู้ประกาศ  อย่าเอาแบบอย่างดิโอเตรเฟส

       1.3  ผู้รับ    ผู้รับจดหมาย 3 ยอห์น เป็นชายที่ชื่อ กายอัส ในที่นี้ยอห์นไม่ได้บอกว่ากายอัสเป็นใคร มีตำแหน่งหรือสำคัญอย่างไรในคริสตจักร ในพระคัมภีร์ใหม่มีการกล่าวถึงกายอัสอยู่ 3 คน
                1. กายอัส แห่งมาซิโดเนีย ซึ่งอยู่กับเปาโลและอริสทาคัสในเหตุการณ์จลาจลที่เมืองอเฟซัส (กจ 19.29)
                2. กายอัส แห่ง เดอร์บี ซึ่งเป็นตัวแทนของคริสตจักรถือเงินเรี่ยไรไปช่วยคริสตจักรเยรูซาเล็ม (กจ 20.4)
                3. กายอัส แห่ง โครินธ์ มีจิตใจโอบอ้อมอารี เลี้ยงดูเปาโล ได้ชื่อว่าเป็นผู้บำรุงคริสตจักรทั้งหมด (โรม 16.23) เป็นคนเดียวกับที่เปาโลให้บัพติศมา ต่อมาได้เป็นบิชอฟคนแรกแห่งคริสตจักรในเมืองเธสะโลนิกา
                กายอัสในจดหมายฉบับนี้อาจเป็นหนึ่งในสามคนนี้หรือไม่ก็ได้ แต่ตามที่ยึดถือกันมานั้น กายอัส ใน จดหมาย 3 ยอห์นต่อมาได้เป็นบิชอฟแห่งเปอร์กามัม โดยยอห์นเป็นผู้แต่งตั้งให้ด้วยตัวเอง

       1.4  เวลาที่เขียน   เขียนในช่วงเวลาเดียวกันกับ 1 และ 2 ยอห์น คือจากเมืองเอเฟซัส ราวปี ค.ศ. 85-95

       1.5  ลักษณะพิเศษ
                1. เป็นจดหมายที่แสดงถึงสิทธิอำนาจของผู้เขียนที่มีต่อคริสตจักร แต่มีความเป็นส่วนตัวกับบางคนเป็นพิเศษ และแสดงให้เห็นว่ามีบางคนในคริสตจักรที่ไม่ยอมรับสิทธิอำนาจของยอห์นที่เป็นผู้เขียน
                2. เนื้อหาของจดหมายเน้นการให้กำลังใจคนที่ทำดี และต่อต้านคนที่มีชีวิตที่เป็นปัญหาของคริสตจักร
                3. ใช้สิทธิอำนาจ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความรักและความอ่อนโยน
                4. เน้นชีวิตที่ดำเนินตามสัจจะ อันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นคริสตียนแท้

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 3 ยอห์น

                1. คำทักทาย                                                           ข้อที่ 1-2
                2. การชมเชยกายอัส                                               ข้อที่ 3-8
                3. การตำหนิดิโอเตรเฟส                                        ข้อที่ 9-10
                4. คำหนุนใจกายอัส                                               ข้อที่ 11
                5. ตัวอย่างของเดเมตริอัส                                       ข้อที่ 12
                6. สรุป                                                                    ข้อที่ 13-14

3.  บทสรุป     การให้การต้อนรับผู้รับใช้พระเจ้าที่ต้องตระเวนเดินทางในสมัยนี้อาจมีไม่มากเหมือนในสมัยพระคัมภีร์ แต่ความต้องการในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ลดน้อยลงอย่างแน่นอน หลายคนอาจไม่ได้มาพักที่บ้านเรา แต่เราก็สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างให้พวกเขาได้ เช่น เลี้ยงอาหารที่บ้าน ช่วยขับรถพาไปทำธุระหรืออำนวยความสะดวก ช่วยซื้อของใช้ที่จำเป็นให้หรือช่วยสนับสนุนด้านปัจจัย เพื่อให้พวกเขามุ่งมั่นอยู่ในงานประกาศและรับใช้ โดยการทำเช่นนี้เราก็ได้แสดงความรักของพระเจ้าในทางปฏิบัติ และมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข่าวประเสริฐของพระเจ้าด้วย ใครจะไปรู้ เราอาจกำลังให้การต้อนรับฑูตสวรรค์โดยไม่รู้ตัวก็ได้ (ฮีบรู 13.2)
 
 
 

