Monday, December 14, 2015

แนะนำพระธรรมวิวรณ์

สัปดาห์ที่ 1  แนะนำพระธรรมวิวรณ์                           ชั้น พระธรรมวิวรณ์ คริสตจักรพลับพลา
1. นำเข้าสู่พระธรรมวิวรณ์
        หนังสือปฐมกาลเป็นพระธรรมเล่มแรกในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ซึ่งเป็นการเปิดฉากจุดเริ่มต้นของมนุษยชาติและโลกใบนี้ ส่วนหนังสือวิวรณ์เป็นพระธรรมเล่มสุดท้ายในพระคริสตธรรมคัมภีร์ และได้ปิดฉากมนุษยชาติและโลกใบนี้เช่นเดียวกัน
        ในพันธสัญญาใหม่ได้เริ่มต้นด้วยพระกิตติคุณทั้ง 4 เล่ม ซึ่งเป็นเรื่องราวการเสด็จมาครั้งแรกของพระเยซูคริสต์ และหนังสือวิวรณ์ได้ปิดท้ายพันธสัญญาใหม่ด้วยเรื่องการเสด็จมาครั้งที่ 2 ของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นบทสรุปของคำพยากรณ์มากมายในพันธสัญญาเดิมที่ยังไม่สำเร็จ และได้สำเร็จสมบูรณ์ในพระธรรมวิวรณ์นี่เอง (ดูตาราง 1)
2. ความหมายของวิวรณ์
        วิวรณ์ หมายถึง การสำแดง หรือ การเปิดเผย  หนังสือวิวรณ์เป็นการเปิดเผยถึงแผนการของพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ต่อคริสตจักรทั้งหลาย เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับยุคสุดท้าย แท้ที่จริงคริสเตียนในทุกยุคทุกสมัยต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระคริสต์ หนังสือวิวรณ์จึงเหมาะที่สุดสำหรับคริสเตียนที่ต้องการจะเข้าใจถึงแผนการของพระเจ้า 
3. ผู้เขียน
        คำขึ้นต้นในหนังสือวิวรณ์ได้บอกอย่างชัดเจนว่า ยอห์น เป็นผู้เขียน  ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 จนถึงปัจจุบันได้ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ยอห์น บุตรเศเบดี 1 ใน 12 อัครสาวกของพระเยซู เป็นผู้เขียนจากการดลใจของพระเจ้า  ท่านเรียกตัวเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เป็นพี่น้องและเพื่อนร่วมการยากลำบากกับคริสตชน โดยท่านได้ตกเป็นเชลยเพราะการประกาศเรื่องของพระเยซูคริสต์และถูกส่งไปที่เกาะปัทมอส (1.1,9) ยอห์นรู้จักและคุ้นเคยกับคริสตจักรทั้งเจ็ดในแคว้นเอเชียเป็นอย่างดีและได้เขียนถึงพวกเขาด้วยสิทธิอำนาจที่ได้รับจากพระเจ้า
4. จุดประสงค์
        ยอห์นเขียนพระธรรมเล่มนี้เพื่อหนุนใจคริสเตียนที่กำลังเผชิญการข่มเหงอย่างหนักจากลัทธิบูชาจักรพรรดิ เนื่องจากในขณะนั้นอาณาจักรโรมันได้เริ่มบังคับให้อาณาจักรกราบไหว้บูชาจักรพรรดิเป็นเทพเจ้า สำหรับคริสเตียนที่เชื่อถือว่าพระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและไม่ยอมกราบไหว้ ก็ต้องเผชิญกับการข่มเหงอย่างรุนแรง ยอห์นจึงได้เขียนพระธรรมเล่มนี้ เพื่อหนุนใจให้คริสเตียนยืนหยัดมั่นคงในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามจากลัทธิบูชาจักรพรรดิ  ท่านได้แนะนำผู้เชื่อว่าฉากสุดท้ายระหว่างพระเจ้ากับซาตานใกล้เข้ามาแล้ว ซาตานจะยิ่งเพิ่มการข่มเหงต่อคนของพระเจ้า ซึ่งพวกเขาต้องยืนหยัดอดทนแม้อาจจะต้องตาย พวกเขาได้รับการป้องกันอันตรายฝ่ายวิญญาณและจะมีชัยชนะอย่างเด็ดขาด เมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จกลับมาคนชั่วร้ายจะถูกทำลายนิรันดร์ คนของพระเจ้าจะเข้าสู่สง่าราศีถาวรนิรันดร์เช่นกัน สิ่งที่ต้องทำก็คือ อดทนและยึดความเชื่อไว้ให้มั่น นอกจากนั้นยอห์นยังได้เขียนเป็นลักษณะคำพยากรณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
