Monday, December 14, 2015

หมายสำคัญ(3)

สัปดาห์ที่ 12     หมายสำคัญ (3)                                           ชั้น พระธรรมวิวรณ์ คริสตจักรพลับพลา
1. ชัยชนะของผู้ชอบธรรม (14.1-5)
ในวิวรณ์ 14.1-5 ได้กล่าวถึงชัยชนะของผู้ชอบธรรม  ยอห์นได้เริ่มบรรยายว่า ท่านได้แลเห็นพระเมษโปดกยืนอยู่ที่ภูเขาศิโยนและผู้ที่อยู่กับพระองค์ 144,000 คน ผู้ซึ่งมีพระนามของพระบิดาจารึกไว้ที่หน้าผากของเขา
        1.1   ผู้ชอบธรรมหนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันคน
เพื่อความเข้าใจพระธรรมตอนนี้ให้ถูกต้องคงต้องเริ่มจากคำถามอย่างน้อย 4 ข้อดังนี้
1. คนจำนวน 144,000 คน หมายถึงใคร
2. คนจำนวน 144,000 คน ในบทที่ 7 และบทที่ 14 นี้เป็นกลุ่มเดียวกัน หรือคนละกลุ่ม
3. คนจำนวน 144,000 คน เป็นบุคคลที่อยู่ในช่วงเวลาไหน
4. ภูเขาซีโยนที่บรรดา 144,000 คน ยืนอยู่เป็นภูเขาซีโยนในสวรรค์ หรือภูเขาซีโยนในโลกนี้
คำถามที่หนึ่ง บรรดา 144,000 คน หมายถึงใคร มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันไปดังนี้
     1) เป็นชนชาติอิสราเอลทั้งหมด ตามในบทที่ 7 ได้บอกรายชื่อของเผ่าต่างๆ ทั้ง 12 เผ่า (7:4-8)
                     2) เป็นชนชาติอิสราเอล ตามพระคัมภีร์เดิม 12 เผ่า และชนชาติอิสราเอลใหม่ (คริสตจักร) เพราะจำนวน 144,000 คน เป็นหมายเลขของ 12x12x1,000 12 แรกเป็นชนชาติอิสราเอลตามพระคัมภีร์เดิม 12 ที่สองเป็นชนชาติอิสราเอลใหม่ตามพระคัมภีร์ใหม่ คูณด้วย 1,000 เป็นจำนวนที่หมายถึง ความสมบูรณ์
                     3) เป็นคริสตชนที่ถูกเลือกสรรเป็นพิเศษ โดยมีคุณสมบัติตามที่ได้บันทึกไว้ในบทที่ 14 ข้อ 4-5  ไม่มีมลทินกับผู้หญิง เป็นผลแรกที่ถวาย ปากไม่กล่าวคำมุสา ชีวิตไม่ด่างพร้อย การอธิบายเช่นนี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มความเชื่อนี้มีปัญหาอยู่เสมอ โดยอ้างว่ากลุ่มตนเท่านั้น เป็นคริสตชนที่ถูกเลือกสรรเป็นพิเศษ
                คำถามที่ 2 บรรดา 144,000 คน บทที่ 7 กับบทที่ 14 เป็นกลุ่มเดียวกันหรือคนละกลุ่มโดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นกลุ่มคนเดียวกัน
                คำถามที่ 3 เกี่ยวกับช่วงเวลานั้น มีทัศนะที่ต่างกัน  แต่น่าจะเป็นเหตุการณ์อยู่ในช่วงภัยพิบัติ 7 ปี หรือที่เรียกว่าความทุกขเวทนาครั้งใหญ่ โดยอ้างเหตุผลจากบทที่ 7 ข้อที่ 14 ว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกัน มวลชนจากทุกประชาชาติอยู่ต่อพระพักตร์พระเมษปโดก สังเกตคำแรกของข้อ 9 ที่ว่า ต่อจากนั้นมา แสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันระหว่าง ข้อ 1-8 กับ ข้อ 9-17 จึงน่าจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันหรือเวลาใกล้กัน อีกเหตุผลหนึ่งที่คล้องจองกับเนื้อหาของบทที่ 14 ข้อที่ 3 ที่ว่า คนเหล่านี้ร้องเพลงบทใหม่ซึ่งไม่มีผู้ใดร้องได้ คำอธิบายคือ ที่ไม่มีผู้ใดร้องได้เพราะเป็นประสบการณ์ในช่วงภัยพิบัติอันแสนจะยากเข็ญลำบาก ต้องต่อสู้ยืนหยัดความเชื่อจนถึงที่สุด เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงนี้จะไม่เข้าใจสภาพของพวกเขา และเมื่อพวกเขาได้นำเอาประสบการณ์เหล่านี้กลั่นกรองเป็นบทเพลง แน่นอนคนอื่นจะไม่สามารถร้องได้
                คำถามที่ 4  นิมิตที่ยอห์นได้เห็นนั้น เป็นภูเขาซีโยนบนสวรรค์หรือในโลกนี้
วอร์เรน ดับเบิลยู ไวร์สบี เชื่อว่าเป็นซีโยนบนสวรรค์ โดยอ้างพระธรรมฮีบรู 12:22-24 ที่ว่า "แต่ท่านทั้งหลายได้มาถึงภูเขาซีโยนและมาถึงที่ชุมนุมทูตสวรรค์มากมายเหลือที่จะนับได้…" ทำให้เห็นภาพของบรรดา 144,000 คน บนสวรรค์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แต่  จอห์น เอฟ วาลวูร์ด เห็นว่าน่าจะเป็นซีโยนบนแผ่นดินโลกมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่พระคริสต์เสด็จมาปกครองแผ่นดินโลกนี้ 1,000 ปี บรรดา 144,000 คน คือผู้ที่ได้รับการประทับตราไว้ (7:3, 14:1) เพื่อรักษาพวกเขาไว้จากภัยอันตรายทั้งสิ้น และไม่ผ่านการตายเข้าสู่การปกครองพันปีของพระคริสต์  เพราะฉะนั้นพวกเขายังมีกายในสภาพของเนื้อหนังตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้นิมิตที่ยอห์นเห็น ภูเขาซีโยนจึงไม่น่าเป็นภูเขาซีโยนบนสวรรค์ แต่เป็นภาพในช่วงการปกครองพันปีของพระคริสต์ในโลกนี้
        1.2  บทเพลงจากสวรรค์
                อีกครั้งหนึ่งที่ฉากเหตุการณ์ในสวรรค์ดูน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะมีเสียงดังจากสวรรค์ดุจเสียงน้ำมากหลาย ดุจเสียงฟ้าร้องสนั่น และเสียงพวกดีดพิณกำลังเล่นพิณอยู่ เป็นเสียงเพลงของคนเหล่านั้นที่ได้รับการไถ่จากการเป็นทาสของความผิดบาป เสียงเพลงนี้คงดังมากและน่าประทับใจจนยอห์นต้องใช้ภาพถึงสามภาพเพื่อบรรยายถึงเสียงนั้น  เช่นเดียวกัน เสียงเพลงนมัสการที่คริสเตียนสรรเสริญพระเจ้าก็เป็นเพลงที่เป็นที่พอพระทัยต่อพระพักตร์พระเจ้า ไม่น่าแปลกที่หลายคนไปโบสถ์โดยไม่มีความสุขและไม่ค่อยอยากร้องเพลงโมทนาพระคุณพระเจ้า เพราะเขาอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ส่วนตัว เช่นเดียวกับพระธรรมตอนนี้ที่บอกว่า ไม่มีใครสามารถร้องเพลงนี้ได้นอกจากคนแสนสี่หมื่นมี่พันคนนั้น เพราะเขามีประสบการณ์จากช่วงทุกขเวทนาครั้งใหญ่
