Monday, December 14, 2015

การพิพากษา

สัปดาห์ที่ 15     การพิพากษา                                                ชั้น พระธรรมวิวรณ์ คริสตจักรพลับพลา
พระธรรมวิวรณ์ บทที่ 17:1 - 19:5
บาบิโลน -  ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกโดยนิมโรด (ปฐก 10.9-10)    บาเบล เป็นภาษาฮีบรู   ที่แปลว่า บาบิโลน  ลักษณะที่แท้จริงของบาบิโลนก็ปรากฏชัดในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 11 คือมนุษย์อยากจะสร้างชื่อเสียงเพื่อตัวเองโดยไม่ได้คิดถึงพระเจ้า ซึ่งในที่สุดก็นำไปถึงความวุ่นวาย   กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ได้สร้างเมืองนี้ขึ้นมาใหม่ในปี 605-562 กคศ และตรัสว่า นี่เป็นมหานครบาบิโลนมิใช่หรือ ซึ่งเราได้สร้างด้วยอำนาจใหญ่ยิ่งของเรา ให้เป็นราชฐานและเพื่อเป็นศักดิ์ศรีอันสูงส่งของเรา (ดนล 4.30)  บาบิโลนเคยเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ แต่ในที่สุดเมืองอันสง่างามนี้ก็ได้ล่มสลายลงในคืนที่เบลชัสซาร์  พระราชาได้จัดเลี้ยงใหญ่และถูกกองทัพแห่งมีเดียทำลาย
                สำหรับยอห์นแล้ว  บาบิโลนเป็นภาษารหัสของกรุงโรม ซึ่งเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่มีอำนาจ โลภในทรัพย์สมบัติ  ฟุ่มเฟือย หยิ่งผยอง และทารุณพวกคริสเตียนโดยมีมารซาตานอยู่เบื้องหลัง  ในยุคปัจจุบันก็มีลักษณะเหมือนบาบิโลนหรือโรม 
                ในบทที่ 17 นี้ บาบิโลน เล็งถึงแหล่งกำเนิดของศาสนาของคนต่างชาติที่ต่อต้านความเชื่อของอิสราเอลและความเชื่อของคริสตจักร   บาบิโลนถูกมองในลักษณะของศาสนาที่มาถึงจุดสุดยอดของมัน คือ กลายเป็นศาสนาโลก
                ทูตสวรรค์องค์หนึ่งในเจ็ดองค์ที่ถือขันทั้งเจ็ดใบมาหายอห์น และเชิญให้ยอห์นดูการพิพากษาที่จะเกิดขึ้น ทำให้เข้าใจว่าเหตุการณ์ที่บันทึกในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 17 และ 18 อยู่ในช่วงเวลาการลงโทษด้วยขันทั้งเจ็ด ซึ่งน่าจะเป็นช่วงขันที่ 5 ที่ 6 หรือขันที่ 7 ก็ได้
-          ที่ว่าอยู่ในช่วงขันที่ 5 เพราะว่าเมื่อเทขันที่ 5 ลงมา อาณาจักรของสัตว์ร้ายมืดไป    อาจหมายถึงอาณาจักรบาบิโลนที่ล่มจมหายไป
-          ที่คาดว่าเป็นช่วงขันที่ 6 เพราะความต่อเนื่องจากบทที่ 17-18 ถึงบทที่ 19 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญคือ สงครามอาร์มาเกดโดน ซึ่งอยู่ในช่วงขันที่ 6
-          ที่คาดว่าเป็นขันที่ 7 ก็เพราะมีแผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงนี้ และมหานครถูกแยกเป็นสามส่วนมหานครนี้ หมายถึง นครบาบิโลน
1. บาบิโลนฝ่ายศาสนาถูกทำลาย
                ทูตสวรรค์ได้เชื้อเชิญให้ยอห์นเป็นพยานถึงการพิพากษาลงโทษหญิงแพศยาคนสำคัญที่นั่งอยู่บนน้ำมากหลาย ในข้อ 17.3-5  ยอห์น ถูกนำไปถิ่นทุรกันดารโดยพระวิญญาณ น่าจะหมายความว่าเขาเห็นนิมิต ไม่ได้ถูกรับตัวไป เขาได้เห็นหญิงนั้นนั่งอยู่บนสัตว์ร้ายสีแดงเข้ม มีชื่อหลายชื่อเป็นคำหมิ่นประมาทพระเจ้าเต็มไปทั้งตัว มันมีเจ็ดหัวและสิบเขา
                - หญิงชั่วนี้เป็นภาพสัญลักษณ์เล็งถึงระบบศาสนาของบาบิโลน
                - พฤติกรรมของหญิงนี้  ล่วงประเวณีกับบรรดากษัตริย์ทั่วแผ่นดินโลก (17:2) นั่นคือ พวกกษัตริย์ทั้งหลายได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบศาสนาที่หญิงนี้เป็นสัญลักษณ์เล็งถึง