พระธรรมวิวรณ์จึงเป็นพระธรรมที่สำคัญสำหรับผู้เชื่อ คือ
1. พระเจ้าได้ทรงสำแดงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นใน ปฐมกาล 1-3 จะสำเร็จครบบริบูรณ์ตาม วิวรณ์ 20-22 เพราะทั้งในหนังสือปฐมกาลและวิวรณ์ต่างกล่าวถึงต้นไม้แห่งชีวิต โลกที่ปราศจากบาป และพระเจ้าทรงสถิตอยู่กับประชากรของพระองค์
2. วิวรณ์เขียนขึ้นสำหรับคริสตจักรเล็กและอ่อนแอที่มีอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งกำลังเผชิญกับการสอนผิดภายในคริสตจักรเองและกำลังถูกข่มเหงจากภายนอก สภาพของคริสตจักรหลายแห่งในปัจจุบันก็มีลักษณะคล้ายกับคริสตจักรในสมัยนั้น
3. เป็นการสำแดงของพระเจ้าเกี่ยวกับเหตุการณ์หลายอย่างที่จะเกิดขึ้นในยุคสุดท้าย
4. มีคำสัญญาว่า ผู้ที่อ่านและเชื่อฟังจะได้รับพระพรและความยินดี
5.  ผู้รับ  
        พระธรรมวิวรณ์ได้เขียนถึงคริสตจักรทั้งเจ็ดในแคว้นเอเชีย (1.4) เนื่องจากจุดที่ตั้งของคริสตจักรทั้งเจ็ดนั้นตั้งอยู่บนเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังเมืองต่างๆได้สะดวก เราจึงพอจะมองเห็นได้ว่า ยอห์นมีความตั้งใจที่จะให้คริสตจักรทั้งเจ็ดแห่งเป็นศูนย์กลางในการส่งต่อพระธรรมฉบับนี้ไปยังคริสตจักรในเมืองอื่นๆ ทำให้ไม่มีข้อสงสัยใดๆว่า พระธรรมเล่มนี้แท้จริงแล้วก็เขียนเพื่อคริสตจักรทั้งหมด เนื่องจากว่าการข่มเหงนั้นเกิดขึ้นทั่วไป
6.  เวลาทีเขียน
        ขณะที่เขียนนั้นพวกคริสตชนในแคว้นเอเชียกำลังถูกข่มเหง รับความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น (1.9, 17.6) ตั้งแต่ราว ค.ศ.64 เป็นต้นมา จักรพรรดิเนโรได้ข่มเหงคริสเตียนทั่วอาณาจักรโรมัน และเชื่อกันว่าทั้งอัครสาวกเปโตรและอัครทูตเปาโลก็ถูกประหารในช่วงนี้
         แต่นักพระคัมภีร์ส่วนใหญ่เชื่อว่ายอห์นเขียนพระธรรมวิวรณ์ในสมัยของ จักรพรรดิโดมิเทียน (คศ.81-96) จักรพรรดิองค์นี้ได้ตั้งพระนามของพระองค์ว่า พระผู้ช่วยให้รอด และ จอมเจ้านายมีรูปของจักรพรรดิตั้งอยู่ทั่วอาณาจักรโรมัน ประชาชนถูกบังคับให้ถวายเครื่องบูชาต่อรูปนั้น และต้องกราบไหว้จักรพรรดิเป็นจอมเจ้านาย คริสเตียนถูกประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก บ้างก็ถูกทรมาน บ้างก็ถูกจับไปเป็นเชลยตามแคว้นต่างๆทั่วอาณาจักรโรมัน (โครินธ์ 8.6) เนื่องจากการยืนหยัดไม่ยอมกราบไหว้บูชาจักรพรรดิ เพราะพวกเขานมัสการพระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียว  คริสตจักรที่กล่าวถึงในบทที่ 2-3 นั้นเป็นสภาพคริสตจักรที่ก่อตั้งมานานแล้ว จึงมีความเชื่อว่ายอห์นได้เขียนพระธรรมเล่มนี้ในปี ค.ศ.95 ที่เกาะปัทมอส ซึ่งท่านถูกเนรเทศไปอยู่ที่นั่นเนื่องจากการประกาศพระเยซูคริสต์ของท่าน
7.  ลักษณะพิเศษของพระธรรมวิวรณ์
                1. ภาษาเต็มไปด้วยภาพพจน์และสัญลักษณ์ แตกต่างจากพระธรรมเล่มอื่นๆ
                2. เต็มไปด้วยนิมิตต่างๆมากมาย มีส่วนคล้ายกับพระธรรมเอเสเคียลและแดเนียล
                3. กล่าวถึงแผนการของพระเจ้าบางประการที่พระธรรมเล่มอื่นๆไม่ได้กล่าวถึง เช่น