พระธรรม 2 ยอห์น


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  เชื่อและยอมรับว่าผู้เขียนคืออัครสาวกยอห์น  ท่านแทนตัวว่า ‘ผู้ปกครอง’ มีเหตุผลสนับสนุน คือ
                1. ความคล้ายคลึงของลีลาการเขียน รูปแบบของจดหมายฉบับนี้กับ 1 ยอห์น มีความคล้ายคลึงกัน
                2. จดหมาย 1 และ 2 ยอห์น มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน และกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกัน และกล่าวถึงอันตรายของผู้สอนเท็จเหมือนกัน
                3. จดหมายฉบับนี้สั้นมาก จึงไม่น่าจะมีใครหาเรื่องยุ่งยากเขียนขึ้นแล้วใส่ชื่อยอห์น

       1.2  จุดประสงค์   
                ในช่วง 2 ศตวรรษแรก พระกิตติคุณได้แพร่จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง จนเกิดคริสตจักรท้องถิ่นขึ้นมากมาย เป็นผลเนื่องมาจากการรับใช้ของคน 3 ประเภทด้วยกัน คือ
                1. อัครฑูต เป็นผู้ที่ติดตามพระเยซูและเป็นพยานถึงการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระองค์ อัครฑูตไม่อยู่ประจำคริสตจักรแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่จะเดินทางสอนพระวจนะและประกาศไปตามเมืองต่างๆ
                2. ผู้เผยพระวจนะหรือผู้ประกาศข่าวประเสริฐ จะไม่อยู่ประจำคริสตจักรแห่งใดแห่งหนึ่งเช่นกัน คนเหล่านี้จะได้รับการต้อนรับ เลี้ยงดูจากคริสตจักรต่างๆที่พวกเขาแวะเวียนไปถึง
                3.  ผู้ปกครอง เป็นตำแหน่งที่อยู่ตามคริสตจักรต่างๆ และดูแลคริสตจักร
 
                ดังนั้นการรับใช้เช่นนี้จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้  ยกเว้นพวกอัครฑุต เพราะเป็นที่ยอมรับของคริสตจักรต่างๆ และถือว่าคำสอนของเขามีสิทธิอำนาจสูงสุดในคริสตจักร แต่สำหรับผู้เผยพระวจนะที่เดินทางไปตามคริสตจักรต่างๆนั้น ได้รับสิทธิพิเศษและการเลี้ยงดูจากคริสตจักรอย่างดี     ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นได้เนื่องจากลัทธินอสติคระบาดในยุคนั้น พวกนี้ได้เดินทางไปตามคริสตจักรต่างๆ และรับการดูแลจากคริสตจักรและคริสเตียนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์  ดังนั้น  จดหมาย 2 ยอห์นนี้มีจุดประสงค์ของการเขียนคือ เพื่อต้องการเตือนคริสตจักรให้ระวังคนสอนเท็จ และได้ออกคำสั่งให้คริสตจักรอย่าต้อนรับคนเหล่านี้

       1.3  ผู้รับ    ยอห์นเขียนถึงผู้รับว่า ‘ท่านสุภาพสตรีที่ทรงเลือกไว้’ ซึ่งเป็นปัญหาที่นักวิชาการถกเถียงกันว่า  สตรีที่ทรงเลือกไว้นั้นคือใคร ??  ซึ่งมีการตีความหมายกัน 2 แบบ คือ
               1. ตีความหมายตามตัวอักษร ในกรณีนี้อาจจะหมายถึงสตรีคนใดคนหนึ่งที่เป็นที่รู้จักดีของยอห์น ซึ่งอาจจะเป็นผู้นำ หรือมีบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับและมีอิทธิพลต่อคริสตจักร
               2. ตีความหมายจากการเปรียบเทียบ ถ้ามองคำว่า ‘สุภาพสตรีที่ทรงเลือกไว้’ ในลักษณะของการเปรียบเทียบ เราอาจกล่าวได้ว่า ยอห์นคงหมายถึงคริสตจักรท้องถิ่นแห่งใดแห่งหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ท่านเป็นห่วงว่าพวกครูสอนเท็จจะเข้าไปและสร้างความยุ่งยากให้  และอีกอย่างคือ จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่คริสเตียนถูกข่มเหง ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าการใช้คำขึ้นต้นในลักษณะนี้เป็นรหัสลับที่รู้จักกันในเฉพาะกลุ่ม คนที่ไม่รู้เมื่ออ่านแล้วก็จะคิดว่าเป็นจดหมายธรรมดาที่ส่งไปถึงคนรู้จักกันเท่านั้น

