Monday, December 14, 2015

งานอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก

สัปดาห์ที่ 16     งานอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก               ชั้น พระธรรมวิวรณ์ คริสตจักรพลับพลา
งานอภิเษกสมรสของพระเมษปโดกกับเสียงร้องฮาเลลูยา   บทที่ 19.6-10
                หลังจากที่นครบาบิโลนล่มสลายแล้วในบทที่ 18 นั่นคือความทุกขเวทนาครั้งใหญ่บัดนี้ได้สิ้นสุดแล้ว  บนสวรรค์นั้นมีเสียงร้อง ฮาเลลูยา คือ สรรเสริญพระเจ้า    คำว่า ฮาเลลูยา มาจากคำฮีบรูในพันธสัญญาเดิม     ปรากฏในพันธสัญญาใหม่เพียง 4 ครั้งเท่านั้น     และทั้ง 4 ครั้งอยู่ในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 19 (ข้อ 1, 3, 4, 6) เพราะนี่เป็นเวลาแห่งความชื่นชมยินดีและชัยชนะ
                1. ยอห์นได้ยินเสียงดังกึกก้องดุจฝูงชนจำนวนมากในสวรรค์ร้อง ฮาเลลูยา เพราะการพิพากษาที่เที่ยงตรงและยุติธรรมของพระองค์ (19:1) เป็นเสียงของเหล่าผู้พลีชีพเพื่อพระคริสต์ในช่วงเวลาแห่งทุกขเวทนาครั้งใหญ่  สำหรับคนเหล่านี้ การพิพากษาลงโทษบาบิโลนหมายถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ คือ หญิงแพศยาที่ได้หลอกลวงและได้ฆ่าผู้ชอบธรรม
                2. เมื่อพวกเขาร้องครั้งที่สองว่า ฮาเลลูยา ไฟที่เกิดจากนครนั้นก็ลุกอยู่ตลอดไป นั้นหมายถึง โลกมนุษย์ที่ชั่วร้ายคือนครบาบิโลนจะถึงกาลอวสานอย่างเด็ดขาด ไม่มีวันที่จะฟื้นคืนขึ้นมาอีก
                3. ผู้อาวุโส 24 คนกับผู้มีชีวิตทั้งสี่ร้อง อาเมน ฮาเลลูยา ผู้อาวุโสเหล่านี้อยู่ในสวรรค์ก่อนแล้ว  พวกเขาต่างก็แสดงความเห็นที่ให้สรรเสริญพระเจ้า เพราะความเที่ยงตรงและยุติธรรมของพระองค์ นอกจากนั้นยังมีเสียงจากพระที่นั่งกำชับให้ผู้รับใช้พระเจ้าทุกคนจงสรรเสริญพระเจ้า (19:4-5) ผู้รับใช้ในที่นี้หมายถึงคริสเตียนทุกคน
                4. ฝูงชนเป็นอันมากดุจเสียงน้ำมากหลายและดุจเสียงฟ้าร้องสนั่น ได้ร่วมกันร้องว่า ฮาเลลูยา เพราะว่าพระเจ้าของเราผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุดทรงครอบครองอยู่ และถึงเวลาพิธีมงคลสมรสของพระเมษโปดกกับคริสตจักรของพระองค์ เจ้าสาวคือคริสตจักรที่เตรียมพร้อมแล้ว (19:6-7)
                พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด เป็นคำแสดงถึงสิทธิอำนาจของพระเจ้าที่ทรงเป็นพระผู้สร้างและครอบครองสรรพสิ่งทั้งปวงตลอดไปเป็นนิตย์  ไม่ว่าจะเป็นประชาชาติ ธรรมชาติ ดวงดาวและสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง เพราะฉะนั้นคำนี้ถูกใช้อย่างน้อย 9 ครั้งในพระธรรมวิวรณ์  ดังนี้
·        พระเจ้าผู้ทรงอยู่เดี๋ยวนี้ ผู้ได้ทรงเป็นอยู่ในกาลก่อน ผู้จะเสด็จมานั้น และผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ได้ตรัสว่าเราเป็น อัลฟา และโอเมกา (1:8)
·        บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ผู้ทรงดำรงอยู่บัดนี้ และผู้ทรงอยู่ในกาลก่อน ผู้ทรงดำรงอยู่ในปัจจุบันและผู้ซึ่งจะเสด็จมา (4:8)
·        ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ผู้ทรงดำรงอยู่บัดนี้ และผู้ทรงอยู่ในกาลก่อน (11:17)