                                3.1 การที่พระเจ้าเสด็จกลับมาครองโลกนี้โดยฤทธานุภาพของพระองค์ และทำให้โลกนี้กลายเป็นอาณาจักรของพระองค์ (11.15)
                                3.2 การมาของแผ่นดินของพระเจ้า ที่มาโดยผู้มีชัยชนะ (12.10) ในขณะที่พระธรรมเล่มอื่นๆกล่าวว่า แผ่นดินของพระเจ้าได้นำมาแล้วโดยพระเยซู (มธ 12.28, ลก 17.21) ในด้านหนึ่งแผ่นดินของพระเจ้าอยู่กับผู้เชื่อแล้วซึ่งก็คือคริสตจักร  แต่อีกด้านหนึ่งแผ่นดินของพระเจ้าจะมาพร้อมกับผู้ที่มีชัยชนะ
                4. แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงฤทธานุภาพปกครองเหนือสรรพสิ่ง ทรงมีแผนการที่ดีและจะนำทุกสิ่งให้สำเร็จตามที่ทรงกำหนดไว้ พระคริสต์กับผู้ที่มีชัยชนะจะครอบครองนานาประเทศในอาณาจักรพันปี (2.26-27, 12.5, 20.4-6)
                5. คริสตจักรเป็นคันประทีปที่ส่องสว่างและที่สุดจะเป็นกรุงเยรูซาเล็มใหม่
                6. คำกริยาและคำบรรยายไม่ได้ใช้คำในรูปของอนาคต แต่ใช้เป็นอดีต แสดงว่าสิ่งที่บันทึกนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ในสายพระเนตรพระเจ้ามันเป็นอดีตแล้ว แผนงานของพระเจ้าเกิดขึ้นสำเร็จแล้ว
                7. นิมิตและเหตุการณ์ต่างๆในพระธรรมวิวรณ์ไม่ได้เกิดขึ้นตามลำดับก่อนหลังทุกอย่าง  บางคนกล่าวว่า เพราะท่านยอห์นเป็นคนตะวันออก (เอเชีย) จึงไม่ได้สนใจเรื่องลำดับเวลามากนัก
                8. อ้างอิงพระคัมภีร์เดิมมากถึง 285 ข้อ (พระธรรมมัทธิวอ้างถึง 92 ข้อ, พระธรรมฮีบรูอ้างถึง 102 ข้อ)
                9. หมายเลข  ‘7’ ถูกใช้อย่างมากจนเป็นที่สะดุดตา
                10. เป็นพระธรรมเล่มเดียวที่มีคำสัญญาว่า จะให้พรแก่คนที่อ่าน ฟัง และถือรักษาข้อความที่เขียนไว้นี้ (1.3) แต่แช่งสาปผู้ที่ตัดหรือเพิ่มเติมข้อความอื่นใดเข้าไป (22.19)
8. วิธีการศึกษาพระธรรมวิวรณ์
        พระธรรมวิวรณ์เป็นหนังสือพิเศษซึ่งเป็นลักษณะของการพยากรณ์ โดยเห็นนิมิต ภาพพจน์และหมายสำคัญต่างๆ ซึ่งยากที่คำของมนุษย์จะสามารถอธิบายได้ ยอห์นคงมีความต้องการที่จะให้คริสเตียนเข้าใจโดยที่ฝ่ายศัตรูไม่เข้าใจ เพราะคริสตจักรในสมัยนั้นกำลังประสบกับการข่มเหงอย่างรุนแรง และพระธรรมวิวรณ์ได้เปิดเผยให้คริสเตียนได้เห็นขบวนการแห่งชัยชนะของพระเจ้าเหนืออำนาจทั้งหลายของโลก รวมทั้งอำนาจของซาตาน เราจึงจำเป็นต้องหาหลักการตีความหมายที่ถูกต้อง
8.1 ต้องพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่ยอห์นอ้างเกี่ยวกับนิมิต ภาพพจน์และหมายสำคัญต่างๆนั้น มีเบื้องหลังจากหนังสือในพระคัมภีร์เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ดาเนียล เอเสเคียล เศคาริยาห์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ศึกษาจะต้องศึกษาพระธรรมเล่มดังกล่าวควบคู่ไปด้วย ตีความหมายให้ต่อเนื่องกันและมีความเป็นเอกภาพ (2 ปต 1.20-21)
8.2 ให้พระคัมภีร์อธิบายความหมายของพระคัมภีร์เอง ไม่ยกข้อหนึ่งข้อใดมาแปลโดดๆโดยไม่สัมพันธ์กับพระธรรมเล่มอื่น โดยเฉพาะพระธรรมวิวรณ์นั้นเกี่ยวพันกับพระธรรมเล่มอื่นมากหลายเล่ม
8.3 ควรจะตีความหมายตามตัวอักษรก่อนอื่นใด โดยพิจารณาบริบทของพระคัมภีณ์ตอนนั้นๆ ทั้งข้อความที่นำหน้าและตามหลัง เพื่อให้การตีความถูกต้องและไม่ขัดแย้งกับพระธรรมอื่นๆ