        1.3  คนเหล่านี้มิได้มีมลทินกับหญิงและเป็นพรหมจารี              
ข้อความตอนนี้คงเป็นภาพเปรียบเทียบถึงคริสเตียนที่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้าจึงบริสุทธิ์และไม่แพ้ต่อการทดลอง พระคัมภีร์ไม่ได้สอนว่าเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งผิดสำหรับคู่สามีภรรยา  และในพระคัมภีร์เดิมนั้นการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรูปเคารพคือการล่วงประเวณีฝ่ายวิญญาณ (เยเรมีย์ 3.6-9)
ภาพพรหมจารีบริสุทธิ์นั้นเป็นภาพของคริสตจักรซึ่งเป็นเจ้าสาวที่ผูกพันกับพระคริสต์
ภาพของบรรดา 144,000 คน ที่ปราศจากมลทินรักษาพรหมจารีติดตามพระเมษโปดก ปากไม่กล่าวคำมุสา ชีวิตไม่ด่างพร้อยแสดงให้เห็นว่า แม้อยู่ท่ามกลางสิ่งเลวร้ายทั้งปวง คนของพระเจ้าได้รักษาชีวิตที่บริสุทธิ์ เป็นพยานที่ดี  เป็นไปได้ว่า ชนชาติอิสราเอลกลุ่มนี้เคยปฏิเสธพระมาซีฮามาแล้วเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่ง มาครั้งนี้แม้ต้องตกอยู่ในสภาพเลวร้ายแค่ไหนเขาจะไม่ยอมให้ผิดพลาดซ้ำสอง จึงมุ่งมั่นแต่จะใช้ชีวิตให้ดีที่สุด รักษาความเชื่อไว้อย่างมั่นคงเพื่อรับการเสด็จมาปกครองของพระมาซีฮา ด้วยเหตุนี้ปากเขาจะไม่กล่าวคำมุสา ชีวิตไม่ให้ด่างพร้อยเพื่อเป็นผลแรกถวายแด่พระมาซีฮาในอาณาจักรพันปี
 มีข้อสังเกตสำหรับพระธรรมตอนนี้ คือภาพเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ถูกบังคับให้รับเครื่องหมายของซาตานที่มือขวาหรือที่หน้าผากในบทที่ 13:16-18 กับผู้ที่มีตราประทับของพระเจ้า คือ พระนามของพระบิดา ในบทที่ 14:1 ภาพนี้บอกให้เรารู้ว่า แม้คนทั่วโลกจะคล้อยตามซาตานไป แต่ก็ยังมีคนของพระเจ้าที่สัตย์ซื่อมั่นคงในความเชื่อ พระเจ้าจะทรงรักษาไว้จนถึงที่สุด
2. ข่าวจากทูตสวรรค์ทั้งสาม (14:6-13)
                ทูตสวรรค์องค์ที่หนึ่ง  ได้ประกาศข่าวประเสริฐอันเป็นอมตะ แก่ชาวโลกทั้งปวง ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกชาติ ทุกภาษา ที่ว่าเป็นข่าวประเสริฐอันอมตะนั้น เพราะเป็นข่าวที่นำความรอดสู่ผู้ที่รับขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่พระเจ้าทรงประทานพระคุณแก่มนุษย์ในโลกให้กลับคืนมาหาพระเจ้า   เนื้อหาของข่าวประเสริฐ คือยำเกรงพระเจ้า ถวายเกียรติแด่พระองค์  นมัสการพระผู้ทรงสร้างที่เที่ยงแท้  เพราะในโลกช่วงนี้มนุษย์ถูกบังคับให้กราบไหว้สัตว์ร้ายและรับเครื่อง
หมายของมัน