·        ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด   พระราชกิจของพระองค์ใหญ่ยิ่งและมหัศจรรย์นัก   ข้าแต่องค์พระมหากษัตริย์แห่งประชาชาติทั้งปวง    วิธีการทั้งหลายของพระองค์ยุติธรรมและเที่ยงตรง (15:3)
·        จริงอย่างนั้น พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด การพิพากษาของพระองค์เที่ยงตรง และยุติธรรมแล้ว (16:7)
·        ด้วยว่าผีเหล่านั้นเป็นผีร้ายกระทำหมายสำคัญ มันออกไปหากษัตริย์ทั้งปวงทั่วพิภพเพื่อให้บรรดากษัตริย์เหล่านั้นร่วมกันทำสงครามในวันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด (16:14)
·        ฮาเลลูยา เพราะว่าพระเจ้าของเราผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุดทรงครอบครองอยู่ (19:6)
·        พระองค์ทรงครอบครองเขาด้วยคทาเหล็ก พระองค์ทรงเหยียบบ่อย่ำองุ่น แห่งพระพิโรธอันเฉียบขาด ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด (19:15)
·        ข้าพเจ้าไม่เห็นมีวิหารในนครนั้นเลย เพราะพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด และพระเมษโปดกทรงเป็นพระวิหารในนครนั้น (21:22)
·        ในงานอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก เจ้าสาวคือ คริสตจักร สวมผ้าป่านเนื้อละเอียด คือ ความประพฤติอันชอบธรรมของธรรมมิกชน ซึ่งได้จากเจ้าบ่าว คือ พระเมษโปดก (19:8) โดยพระโลหิตของพระองค์ คริสตจักรจึงนับเป็นผู้ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้า  ในพระคัมภีร์ การสมรสมักเป็นสิ่งที่อธิบายถึงความสัม พันธ์ระหว่างธรรมิกชนกับพระเจ้า เช่นในพระธรรมโฮเชยา ในพระคัมภีร์เดิม และพระคริสต์กับคริสตจักรในพระคัมภีร์ใหม่  ภาพชีวิตแต่งงานเป็นภาพแห่งความสัมพันธ์สนิทระหว่างพระเจ้ากับชนชาติของพระองค์
คริสเตียนได้หมั้นไว้กับพระคริสต์โดยความเชื่อ และกำลังรอวันที่พระคริสต์จะเสด็จกลับมาเพื่อรับเจ้าสาวไป          กับพระองค์ และเข้าสู่งานมงคลสมรสที่ยั่งยืนนิรันดร์
สิ่งที่น่าสังเกตสองประการจากพระธรรมวิวรณ์ตอนนี้
1. ความเจริญสุขมีแก่คนทั้งหลายที่ได้รับเชิญมาในงานอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก
                จาก พระธรรมตอนนี้แสดงว่าในงานอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก นอกจากมีพระคริสต์ทรงเป็นเจ้าบ่าวและ คริสตจักรเป็นเจ้าสาวแล้ว ยังมีผู้ที่ได้รับเชิญให้มาร่วมงานอภิเษกสมรสด้วย คนเหล่านี้น่าจะเป็นคนละกลุ่มกับคริสตจักรหรือไม่ นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก  มีความเห็นจากนักวิชาการหลายท่าน เช่น
o   ฟิลิป เอดช์คัมบ์ ฮักเจส (Philip Edgcumbe Hughees) พยายามอธิบายว่าเจ้าสาวคือ คริสตจักรนั้นประกอบไปด้วยคนมากมายจากหลายที่ ซึ่งรวมถึงคนทั้งหลายที่ได้รับเชิญมาในงานพระเมษโปดกนั้นด้วย แต่ก็มีนักวิชาการอีกไม่น้อยที่ตั้งข้อสงสัยว่าบทบาทของคริสตชน คือ เจ้าสาว และเจ้าสาวกับแขกที่ได้รับการเชื้อเชิญมาร่วมงานไม่น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน
o   วอร์เรน ดับเบิลยู ไวส์บี บอกว่าแน่นอนที่เจ้าสาวไม่ใช่ผู้ที่ถูกเชื้อเชิญและคนเหล่านี้น่าจะหมายถึง ผู้ชอบธรรมในสมัยพระคัมภีร์เดิมและธรรมมิกชนในช่วงภัยพิบัติ