8.4 ภาพสัญลักษณ์ต่างๆในพระธรรมวิวรณ์มีมากมาย แต่ละอย่างก็มีความหมายเฉพาะ จึงควรค้นหาความหมายตามแนวทางของพระคัมภีร์ให้มากที่สุด ไม่ควรนำความรู้ความเข้าใจภายนอกมาทำให้ความหมายจริงเขวไป ภาพเปรียบเทียบหรือสัญลักษณ์มีเพื่อให้เกิดความคิดและความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อให้จินตนาการ เช่น วว 12.3 มีพญานาคใหญ่สีแดงตัวหนึ่งมีเจ็ดหัวสิบเขา และที่เจ็ดหัวนั้นมีมงกุฎเจ็ดอัน เราไม่สามารถที่จะนึกภาพนั้นออก แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือความหมายของนิมิตนั้น พญานาคใหญ่สีแดงได้แก่มารซาตาน ซึ่งมีฤทธิ์อำนาจและสติปัญญาในการปกครองโดยเลียนแบบการปกครองของพระเจ้า ภาพสัญลักษณ์ต่างๆเป็นเหมือนรหัสลับที่ผู้รับจดหมายจะเข้าใจได้ทันที แต่ศัตรูจะนึกถึงความหมายไม่ออก และคริสเตียนในสมัยนี้ก็คงจะเข้าใจยากเช่นกัน แต่เมื่อใกล้จะสิ้นยุคบางอย่างจะสื่อควาหมายชัดเจนยิ่งขึ้นขึ้น
8.5 เรื่องเกี่ยวกับวันเวลาควรตีความหมายตามตัวอักษร
8.6 บางครั้งมีตัวเลขเป็นสัญลักษณ์ เช่น
                เลข  7  หมายถึง  ความสมบูรณ์   จำนวนที่สมบูรณ์
                เลข  6  หมายถึง  มนุษย์   (13.18 ปฏิปักษ์ของพระคริสต์มีเลข  666)
                เลข  3  หมายถึง  พระเจ้า   ตรีเอกานุภาพ
                เลข 12  หมายถึง  คนของพระเจ้า เช่น อิสราเอล 12 เผ่า   สาวก 12 คน
9.  โครงเรื่องของพระธรรมวิวรณ์
                1. คำนำ   (บทที่ 1.1-8)
                                1.1 บทนำ                                                                               บทที่ 1.1-3
                                1.2 คำขอบคุณ                                                                        บทที่ 1.4-8
                2. พระเยซูท่ามกลางคริสตจักรทั้งเจ็ด                                                  บทที่ 1.9-20
                3. จดหมายถึงคริสตจักรทั้งเจ็ด  (บทที่ 2-3)
                                3.1 คริสตจักรเอเฟซัส                                                            บทที่ 2.1-7
                                3.2 คริสตจักรสเมอร์นา                                                          บทที่ 2.8-11
                                3.3 คริสตจักรเปอร์กามัม                                                       บทที่ 2.12-17
                                3.4 คริสตจักรธิยาทิรา                                                            บทที่ 2.18-29
                                3.5 คริสตจักรซาร์ดิส                                                             บทที่ 3.1-6
                                3.6 คริสตจักรฟิลาเดลเฟีย                                                     บทที่ 3.7-13
                                3.7 คริสตจักรเลาดีเซีย                                                           บทที่ 3.14-22
                4. พระที่นั่ง หนังสือม้วน และพระเมษโปดก (บทที่ 4-5)
                                4.1 พระที่นั่งในสวรค์                                                            บทที่ 4