                ทูตสวรรค์องค์ที่สอง  ได้ประกาศให้รู้ว่า บาบิโลนมหานครนั้นล่มจมแล้ว ล่มจมแล้ว (บาบิโลนมหานคร ได้ถูกพูดถึงชัดเจนยิ่งขึ้นในบทที่ 16:18-19 และในบทที่ 18 ซึ่งได้กล่าวถึงบาบิโลนเป็นมหานครอย่างน้อย 9 แห่ง)
     14:8  ทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งเป็นองค์ที่สองตามไปประกาศว่า บาบิโลนมหานครนั้นล่มจมแล้ว ล่มจมแล้ว  นครนั้นทำให้ประชาชาติทั้งปวงดื่มเหล้าองุ่นแห่งความกำหนัดของเธอในการล่วงประเวณี
มหานครบาบิโลนในสมัยโบราณเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรที่ชั่วร้ายและเป็นศัตรูต่ออิสราเอล ผู้รับหนังสือวิวรณ์ในสมัยของยอห์นจะต้องเข้าใจทันทีว่า บาบิโลนในที่นี้ได้แก่ราชอาณาจักรโรมันซึ่งมีลักษณะเหมือนกับบาบิโลน  กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์แห่งบาบิโลนได้ตรัสว่า นี่เป็นมหาบาบิโลนไม่ใช่หรือ  ซึ่งเราได้สร้างไว้ด้วยอำนาจอันใหญ่ยิ่งของเรา ใหเป็นราชฐานและเพื่อเป็นศักดิ์ศรีอันสูงส่งของเรา (ดาเนียล 4.30)  เหตุฉะนั้น บาบิโลนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งโลกหรือสังคมที่ชอบอวดความสามารถของตนและไม่ยอมเชื่อฟังพระเจ้า เมืองใดหรือสังคมใดเป็นเช่นนี้จะต้องถูกทำลายไปในไม่ช้า   เราจะพบว่ามหานครบาบิโลนเป็นศูนย์กลางของโลกไม่ว่าระบบการเมือง (17:2,18) ระบบเศรษฐกิจ (18:11,15,19) ระบบศาสนา (17:3,6, 18:24) และสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง (17:5, 18:2)
                ทูตสวรรค์องค์ที่สาม   ได้ประกาศให้รู้ว่า ผู้ที่บูชาสัตว์ร้ายและรูปของมันคือผู้ที่มีเครื่องหมายของสัตว์ร้ายจะต้องรับพระพิโรธจากพระเจ้าเขาจะต้องถูกทรมานด้วยไฟ และกำมะถันตลอดไปนิตย์ ไม่มีการพักผ่อนเลยทั้งกลางวันและกลางคืน  
ใน  13.15-17 บรรดาคนที่ไม่ยอมบูชาสัตว์ร้ายนั้นไม่มีสิทธิ์ในการซื้อขายและจะต้องตาย แต่ที่นี่ผู้ที่บูชารูปสัตว์ร้ายนั้นจะมีโทษที่ร้ายแรงกว่านั้นเสียอีก นี่เป็นคำเตือนที่รุนแรงสำหรับชาวโลกทั้งหลาย
ในพระคัมภีร์ พระพิโรธของพระเจ้าเปรียบเหมือนถ้วยที่เต็มไปด้วยเหล้าองุ่นซึ่งคนชั่วจะต้องดื่มจนหมด พระพิโรธของพระเจ้าไม่เหมือนความโกรธของมนุษย์ที่บังคับตัวเองไม่ได้  แต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ที่บริสุทธิ์ที่สุดต่อความชั่วทุกอย่าง พระพิโรธของพระเจ้าที่เทออกมาจะไม่เจือปนความเมตตากรุณาหรือพระคุณของพระองค์เลย และนี่เป็นโทษที่จะมีต่อทุกคนที่ไม่ยอมนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่กลับไปนมัสการสัตว์ร้ายและรูปของมัน