       1.4  เวลาที่เขียน   เขียนในช่วงเวลาเดียวกับ 1 ยอห์น คือจากเมืองเอเฟซัส ประมาณปี ค.ศ.85-95

       1.5  ลักษณะพิเศษ
               1. เป็นจดหมายที่มีลักษณะเป็นส่วนตัวที่ผู้ใหญ่เขียนไปหาผู้ที่อยู่ใต้การดูแล
               2. เป็นจดหมายที่เตือนแบบป้องกันเพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวง การเขียนเป็นไปในลักษณะการตอบสนองต่อสถานการณ์ มากกว่าลักษณะการเปิดเผยคำสอนหรือหลักศาสนศาสตร์
               3. เนื้อหาของจดหมายแสดงให้เห็นว่า ในสมัยนั้นมีการจาริกไปของผู้ประกาศ คนเหล่านี้ไปตามเมืองต่างๆ และได้รับการต้อนรับจากพี่น้องคริสเตียนในเมืองนั้น ให้อาหาร ที่พัก และเงินทองสนับสนุนให้เดินทางประกาศต่อไป
               4. เนื้อหาของจดหมายแสดงให้เห็นถึง น้ำใจแห่งการต้อนรับและเอาใจใส่ผู้รับใช้ของพระเจ้าของพี่น้องคริสเตียนในยุคแรก ในขณะเดียวกันก็มีผู้แอบแฝงหาผลประโยชน์แก่ตัวเช่นเดียวกัน

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 2 ยอห์น

                1. คำทักทาย                                                                           ข้อ 1-3
                2. ความคิดเห็นชื่นชม                                                             ข้อ 4
                3. คำหนุนใจและตักเตือน                                                       ข้อ 5-11
                4. สรุป                                                                                    ข้อ 12-13

3.  บทสรุป

             พระธรรม 2 ยอห์น แบ่งออกเป็น 2 ตอน

 ตอนที่หนึ่ง (1-6)  บอกให้เราประพฤติตามความจริงและความรัก เราต้องรักซึ่งกันและกัน และต้องทำตามพระบัญญติของพระเจ้าในพระคัมภีร์

ตอนที่สอง (7-13) บอกไม่ให้เราให้การต้อนรับผู้ที่ไม่ได้ประกาศความจริง  ความรักต้องสมดุลกับความจริง ถ้าเรามีความรักแต่ไม่มีความจริง เราคงให้การต้อนรับแม้กระทั่งพวกลัทธิเทียมเท็จด้วย

 

 

พระธรรม 1 ยอห์น


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  ผู้เขียนจดหมายฉบับนี้คือ ยอห์น บุตรเศเบดี อัครสาวกของพระเยซูคริสต์ และเป็นผู้เขียนพระกิตติคุณยอห์น และพระธรรมวิวรณ์ จดหมายของยอห์นไม่ได้อ้างถึงตัวท่านเหมือนกับจดหมายฉบับบอื่นๆในพระคัมภีร์ใหม่ ใน 2 ยอห์น ข้อ 1 และใน 3 ยอห์น ข้อ 1 ผู้เขียนเรียกตัวเองว่า ‘ผู้ปกครอง’ นั้น ทำให้บางคนคิดว่าน่าจะเป็นลูกศิษย์ของอัครสาวกยอห์นไม่ใช่ตัวท่านยอห์นเอง  อย่างไรก็ตาม ใน 1 ยอห์น ผู้เขียนเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ในลักษณะเป็นผู้ที่ได้ยิน ได้เห็น ได้สัมผัสกับพระองค์มาด้วยตนเอง (1.1) จดหมาย 1 – 2 และ 3 ยอห์น มีลักษณะการเขียน แนวคิดที่คล้ายคลึงกัน ฉะนั้นคำว่า ‘ผู้ปกครอง’ จึงเล็งถึงความเป็นผู้อาวุโสของยอห์น ซึ่งในขณะนั้นท่านอาจจะมีอายุถึง 90 ปีแล้ว และเป็นผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในบรรดาอัครฑูตของพระเยซูคริสต์