                                4.2 หนังสือม้วนที่มีตราประทับเจ็ดดวง                                               บทที่ 5.1-5
                                4.3 พระเมษโปดก                                                                  บทที่ 5.6-14
                5. ตราทั้งเจ็ด (บทที่ 6.1-8.1)
                                5.1 ตราดวงที่หนึ่ง - ม้าสีขาว                                                 บทที่ 6.1-2
                                5.2 ตราดวงที่สอง ม้าสีแดง                                                 บทที่ 6.3-4
                                5.3 ตราดวงที่สาม - ม้าสีดำ                                                    บทที่ 6.5-6
                                5.4 ตราดวงที่สี่ ม้าสีกะเลียว(สีหม่น)                                 บทที่ 6.7-8
                                5.5 ตราดวงที่ห้า วิญญาณใต้แท่นบูชา                               บทที่ 6.9-11
                                5.6 ตราดวงที่หก แผ่นดินไหวใหญ่                                   บทที่ 6.12-17
                                5.7 การประทับตราคน 144,000 คน                                      บทที่ 7.1-8
                                5.8 มวลชนจากทุกประชาชาติ                                              บทที่ 7.9-17
                                5.9 ตราดวงที่เจ็ด ความเงียบในสวรรค์                             บทที่ 8.1
                6. แตรทั้งเจ็ด  (บทที่ 8.2-11-19)
                                6.1 คำนำ                                                                                 บทที่ 8.2-5
                                6.2 แตรคันที่หนึ่ง ลูกเห็บและไฟปนด้วยเลือด                               บทที่ 8.6-7
                                6.3 แตรคันที่สอง ภูเขาใหญ่ถูกทิ้งลงทะเล                       บทที่ 8.8-9
                                6.4 แตรคันที่สาม ดาวใหญ่เป็นเปลวไฟ                           บทที่ 8.10-11
                                6.5 แตรคันที่สี่ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวถูกทำลาย               บทที่ 8.12-13
                                6.6 แตรคันที่ห้า ภัยพิบัติจากตั๊กแตน                                                บทที่ 9.1-12
                                6.7 แตรคันที่หก การปลดปล่อยทูตสวรรค์ 4 องค์           บทที่ 9.13-21
                                6.8 ทูตสวรรค์และหนังสือม้วนเล็ก                                      บทที่ 10
                                6.9 พยานทั้งสอง                                                                    บทที่ 11.1-14
                                6.10 แตรคันที่เจ็ด การพิพากษาและบำเหน็จรางวัล         บทที่ 11.15-19
                7. บุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ  (บทที่ 12-14)