                - นั่งอยู่บนน้ำมากหลาย (17:1)   คือมีอำนาจเหนือชนชาติและมวลประชาชาติ และภาษาต่างๆ (17:15)
                - เครื่องนุ่งห่มของหญิงผู้นี้ ซึ่งนุ่งห่มด้วยผ้าสีม่วงและสีแดงเข้มประดับด้วยเครื่องทองคำเพชรพลอยต่างๆ และไข่มุก (17:4) เป็นเครื่องหมายแสดงถึงพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะการถือถ้วยทองคำเป็นภาพของการประกอบพิธีทางศาสนา
                - คำที่ใช้ว่าหญิงแพศยา สิ่งน่าสะอิดสะเอียน และการล่วงประเวณี (17:5) เป็นการบรรยายถึงการกราบไหว้รูปเคารพซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อในพระเยซูคริสต์ เปรียบเหมือนแม่ของสิ่งทั้งปวงที่น่าสะอิดสะเอียนของโลก บางทีเมืองใหญ่ๆในโลกปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น
                - เมามายด้วยโลหิตของธรรมิกชน เป็นภาพของพวกธรรมิกชนที่ต้องพลีชีพเพื่อรักษาความเชื่อของตน (17:6) จากเหตุผลข้างต้นจึงสรุปได้ว่าหญิงนี้ คือ บาบิโลนที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนา
                                สัตว์ร้ายที่มีเจ็ดหัวและสิบเขา  คือผู้นำทางการเมืองที่ได้รวมการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน น่าจะหมายถึงรัฐบาลโลก และผู้หญิงนั้นนั่งอยู่บนสัตว์ร้ายแสดงว่าผู้นำทางศาสนามีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือผู้นำทางการเมือง แต่ก็เป็นเพียงระยะเดียวเท่านั้น เพราะต่อมาสิบเขาคือ ผู้นำสิบประเทศกับสัตว์ร้ายก็ได้ร่วมกันโค่นอำนาจของผู้นำทางศาสนา และรวบรวมอำนาจทางศาสนาอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมือง (17:16-17)
                ในบทที่ 17:8-13 ได้อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนว่าสัตว์ร้ายที่ถูกกล่าวถึงตั้งแต่ในบทที่ 13:1 ที่มีเจ็ดหัวสิบเขา หมายถึงอะไร เจ็ดหัว คือ กษัตริย์เจ็ดองค์ ซึ่งห้าองค์ได้ล่วงลับไปแล้ว องค์หนึ่งกำลังเป็นอยู่ และอีกองค์หนึ่งยังไม่ได้เป็นขึ้น และเมื่อเป็นแล้วจะต้องดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง (17:10)  บางคนตีความว่า กษัตริย์เจ็ดองค์อาจจะเป็นพระราชาของอาณาจักรเจ็ดอาณาจักรที่รุ่งเรืองในโลก ได้แก่ 1) อียิปต์  2) อัสซีเรีย  3) บาบิโลน  4) เปอร์เซีย  5) กรีซ  6) โรม และอาณาจักรที่เจ็ดจะมาถึงในยุคสุดท้าย กษัตริย์ที่ 1) - 5) ได้จบสิ้นไปแล้วคือตั้งแต่อียิปต์จนถึงกรีซ ในยุคของยอห์น คือโรมกำลังครอบครองอยู่  และกษัตริย์องค์ที่เจ็ดจะเกิดขึ้นในยุคสุดท้ายและจะดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง
                สัตว์ร้ายที่เป็นแล้วเมื่อก่อน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นนั้นก็เป็นที่แปด แต่ก็ยังเป็นองค์หนึ่งในเจ็ดองค์นั้นและจะไปสู่ความพินาศ  สัตว์ร้ายหรือปฏิปักษ์ของพระคริสต์ซึ่งจะปรากฏขึ้นในอนาคต ได้แก่ผู้ที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับกษัตริย์เจ็ดองค์ที่มาก่อน เขาจะเป็นเหมือนกษัตริย์นีโรที่โหดร้ายและชั่วช้า ซึ่งได้ข่มเหงและฆ่าคริสเตียน สัตว์ร้ายนี้เป็นลำดับที่แปด แต่ก็ยังเป็นองค์หนึ่งในเจ็ดองค์ จึงเป็นไปได้ที่เขาจะครอบครองสองครั้ง