และยอห์นได้ยินพระสุรเสียงจากสวรรค์สั่งให้เขียนว่า คนทั้งหลายที่ตายเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเป็นสุข เขาได้หยุดพักจากการงานของเขาและการงานที่เขาได้กระทำนั้นจะติดตามเขาไป
3. การเก็บเกี่ยวแผ่นดินโลก  (14:14-20)
                ยอห์นได้เห็นบุตรมนุษย์ประทับบนเมฆขาว ในที่นี้หมายถึง พระเยซูคริสต์ ภาพที่พูดถึงการเก็บเกี่ยวและเคียวเป็นภาพของการพิพากษาครั้งสุดท้ายที่พระคริสต์จะทำการพิพากษาโลกนี้  แท้ที่จริง ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวนั้นพระเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
ทูตสวรรค์องค์ที่หนึ่ง  ร้องทูลพระคริสต์ให้ทรงใช้เคียวเกี่ยวเถิด เพราะว่าถึงเวลาเกี่ยวแล้ว ผลที่ต้องเก็บเกี่ยวในแผ่นดินโลกสุกแล้ว นั่นหมายถึงเวลามาถึงแล้ว และพระองค์ก็ได้ทำการตวัดเคียวเกี่ยวผลที่แผ่นดินโลก
à  ผู้ถูกเกี่ยว คือ ธรรมิกชน  ผู้ชอบธรรม
ทูตสวรรค์องค์ที่สอง   ได้ออกมาจากพระวิหารบนสวรรค์พร้อมกับเคียวอันคม และมีทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์เหนือไฟ(8.3-5) ได้ร้องบอกให้ท่านเริ่มเกี่ยว  ต่อจากนั้นก็เป็นภาพของการเก็บเกี่ยวผลองุ่นที่สุกแล้ว และเทลงไปในบ่อย่ำองุ่นอันใหญ่แห่งพระพิโรธ   บ่อย่ำองุ่นถูกย่ำภายนอกเมือง ซึ่งคงจะเป็นกรุงเยรูซาเล็มตามโยเอล 3.12-14  
à การลงโทษภายนอกเมือง เป็นการย้อนเล็งถึงพระเยซูที่ได้ทรงทนทุกข์ทรมานภายนอกประตูนครเช่นเดียว
กัน  เพื่อทรงชำระประชาชนให้บริสุทธิ์ด้วยโลหิตของพระองค์เอง ฮีบรู 13.12
นี่เป็นภาพของการลงโทษต่อผู้ที่ถูกพิพากษาในครั้งสุดท้าย  โลหิตไหลออกจากบ่อย่ำองุ่นสูงถึงบังเหียนม้าและไหลนองถึงสามร้อยกิโลเมตร  (ภาษาเดิมว่า  1600 สทาดิโอน) เป็นการบรรยายถึงจำนวนมากมายมหาศาล
-  ในพระคัมภีร์  40  เป็นตัวเลขแห่งการลงโทษ (กันดารวิถี 14.34, ฉธบ 25.3) ถ้า  40 x 40 = 1600    ก็น่าแสดงถึงการลงโทษครั้งใหญ่
                -  ระยะทาง 300 กม. เท่ากับระยะทางจากพรมแดนทิศเหนือถึงพรมแดนทิศใต้ของปาเลสไตน์โดยประมาณ
                -  โลหิตท่วมสูงถึงบังเหียนม้า เป็นสัญลักษณ์บอกว่า จะมีโลหิตไหลออกมาเป็นจำนวนมากเนื่องจากการเข่นฆ่าครั้งใหญ่  แสดงให้เห็นว่าสงครามจะแผ่ขยายไปทั่วโลกก่อนการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระคริสต์
สรุปบทที่ 14 

เราจะเห็นถึงการทรงคุ้มครอง ปกป้องคน 144,000 คนตลอดช่วงแห่งความทุกขเวทนาครั้งใหญ่ และเป็นการประกาศถึงการพิพากษาอันน่าสะพรึงกลัว ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อผู้ที่ปฏิเสธพระคริสต์และหันไปติดตามซาตานกับสมุนของมัน

No comments:

Post a Comment