       1.2  จุดประสงค์   ยอห์นเขียนจดหมายฉบับนี้ เพื่อต่อต้านคำสอนเท็จที่กำลังแทรกซึมเข้ามาในคริสตจักร ลัทธิเทียมเท็จขณะนั้นเรียกว่า ‘ลัทธินอสติค’ ซึ่งในจดหมาย 2 เปโตรได้กล่าวถึงมาบ้างแล้ว ลัทธินี้สอนว่า
                1. ร่างกายเป็นสิ่งชั่วร้ายจึงช่วยให้รอดไม่ได้ แต่ความรอดคือการหลีกหนีจากร่างกาย
                2. จิตวิญญาณเป็นสิ่งดี จึงช่วยให้รอดได้
               3. ลัทธินอสติคปฏิเสธความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของพระเยซู เพราะถือว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ดังนั้นพระเยซูที่เป็นพระเจ้าที่บริสุทธิ์จะมามีร่างกายที่เป็นเนื้อหนังที่ชั่วร้ายไม่ได้ ความคิดนี้แยกเป็น 2 ทางคือ
                          ก. ทรรศนะแบบโดเสติส (Docetism) กลุ่มนี้เชื่อว่าพระเยซูเป็นวิญญาณเท่านั้น พระองค์ไม่มีกายเนื้อหนังอย่างมนุษย์ แต่ร่างกายที่ปรากฏบนโลกเป็นกายทิพย์ ซึ่งดูเหมือนร่างกายมนุษย์ที่มีเนื้อหนังแต่ไม่ใช่ ดังนั้นพวกนี้เชื่อว่าเมื่อพระเยซูเดินไปในที่ต่างๆนั้น พระองค์ไม่มีรอยเท้า
                         ข. ทรรศนะแบบเสรินตัส (Cerinthus) กลุ่มนี้เชื่อว่าพระคริสต์เสด็จมาสวมทับบนร่างกายมนุษย์อีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘เยซู’ ซึ่งชายคนนี้เป็นคนดี มีศีลธรรม เชื่อฟังพระเจ้า ในพิธีบัพติศมานั้นเองที่พระคริสต์เสด็จลงมาสวมทับชายผู้นี้ในสัณฐานคล้ายนกพิราบ เขาจึงมีฤทธิ์อำนาจ สามารถทำการอัศจรรย์ และประกาศข่าวประเสริฐของพระบิดาได้ แต่เมื่อเขาถูกตรึงบนกางเขนนั้น พระคริสต์ได้ออกจากร่างกายของเขาไป ดังนั้นผู้ที่ทนทุกข์ทรมานและตายบนไม้กางเขนจึงไม่ใช่พระคริสต์ แต่เป็นร่างของชายที่ชื่อเยซู
                จากทรรศนะทั้งสองทำให้เราเห็นว่า พวกนอสติคไม่เชื่อในความเป็นมนูษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ ดังนั้นใน 1 ยอห์น และ พระกิตติคุณยอห์น จึงเป็นคำสอนที่คัดค้านความคิดเหล่านี้ โดยท่านได้กล่าวใน 1 ยอห์น 4.2-3 ว่า วิญญาณที่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมนุษย์ก็มาจากพระเจ้า และผู้ที่ปฏิเสธความจริงนี้ก็เป็นปฏิปักษ์ของพระคริสต์ และในยอห์น 1.14 ท่านได้กล่าวว่าพระวาทะทรงบังเกิดเป็นเนื้อหนัง  ดังนั้นในคำขึ้นต้นจดหมาย ยอห์นจึงเน้นว่า เขาได้ยิน พินิจดูและกระทั่งสัมผัสพระองค์แล้วว่าทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แท้จริง
                4. พวกนอสติคมีความเชื่อว่า เนื้อหนังเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย พวกนี้จึงมีทรรศนะคติต่อเนื้อหนัง 2 ประการ
                          4.1 ทรมานร่างกายด้วยการอดอาหาร ครองโสด และกระทั่งทำร้ายร่างกายโดยเจตนา
                          4.2 เมื่อช่วยร่างกายให้รอดไม่ได้ก็ให้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน มึนเมาในราคะตัณหาให้เต็มที่โดยไม่ถือว่าบาปแต่อย่างใด ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ยอห์นได้คัดค้านอย่างเต็มที่
                5. พวกนอสติคอ้างว่าคนเราจะรอดได้ด้วยความรู้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้นี้ พวกนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
                          5.1 พวกจิตวิญญาณสูง พวกนี้ใกล้ชิดพระเจ้ามาก
                          5.2 พวกคนธรรมดา ซึ่งไม่สามารถเข้าใจศาสนาได้ถ่องแท้ และไม่สามารถใกล้ชิดพระเจ้าได้
                การแบ่งกลุ่มของคน 2 ประเภทนี้ ทำให้การสามัคคีธรรมในหมู่คริสเตียนกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ยอห์นชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่จะพิสูจน์ความเป็นคริสเตียนที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นความรักต่อพี่น้องและทุกคน
                6. พวกนอสติคเชื่อว่า    บุคคลฝ่ายวิญญาณหยั่งรู้ทุกสิ่งทั้งดีและชั่ว เขาจึงเป็นคนที่ดีพร้อมแล้ว     ดังนั้นยอห์นจึงเตือนว่า คนที่คิดว่าตนเองไม่มีบาปก็มุสาต่อตนเอง (1.9)