                สิบเขาคือกษัตริย์สิบองค์ที่ยังไม่ได้เสวยราชสมบัติ แต่จะรับอำนาจอย่างกษัตริย์ด้วยกันกับสัตว์ร้ายนั้นหนึ่งชั่วโมง (17:12) à ในยุคสุดท้ายก่อนที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จมา สัตว์ร้ายนั้นจะครอบครองเหนือทั้งโลก โดยมีกษัตริย์สิบองค์ที่จะมีส่วนในการครอบครองด้วย ตอนนี้เรายังไม่สามารถรู้ได้ว่ากษัตริย์สิบองค์นี้คือใคร มาจากประเทศไหนบ้าง หลายคนเคยคิดว่าอาจจะเป็นสมาชิกขององค์การตลาดร่วมทางเศรษฐกิจแห่งยุโรป     แต่ปัจจุบันองค์การนี้มีสมาชิก มากกว่าสิบประเทศแล้ว แต่ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะมีบางประเทศถอนตัวก็ได้  และเมื่อเหตุการณ์ต่างๆในสังคมโลกดำเนินไป คริสเตียนก็จะเข้าใจและเห็นได้ว่าแผนการของพระเจ้าที่ได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าก็กำลังจะสำเร็จ
                ส่วนที่กล่าวถึงสงครามที่เหล่ากษัตริย์จะกระทำกับพระเมษโปดกและพระเมษโปดกจะทรงมีชัยชนะ (17:14) คงเป็นสงคราม อารมาเกดโดน  แท้ที่จริงแล้วการข่มเหงและการต่อต้านคริสเตียนนั้น นับว่าเป็นการต่อสู้กับพระเยซูโดยตรง เพราะคริสเตียนคือพระกายของพระองค์ และพระองค์ทรงรักและหวงแหนคริสตจักรของพระองค์
                ในข้อที่ 15-17 จะเห็นว่าหญิงแพศยานั้นจะถูกทำลายโดยสัตว์ร้ายและเขาสิบเขา 
                ดู มาระโก 3.26 à ชี้ให้เห็นว่าอำนาจและอาณาจักรของมารเริ่มเสื่อมสูญ เพราะในที่สุดพระเจ้าจะทรงใช้ความชั่วลงโทษความชั่วอีกกลุ่มหนึ่ง  ในตอนแรกการปกครองของหญิงแพศยาหรือนครใหญ่นั้นจะได้รับการสนับสนุน แต่ภายหลังสัตว์ร้ายเห็นว่าหญิงนั้นอาจจะท้าทายอำนาจและแผนการของมัน จึงได้ร่วมกับกษัตริย์ทั้งสิบทำลายหญิงนั้น
                ข้อ 18  และผู้หญิงที่ท่านเห็นนั้นก็คือนครใหญ่   ที่มีอำนาจเหนือกษัตริย์ทั้งหลายทั่วแผ่นดินโลก 
            - นครใหญ่ อาจจะหมายถึง บาบิโลนที่จะถูกสร้างขึ้นใหม่ในยุคสุดท้าย (ในประเทศอิรัก)
            - นครใหญ่ อาจจะหมายถึงกรุงโรมที่เป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค ที่มีเครือข่ายโบสถ์และบาทหลวงอยู่ทั่วทุกมุมโลก
            - นครใหญ่ อาจจะเป็นเมืองหนึ่งเมืองใดในโลกในยุคสุดท้ายที่มีฐานะเมืองหลวงเหมือนบาบิโลน ที่คนทั้งหลายไม่พึ่งพาพระเจ้าและมีอิทธิพลอยู่เหนือทุกประชาชาติ


2. มหานครบาบิโลนล่ม 18:1-19:5
                ในช่วงก่อนที่มหานครบาบิโลนจะล่ม ยอห์นได้ยินเสียงร้องที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแยกแยะได้เป็นสี่ประเภทด้วยกัน
                1. เสียงแห่งการลงโทษ (18:1-3)
                เสียงร้องดังกึกก้องจากทูตสวรรค์ว่า บาบิโลนล่มจมแล้วนครนี้ได้กลายเป็นที่อาศัยของความชั่วทั้งปวง โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับศาสนา เพราะประชาชาติได้มัวเมาหลงไหลกับนครนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่เต็มไปด้วยการบูชารูปเคารพและเต็มไปด้วยความผิดบาป บาปของนครนี้ได้กองสูงขึ้นถึงสวรรค์แล้ว (18:5)
                2. เสียงเรียกให้แยกออกจากนครนี้ (18:4-8)
                เสียงเรียกจากสวรรค์บอกให้ชนชาติของพระเจ้าให้ออกจากนครนี้ (18:4)   เพื่อพวกเขาจะได้ไม่มีส่วนในความ