o   จอห์น เอฟ วาลวูรด์ อธิบายเรื่องนี้ง่ายๆ ว่าคริสตจักรเป็นเจ้าสาวเป็นเจ้าภาพร่วมกับเจ้าบ่าว ผู้ที่มาเป็นแขกประกอบด้วยเหล่าทูตสวรรค์และธรรมมิกชนอื่นที่แตกต่างจากเจ้าสาว ความแตกต่างนี้ไม่ใช่ความแตกต่างเรื่องพระพร แต่เป็นความแตกต่างเรื่องแผนการที่พระพระได้ทรงกำหนดไว้สำหรับแต่ละคน
2. ถ้อยคำเหล่านั้นเป็นพระวจนะแท้ของพระเจ้า
                ทูตสวรรค์กล่าวกับยอห์นเช่นนี้ คงมีวัตถุประสงค์ยืนยันว่านิมิตที่ยอห์นได้ยินนั้นเป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และในข้อที่ 10 ที่ว่า คำพยานกล่าวถึงพระเยซูนั้นเป็นหัวใจของการเผยพระวจนะ เป็นการชี้ให้เห็นชัดเจนว่าคำพยากรณ์ที่มีไม่ว่าในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและในภาคพันธสัญญาใหม่ต่างก็เล็งถึงพระเยซูคริสต์  มีพระองค์ทรงเป็นศูนย์กลางของเนื้อหาในพระวจนะ และนี่ก็เป็นการเตรียมการต้อนรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์  ยอห์นใช้คำว่า ถ้อยคำเหล่านั้นเป็นพระวจนะแท้ของพระเจ้า เป็นคำยืนยันถึงความสำคัญของนิมิตที่ยอห์นได้รับ 
                ยอห์นซาบซึ้งและประทับใจจนท่านต้องทรุดตัวลงแทบเท้าทูตสวรรค์เพื่อนมัสการท่าน แต่ทูตสวรรค์นั้นได้ห้ามยอห์นและเร่งเร้าให้ยอห์นนมัสการพระเจ้าเท่านั้น เพราะทูตสวรรค์เป็นแต่เพียงเพื่อนผู้รับใช้  พระธรรมข้อนี้ทำให้เรารู้ว่า มนุษย์ไม่สมควรไปกราบไหว้หรือนมัสการทูตสวรรค์ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างเช่นกัน
การเสด็จมาของพระคริสต์ ทรงม้าสีขาว
                การเสด็จมาครั้งแรกของพระคริสต์เกิดขึ้นตามตัวอักษรและสำเร็จในประวัติศาสตร์มาแล้วฉันใด   การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระองค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะสำเร็จตามตัวอักษรฉันนั้น
                ภาพที่ยอห์นได้เห็นต่อมาคือ สวรรค์เปิดออก
Ø พระคริสต์ผู้ทรงม้าขาวพร้อมด้วยพลโยธาในสวรรค์ได้ลงมายังโลกนี้ เราจะเห็นว่าไม่ใช่คนเดียวกับ ผู้ขี่ม้าขาวใน วิวรณ์ 6.2 เพราะนั่นคือจ้าวผู้ครองโลกในช่วงทุกขเวทนาครั้งใหญ่  แต่ในข้อนี้พระองค์ผู้ทรงม้าขาวคือผู้ครอบครองที่มาจากสวรรค์  ม้าขาว  เล็งถึงการเสด็จมาด้วยชัยชนะของพระคริสต์ ( เป็นธรรมเนียมของชาวโรมันที่แม่ทัพจะขี่ม้าขาวกลับจากการทำศึกที่ได้รับชัยชนะ )
Ø พระนามของพระองค์คือ สัตย์ซื่อและสัตย์จริง  ดังที่ยอห์นได้ประกาศว่า พระองค์พิพากษาและทรงกระทำสงครามด้วยความเป็นธรรม  ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับสัตว์ร้ายที่อสัตย์และอธรรม มันได้สัญญากับชนชาติอิสราเอล แต่สามปีครึ่งให้หลังก็ทำลายสัญญานั้น มันใช้ทุกวิถีทาง ล่อลวงให้ประชาชาติมาต่อสู้กับการเสด็จมาปกครองยังโลกของพระเยซูคริสต์ 
Ø พระเนตรของพระองค์ดุจเปลวไฟ  à ไม่มีอะไรปิดซ่อนไว้จากสายพระเนตรของพระองค์ได้ และยังแสดงถึงการลงโทษอันเฉียบขาดของพระองค์ ที่จะเผาผลาญความบาปชั่วให้สิ้นไป
Ø มงกุฎหลายอัน à สิทธิในการปกครองและครอบครอง
Ø พระนามจารึกไว้ไม่มีใครรู้จักเลยนอกจากพระองค์เอง à พระคริสต์ทรงเป็นผู้ที่เกินกว่าจะพรรณนา
Ø ฉลองพระองค์จุ่มเลือด à พระองค์เสด็จมาในฐานะผู้พิพากษา (ไม่ใช่เลือดของพระองค์)