                นอกจากนั้น ยอห์นยังมีจุดประสงค์อีกบางประการในการเขียนจดหมาย คือ
                                - เพื่อผู้เชื่อในพระคริสต์จะมีความปลาบปลื้มยินดีอย่างบริบูรณ์ (1.4)
                                - เพื่อผู้เชื่อจะมีความมั่นใจในความรอดอย่างบริบูรณ์

       1.3  ผู้รับ    1 ยอห์นไม่ได้ระบุแน่นอนว่าเขียนถึงใคร ผู้รับอาจจะเป็นคนต่างชาติ สังเกตุจากคำกำชับตอนท้ายเตือนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับรูปเคารพ (5.21)  แต่ก็เป็นไปได้ว่าคำว่า ‘รูปเคารพ’ นั้นไม่ได้หมายถึงตามตัวอักษร แต่ผู้เขียนอาจจะหมายถึงคำสอนเท็จที่ว่างเปล่า ซึ่งถ้าพวกเขายอมรับก็เท่ากับว่ากำลังก้มกราบไหว้รูปเคารพ
                ผู้รับคงจะอยู่ในที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ (2.19)  และยอห์นรู้จักสถานการณ์และความต้องการของเขาเป็นอย่างดี รวมทั้งมีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นผู้เลี้ยงทางฝ่ายจิตวิญญาณ ยอห์นเขียนในภาษาที่ค่อนข้างคุ้นเคย โดยใช้คำว่า ‘ลูกของข้าพเจ้าเอ๋ย’  ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้รับเป็นคนที่ยอห์นได้นำมาสู่ความเชื่อ  สิ่งที่เราสรุปได้คือ ยอห์นเขียนถึงกลุ่มคริสตจักรที่ท่านรับผิดชอบอยู่ในแถบเอเชีย โดยเฉพาะคริสตจักรที่อยู่รอบๆเอเฟซัส

       1.4  เวลาที่เขียน   โดยทั่วไปเชื่อว่า ยอห์นเขียนจดหมายฉบับนี้ที่เมืองเอเฟซัส ประมาณปี ค.ศ.85-95 ถึงแม้จะเป็นการยากที่จะกำหนดวันเวลาที่แน่นอน แต่พอจะเห็นได้จากหลักฐานบางประการ
                1. หลักฐานจากผู้นำคริสตจักรยุคหลังอัครทูต เช่น อิเรนัส และ คลีเม้นท์ ได้ยืนยันว่ายอห์นเขียนจดหมายฉบับนี้เมื่ออายุมากแล้ว และเขียนหลังจากพระกิตติคุณยอห์นไม่นานนัก
                2. เนื้อหาในจดหมายโจมตีลัทธินอสติค ซึ่งแทรกซึมเข้ามาในคริสตจักรในปลายศตวรรษที่ 1

       1.5  ลักษณะพิเศษ
                1. ยอห์นพยายามนำผู้อ่านกลับสู่แนวความคิดหลักสำคัญ เช่น ความสว่าง ความจริง ความเชื่อ ความรัก และความชอบธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตคริสเตียน
                2. การใช้ภาษาอย่างตรงไปตรงมา ท่านไม่ยอมให้มีการประนีประนอมในเรื่องความเชื่อ เช่น ความมืดและความสว่าง ความชอบธรรมกับความบาป ผู้ใดที่รักโลกความรักของพระเจ้าก็ไม่อยู่ในผู้นั้น  และผู้ใดที่รับเชื่อแต่ไม่ประกาศหรือแสดงออกซึ่งชีวิตคริสเตียนที่แท้จริง คนนั้นก็เป็นคนมุสา
                3. ไม่ค่อยมีการอ้างอิงพระคัมภีร์เดิม เนื้อหาของจดหมายดูเหมือนมีรากฐานอยู่ที่ประสบการณ์และแนวคิดของยอห์นมากกว่าเป็นลักษณะการสำแดงเปิดเผยความจริง ยกพระคัมภีร์เดิมตอนเดียวคือ 3.12
                4. การอ้างอิงถึงหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ มีเป้าหมายเพื่อจะต่อสู้กับคำสอนผิด เนื่องจากเน้นเรื่องการบังเกิดและการทรงไถ่โดยพระโลหิตของพระเยซู  ยอห์นจึงไม่ได้เน้นการเป็นขึ้นมาจากความตาย