ผิดบาปของนครนี้ และจะได้ไม่ต้องรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับนครนี้ และภัยพิบัตินี้ได้แก่ โรคระบาด ความระทมทุกข์ การกันดารอาหาร และไฟจะเผานครนี้จนพินาศสิ้นภายในวันเดียว (18:8)    บาบิโลนที่เคยเย่อหยิ่งทะนงใจว่าตนอยู่อย่างราชินี (ยิ่งใหญ่มั่นคง มีพร้อมทุกสิ่ง) ไม่ใช่หญิงม่าย (ต่ำต้อย ไร้ที่พึ่ง ขาดแคลน) แต่เพียงวันเดียวทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
                3. เสียงร่ำไห้คร่ำครวญ (18:9-19)
                จากเหตุการณ์ความพินาศของบาบิโลนได้ทำให้มีคนสามกลุ่มที่พิลาปร่ำไห้และคร่ำครวญ
                - บรรดากษัตริย์แห่งแผ่นดินโลกที่ผูกพันกับมหานครนี้ พวกเขาร่ำไห้เพราะเห็นความพินาศของบาบิโลน และกลัวภัยแห่งการทรมานนครนั้นจะถึงตน (สะท้อนภาพว่าบาบิโลนเป็นศูนย์กลางทั้งด้านศาสนาและการเมือง)
                - บรรดาพ่อค้าในแผ่นดินโลก พวกเขาร่ำไห้ เพราะนครนี้เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ มีการค้าขายทุกชนิดแม้ชีวิตมนุษย์ พวกเขาทั้งหลายกลายเป็นคนมั่งมีเพราะนครนี้ แต่บัดนี้ทุกอย่างก็พินาศสูญสิ้น และพวกเขาก็กลัวภัยจากการทรมานนครจะถึงตนด้วย
                - บรรดาเรือ ผู้มีอาชีพทางทะเลทั้งหลาย ต่างก็โปรยผงลงศีรษะของตนและร้องไห้คร่ำครวญ เพราะพวกเขากลายเป็นคนมั่งมีได้เพราะนครนี้ บัดนี้กลายเป็นนครร้างเปล่าแล้ว และพวกเขาก็กลัวภัยพิบัติจากนครนี้จะถึงตนด้วย (สะท้อนภาพให้เห็นว่าบาบิโลนเป็นศูนย์กลางคมนาคมของโลก)
น่าสังเกต   คือคนเหล่านั้นทุกกลุ่มต่างก็ยืนอยู่แต่ห่างเพราะกลัว (18:10,15,17) ต่างก็คร่ำครวญว่า วิบัติแล้ว วิบัติแล้ว (18:10,16,19) ต่างก็บอกว่า ภายในชั่วโมงเดียวเท่านั้น (18:10,17,19) และภาพที่ทุกกลุ่มร่ำไห้คร่ำครวญแสดงออกถึงการหวั่นวิตกในผลประโยชน์ของตนมากกว่า
                4. เสียงแห่งความชื่นชนยินดี (18:20-24)
                หลังจากเสียงพิลาปร่ำไห้ของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบาบิโลนแล้ว เสียงที่ยอห์นได้ยินคือ การเชิญชวนคนของพระเจ้าให้ร่าเริงเพราะพระเจ้าได้ทรงพิพากษานครนี้แล้ว นครนี้ได้ฆ่าคนของพระเจ้ามากมาย (18:24) ตรงข้ามกับเสียงความชื่นชมยินดีบนสวรรค์คือ ความว่างเปล่า และเงียบสงบของบาบิโลนเพราะบาบิโลนถูกกลืนหายลงไปในทะเลเหมือนหินโม่ใหญ่ที่ถูกทุ่มลงในทะเล   ความสนุกสนานวิทยาการต่างๆ   การงานทั้งหลายและความร่าเริงจะหมดหายไป (18:22-23)
                บาบิโลนมีความเป็นมาอย่างไร  และในพระธรรมวิวรณ์ยอห์นต้องการชี้ว่ามหานครบาบิโลน คือที่ไหน นี่เป็นคำถามที่ยังคงแสวงหาคำตอบ
                เริ่มจากพระธรรมปฐมกาลบทที่ 10 ได้บันทึกว่า นิมโรด พรานใหญ่ยิ่งต่อพระพักตร์พระเจ้าเป็นผู้ทรงสร้างเมืองบาบิโลน (ปฐมกาล 10:9-10) บาบิโลนตั้งอยู่ในแผ่นดินชินาร์ (ปฐมกาล 10:10) ซึ่งเป็นที่ตั้งเดียวกับหอบาเบล (ปฐมกาล 11:1-9) และเป็นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์บริเวณแม่น้ำยูเฟรติส บาบิโลนได้กลายเป็นจักรวรรดิภายใต้การนำของกษัตริย์ฮัมมูราบี (Hammurabi) ในช่วงก่อนคริสตศักราช.1726 - 1686 และเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องกฎหมายของฮัมมูราบีซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลก แต่ช่วงที่บาบิโลนรุ่งเรืองที่สุดนั่นอยู่ในช่วงของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ก่อนคริสตศักราช 