Ø พระองค์ได้ใช้พระแสงจากพระโอษฐ์ทำลายบรรดานานาชาติ ที่มาทำสงครามกับพระองค์โดยการนำของสัตว์ร้ายและผู้นำปลอมเป็นผู้เผยพระวจนะ (16:14-16) พระวจนะเป็นดาบ (ฮีบรู 4.12) พระเยซูเป็นพระวาทะ
Ø มีพระนามจารึกที่ฉลองพระองค์และที่ต้นขาว่า จอมกษัตริย์และจอมเจ้านาย (King of King, Lord of Lords ) เป็นชื่อบ่งบอกความเป็นเอกของพระเยซูคริสต์   (1 ทิโมธี 6:14-16)
Ø ทูตสวรรค์ยืนบนดวงอาทิตย์และประกาศให้ฝูงนกมากินซากศพ à ผู้คนนับล้านๆจะถูกทำลาย
Ø  ผลของสงครามอารมาเกดโดน คือสัตว์ร้ายและผู้เผยพระวจนะปลอมถูกจับทิ้งลงไปในบึงไฟที่ไหม้ด้วยกำมะถัน ส่วนทหารนั้นถูกฆ่าด้วยพระแสงที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ และมีทูตองค์หนึ่งถือกุญแจบาดาลและโซ่ใหญ่ออกมาจับพญามารมัดไว้และทิ้งลงในบาดาล  ลั่นกุญแจประทับตราไม่ให้มันออกมาล่อลวงประชาชนได้อีกต่อไปเป็นเวลา 1000 ปี นี่เป็นการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ยังแผ่นดินโลก
ภาพเปรียบเทียบที่น่าสนใจพระธรรมวิวรณ์ คือ การใช้ผู้หญิงเพื่อการอุปมาอุปไมย
                1. ผู้หญิงที่มีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์ มีดวงจันทร์อยู่ใต้เท้า และบนศีรษะมีดาวสิบสองดวงเป็นมงกุฎ (12:1) โดยทั่วไปเชื่อว่าผู้หญิงนี้หมายถึง ชนชาติอิสราเอลที่ต้องตกอยู่ในสภาพทุกข์ยากลำบาก ถูกซาตานมุ่งทำร้าย แต่ได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้า (12:13-17)
                2. ผู้หญิงที่นุ่งห่มด้วยผ้าสีม่วงและสีแดงเข้ม และประดับด้วยเครื่องทองคำ เพชรพลอยต่างๆ และไข่มุก ถือถ้วยทองคำที่เต็มด้วยสิ่งน่าสะอิดสะเอียนและของโสโครกแห่งการล่วงประเวณีของตน ตามที่พระธรรมวิวรณ์อธิบาย ผู้หญิง หมายถึง นครใหญ่ที่มีอำนาจเหนือกษัตริย์ทั้งหลายทั่วแผ่นดินโลก (17:18) แรกเริ่มนั่งอยู่บนสัตว์ร้ายสีแดงเข้มทำร้ายธรรมมิกชนที่เป็นพยานของพระเยซูคริสต์ แต่สุดท้ายเขาสิบเขา (กษัตริย์ 10 องค์) และสัตว์ร้ายกลับเกลียดชังหญิงผู้นี้ทำให้นางไร้มิตรและเปลือยกาย สัตว์ร้ายจะกินเนื้อของนางและเอาไฟเผานางเสีย (17:16-17)
                3. เจ้าสาวที่สวมผ้าป่านเนื้อละเอียดใสบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นผ้าป่านเนื้อดี หมายถึง การประพฤติอันชอบธรรมชองธรรมมิกชน โดยทั่วไปเชื่อว่า เจ้าสาวนี้คือ คริสตจักรผู้ซึ่งเตรียมพร้อมแล้ว และได้รับพระราชทานอาภรณ์ที่บริสุทธิ์เพื่อเข้าสู่พิธีมงคลสมรสกับพระเมษโปดก (19:7-8)
สังเกตจากทั้ง 3 ภาพ คือ
1. สถานภาพที่ไม่เหมือนกัน ผู้หญิงที่มีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์ คือ หญิงมีครรภ์ และต่อมาจึงคลอดบุตร (12:1,5) ผู้หญิงที่นุ่งห่มด้วยผ้าสีม่วงและสีแดงเข้มเป็นผู้หญิงที่ล่วงประเวณีหรือแพศยา (17:2) และสำหรับเจ้าสาวนั้นเป็นหญิงพรหมจารีบริสุทธิ์ (2 โครินธิ์ 11:2)
2. เครื่องแต่งกายของทั้ง 3 แตกต่างกันมาก และเครื่องแต่งกายนี้ ได้แสดงถึงพฤติกรรมหรือการประพฤติที่แตกต่างกันของทั้ง 3

3. ผลสุดท้ายของทั้ง 3 ก็แตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นข้อสรุปที่ดีของชีวิตที่แตกต่างกันไม่ว่าด้านความเชื่อ และการประพฤติ 

No comments:

Post a Comment