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 1 ยอห์น

                1. บทนำ – ความจริงแห่งการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระ                    บทที่ 1.1-4
                2. คริสเตียนในฐานะผู้สามัคคีธรรมกับพระบิดาและพระบุตร (บทที่ 1.5-2.28)
                                2.1 การทดสอบการสามัคคีธรรมด้านจริยธรรม (บทที่ 1.5-2.11)
                                                ก. เหมือนพระเจ้าในด้านศีลธรรม                      บทที่ 1.5-7
                                                ข. การสารภาพบาป                                           บทที่ 1.8-2.2
                                                ค. การเชื่อฟัง                                                     บทที่ 2.3-6
                                                ง. ความรักต่อพี่น้อง                                           บทที่ 2.7-11
                                2.2 ผู้ที่รักพระเจ้าไม่รักโลก                                              บทที่ 2.12-17
                                2.3 การทดสอบการสามัคคีธรรมด้านพระเยซูคริสต์ (บทที่ 2.18-28)
                                                ก. สิ่งที่ตรงกันข้าม – ปฏิปักษ์กับผู้เชื่อ              บทที่ 2.18-21
                                                ข. พระเยซูคริสต์ – ประเด็นหลักของการทดสอบ     บทที่ 2.22-23
                                                ค. การยืนหยัดในความเชื่อ – กุญแจแห่งการสามัคคีธรรม  บทที่ 2.24-28
                3. คริสเตียนในฐานะเป็นบุตรของพระเจ้า (บทที่ 2.29-4.6)
                                3.1 การทดสอบด้านจริยธรรมของการเป็นบุตร (บทที่ 2.29-3.24)
                                                ก. ความชอบธรรม                                            บทที่ 2.29-3.10ก
                                                ข. ความรัก                                                       บทที่ 3.10ข-24
                                3.2 การทดสอบการเป็นบุตรด้านพระเยซูคริสต์                บทที่ 4.1-6
                4. คริสเตียนในฐานะเป็นกลุ่มชนแห่งจริยธรรมและแห่งพระเยซูคริสต์ (บทที่ 4.7-5.12)
                                4.1 การทดสอบด้านจริยธรรม – ความรัก (บทที่ 4.7-5.5)
                                                ก. แหล่งที่มาของความรัก                                     บทที่ 4.7-16
                                                ข. ผลของความรัก                                                บทที่ 4.17-19
                                                ค. ความสัมพันธ์ระหว่าง รักพระเจ้ากับรักพี่น้อง    บทที่ 4.20-5.1
                                                ง. การเชื่อฟัง – หลักฐานของความรักที่มีต่อพระเจ้า     บทที่ 5.2-5
                                4.2 การทดสอบด้านพระเยซูคริสต์                                      บทที่ 5.6-12
                5. สรุป – ความแน่นอนอันยิ่งใหญ่ของคริสเตียน                                 บทที่ 5.13-21

3.  บทสรุป

                ต้นไม้ยังมีชีวิตอยู่ถ้ามันผลิดอกออกผล คริสเตียนก็ยังมีชีวิตอยู่ถ้ามีผลฝ่ายวิญญาณเกิดขึ้นในชีวิต ผลฝ่ายวิญญาณ 3 ประการที่กล่าวไว้ในพระธรรมเล่มนี้ คือ
1.     ความชอบธรรม – เราต้องมีชีวิตในความชอบธรรมของพระคริสต์ ประพฤติด้วยความชอบธรรม
2.     ความรู้ – เราต้องเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า
3.     ความรัก – เราต้องมีความรักเหมือนพระเยซูคริสต์ ด้วยการกระทำและด้วยความจริงใจ
ด้วยวิธีเช่นนี้ เราจึงมั่นใจว่าเราได้รับชีวิตนิรันดร์แล้ว (5.13) และสามารถมั่นใจในเรื่องความรอด ชีวิตความเชื่อและความรัก

                พระธรรมเล่มนี้สามารถใช้สร้างความมั่นใจให้แก่คริสเตียนที่เกิดผลว่าเขาได้รับชีวิตนิรันดร์แล้ว หรือใช้ท้าทายคริสเตียนที่หลับอยู่ให้เกิดผล  หรือใช้แยกแยะว่าใครเป็นคริสเตียนจอมปลอมที่กำลังพาคนอื่นให้หลงทางไป     คุณจะใช้พระธรรมเล่มนี้อย่างไร ??