600 ทรงสร้างเมืองขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนลอยฟ้าซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกโบราณ และชนชาติอิสราเอลถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยอยู่ที่บาบิโลน ในปีก่อนคริสตจักรศักราช 587 จักรวรรดิบาบิโลนได้ล่มสลายลงเมื่ออาณาจักรมีเดียเข้ามายึดครอง ต่อมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของเปอร์เซีย, กรีก, โรม ปัจจุบันบาบิโลนอยู่ในประเทศอิรัก สวยลอยฟ้าเป็นเมืองโบราณ หรือพิพิธภัณฑ์สถาน
สำหรับคริสตจักรในยุคแรก หรือช่วงเวลาของยอห์นผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์ มหานคร บาบิโลนเป็นภาษาสัญลักษณ์ หมายถึง อาณาจักรโรม แต่ขณะเดียวกันก็จะเกี่ยวข้องกับความเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร นิมิตที่ยอห์นได้รับ เสียงจากทูตสวรรค์ที่ประกาศว่า บาบิโลนมหานครนั้นล่มจมแล้ว (14:8) วิบัติแล้ว วิบัติแล้ว บาบิโลนมหานครที่ยิ่งใหญ่ เจ้าได้รับการพิพากษาโทษให้พินาศไปภายในชั่วโมงเดียวเท่านั้น (18:10) มหานครบาบิโลนที่เอ่ยถึงนี้น่าจะหมายถึง ประเทศหรืออาณาจักรไหนกันแน่ มีผู้ให้ข้อคิดเห็นแตกต่างกันมากมาย พอสรุปได้อย่างน้อย 3 แห่งด้วยกัน
                1. อาณาจักรโรมที่ถูกฟื้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจหมายถึงกลุ่มประเทศในยุโรปที่จะรวมตัวกันเป็นสหราชอาณาจักร เหมือนอาณาจักรเดียวกันที่ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางต่างๆ ของโลก เมื่อการคมนาคมของยุโรปได้ผูกพันเป็นเอกภาพและเงินยูโรถูกใช้เป็นสกุลเดียวกันทั่วยุโรป ภาพของยุโรปเป็นอาณาจักรโฉมใหม่เริ่มถูกกล่าวถึงมากขึ้น
                2. อาณาจักรบาบิโลนที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจหมายถึง ประเทศในตะวันออกกลาง อิรักหรืออิหร่านที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกอาหรับก่อนแล้วขยายครอบคลุมไปทั่วโลก
                3. มหาอำนาจประเทศหนึ่งในโลกนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนาและการอำนาจทางการเมือง หลังจากค่ายคอมมิวนิสต์ในยุโรปและสหภาพรัสเซียล่มสลายแล้วมีมหาอำนาจเดียว
ที่เหลืออยู่ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกและมีอิทธิพลทางทหารและอาวุธมากที่สุด
ของโลกทุกวันนี้
                เหตุการณ์ต่างๆในบทที่ 17 จะสำเร็จลงในช่วงกลางของระยะเวลาแห่งกลียุค 7 ปี  ในขณะที่เหตุการณ์ต่างๆของบทที่ 18 จะเกิดขึ้นในตอนท้ายสุดของกลียุค 7 ปี  คือเกิดขึ้นในทันทีก่อนการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์  การทำลายกรุงบาบิโลนเป็นเหมือนเฮือกสุดท้ายของเวลาของพวกผู้ต่อต้านพระคริสต์ 
                บทที่ 17 และ บทที่ 18 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้านศาสนาและการเมืองโลกในช่วงสุดท้ายของกลียุคเจ็ดปี  บัดนี้เวทีถูกเตรียมไว้พร้อมแล้วที่จะนำมาซึ่งจุดสูงสุดของหนังสือวิวรณ์ นั่นก็คือ....................................
...............................................................................................การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์   ในบทที่ 19


No comments:

Post a Comment