 

 

พระธรรมยูดา


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน ในข้อ 1 ของยูดา ผู้เขียนได้กล่าวถึงตนเองว่า ‘ยูดา ผู้รับใช้ของพระเยซูคริสต์และน้องของยากอบ’ ในพระคัมภีร์ใหม่มีการกล่าวถึงยูดาอยู่หลายคน คือ
                1. ยูดาแห่งดามัสกัส (กจ 9.11) ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เปาโลไปพักด้วยที่เมืองดามัสกัส
               2. ยูดา บารซับบาส (กจ 15.22) เป็นผู้ที่ถือจดหมายจากการประชุมสภาคริสตจักรแห่งเยรูซาเล็ม ไปยังคริสตจักรอันทิโอกพร้อมกับสิลาส เพื่อแจ้งข้อตกลงเกี่ยวกับคนต่างชาติที่มารับเชื่อในพระเยซูคริสต์
                3. ยูดา อิสคาริโอท หนึ่งในสาวก 12 คนที่พระเยซูทรงเลือก และเป็นผู้ที่ทรยศพระเยซู
                4. ยูดา บุตรยากอบ  หนึ่งในสาวก 12 คน (ลูกา 6.16)
                5. ยูดา น้องชายของพระเยซู และของยากอบ (มัทธิว 13.55) เชื่อว่าเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้
                                5.1 ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าตนเองเป็นอัครสาวก
                                5.2 ข้อ 17 บอกให้เราทราบว่า ผู้เขียนไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มอัครสาวก
                                5.3 ผู้เขียนเรียกตนเองว่าน้องของยากอบ

       1.2  จุดประสงค์ 
                1. เพื่อเตือนคริสเตียนถึงคำสอนผิดซึ่งเป็นอันตรายต่อคริสตจักร (ข้อ 3) ให้ลุกขึ้นต่อสู้และคัดค้าน
                2. เพื่อเตือนคริสเตียนเรื่องความรอด แม้ว่าผู้หนึ่งได้รับความรอดและพระคุณของพระเจ้าแล้ว อาจจะสูญเสียความรอดไปหากเขาไม่เชื่อฟังคำสอนที่ยึดถือกันมา
                3. ชี้ให้เห็นความผิดบาปและการละเมิดของผู้สอนเท็จ
                                3.1 อ้างพระคุณของพระเจ้าเป็นเหตุให้ทำตามใจชอบ
                                3.2 ปฏิเสธพระเจ้าและพระเยซูคริสต์
                                3.3 ปฏิเสธและดูหมิ่นฑูตสวรรค์

       1.3  ผู้รับ    จดหมายฉบับนี้ไม่ได้กล่าวเจาะจงถึงผู้รับว่าเป็นใคร แต่เชื่อกันว่าเขียนถึงคริสเตียนชาวยิวในปาเลสไตน์ หรือในเอเชียไมเนอร์
              ในอีกกรณีหนึ่ง หาก 2 เปโตรมีความเกี่ยวเนื่องกับจดหมายยูดา ผู้รับก็น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
 
       1.4  เวลาที่เขียน   เวลาที่เขียน นักศาสนศาสตร์มีความเห็นแตกต่างกัน 2 กลุ่ม
                1. เขียนราว ค.ศ. 65 เนื่องจากจดหมาย 2 เปโตร บทที่ 2 มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับจดหมายยูดามาก และเปโตรน่าจะหยิบยืมเอาข้อความของยูดามาเขียนเป็นบทหนึ่งในจดหมายของตนมากกว่า ดังนั้นหากเราเชื่อว่า 2 เปโตรเขียนขึ้นราว ค.ศ.65-68 ยูดาก็คงเขียนก่อนเล็กน้อย
                2. เขียนขึ้นราว ค.ศ.80 เนื่องจากหลักฐานภายในจดหมายเองชี้ให้เห็นว่า จดหมายยูดาเป็นจดหมายที่มองย้อนกลับไปในอดีตในสมัยที่อัครสาวกยังมีชีวิตอยู่เป็นส่วนใหญ่ นั่นคือ ข้อ 17-18 ยูดาเร่งเร้าให้คริสเตียนระลึกถึงคำสอนของอัครสาวก เสมือนท่านเหล่านี้ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว และอัครสาวกส่วนใหญ่เสียชีวิตในราวปี ค.ศ.70 ไปแล้ว นอกจากนี้คำสอนผิดๆที่ยูดาเขียนต่อต้านนี้เกิดขึ้นในคริสตจักรประมาณปลายศตวรรษแรก ซึ่งถ้าหากเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่า ยูดาได้หยิบยืมเอาเนื้อหาของจดหมาย 2 เปโตร มาเป็นข้อมูลในการเขียน

        1.5  ลักษณะพิเศษ
               1. เขียนถึงคริสเตียนยิวในปาเลสไตน์หรือเอเชียไมเนอร์ เรื่องราวต่างๆที่ยกมาอ้างอยู่ในลักษณะที่ชาวยิวเท่านั้นที่จะเข้าใจ
               2. ใช้ภาษากรีกแบบง่ายๆ
               3. อ้างหนังสืออธิกธรรม (Apocryphal) เช่น
                                3.1  ศพของโมเสส (ข้อ 9)
                                3.2  หนังสือของเอโนค (ข้อ 14)
               ด้วยเหตุนี้ทำให้บางคนสงสัยในจดหมายยูดา และเป็นปัญหาในการจัดรวบรวมเล่มเข้าในสารบบของพระคัมภีร์ ซึ่งมีการถกเถียงกันถึงความถูกต้องของจดหมายนี้ จนกระทั่งในศตวรรษที่ 4 จึงได้รับการยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์

2.  โครงเรื่องของพระธรรม ยูดา

                1. คำทักทาย                                                                                         ข้อ 1-2
                2. โอกาสของการเขียนจดหมาย  (ข้อ 3-4)
                                2.1 การเปลี่ยนหัวเรื่องที่เขียน                                                ข้อ 3
                                2.2 เหตุผลที่เปลี่ยนเรื่องที่เขียน                                            ข้อ 4
                3. คำเตือนให้ระวังครูอธรรม  (ข้อ 5-16)
                                3.1 ตัวอย่างในประวัติศาสตร์แห่งการลงโทษผู้เป็นปฏิปักษ์             (ข้อ 5-7)
                                                ก. คนอิสราเอลที่ไม่เชื่อ                                         ข้อ 5
                                                ข. ฑูตสวรรค์ที่ล้มลงในบาป                                            ข้อ 6
                                                ค. เมืองโสโดมและโกโมราห์                                          ข้อ 7
                                3.2 ลักษณะของผู้เป็นปฏิปักษ์ในยุคของยูดา (ข้อ 8-16)
                                                ก. พวกเขาพูดจาสบประมาทก้าวร้าว                   ข้อ 8-10
                                                ข. พวกเขาปล่อยตัวปล่อยใจและชีวิตไร้ผล        ข้อ 11-13
                                                ค. พวกเขาจะพินาศ                                                       ข้อ 14-16
                4. คำหนุนใจผู้ที่เชื่อ                                                                               ข้อ 17-23
                5. สรุปและสรรเสริญพระเจ้า                                                                 ข้อ 24-25

3.  บทสรุป

                ในพระธรรม 2 เปโตร เตือนให้เราระวังครูสอนเทียมเท็จ  แต่ในพระธรรมยูดาเตือนให้เราระวังครูสอนผิดมากกว่าจะเป็นครูเทียมเท็จ อาจเป็นเพราะคำสอนของเขายังไม่ได้เป็นคำสอนเทียมเท็จไปเสียทั้งหมด พวกเขาจะแอบแฝงเข้ามาในคริสตจักรและในคณะนิกายของเรา
1.     ยูดาสอนให้เรารู้จักแยกแยะครูอธรรมเหล่านี้ ซึ่งจะรู้ได้จากโลกียวิสัยของเขา (17-19)
2.     ยูดาสอนว่าเราจะอยู่ห่างๆจากครูอธรรมเหล่านี้อย่างไร (20-21) : ยึดมั่นในความเชื่อ อธิษฐาน
3.     ยูดาสอนว่าจะช่วยคนอื่นให้พ้นจากครูอธรรมเหล่านี้อย่างไร (22-23) : แสดงความเมตตา