                7.1 ผู้หญิงและพญานาค                                                         บทที่ 12
                7.2 สัตว์ร้ายสองตัว                                                                บทที่ 13
                7.3 พระเมษโปดกและคน 144,000 คน                                บทที่ 14.1-5
                7.4 การเก็บเกี่ยวแผ่นดินโลก                                                                บทที่ 14.6-20
8. ขันแห่งพระพิโรธทั้งเจ็ด  (บทที่ 15-16)
                8.1 บทนำ บทเพลงของโมเสสและทูตสวรรค์                  บทที่ 15
                8.2 ขันใบที่หนึ่ง แผล ฝีร้ายทั้งตัว                                      บทที่ 16.1-2
                8.3 ขันใบที่สอง ทะเลกลายเป็นเลือด                                               บทที่ 16.3
                8.4 ขันใบที่สาม แม่น้ำและน้ำพุกลายเป็นเลือด                                บทที่ 16.4-7
                8.5 ขันใบที่สี่ ดวงอาทิตย์คลอกมนุษย์ด้วยไฟ                 บทที่ 16.8-9
                8.6 ขันใบที่ห้า ความมืด                                                     บทที่ 16.10-11
                8.7 ขันใบที่หก แม่น้ำยูเฟรติสแห้ง                                    บทที่ 16.12-16
                8.8 ขันใบที่เจ็ด แผ่นดินไหวอย่างร้ายแรง                         บทที่ 16.17-21
9. บาบิโลน หญิงแพศยาคนสำคัญ  (บทที่ 17.1-19.5)
                9.1 คำบรรยายถึงกรุงบาบิโลน                                              บทที่ 17
                9.2 การล่มสลายของบาบิโลน                                               บทที่ 18
                9.3 คำสรรเสริญพระเจ้าเพราะบาบิโลนล่มสลาย                  บทที่ 19.1-5
10. คำสรรเสริฐในงานสมรสของพระเมษโปดก                                  บทที่ 19.6-10
11. การเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์                                                                บทที่ 19.11-21
12. ยุคพันปี                                                                                            บทที่ 20.1-6
13. จุดจบของซาตาน                                                                             บทที่ 20.7-10
14. การพิพากษาที่พระที่นั่งใหญ่สีขาว                                                 บทที่ 20.11-15
15. สวรรค์ใหม่ แผ่นดินโลกใหม่ เยรูซาเล็มใหม่                                 บทที่ 21.1-22.5
16. สรุป                                                                                                  บทที่ 22.6-21         



ตาราง 1   ข้อเปรียบเทียบ ปฐมกาล 3 บทแรก และ วิวรณ์ 3 บทสุดท้าย

ปฐมกาล บทที่ 1-3
วิวรณ์ บทที่ 20-22
ในปฐมกาลพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน (1.1)
ข้าพเจ้าได้เห็นท้องฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ (21.1)
พระเจ้าทรงเรียกความสว่างนั้นว่าวันและความมืดนั้นว่าคืน (1.5)
จะไม่มีเวลากลางคืนในนครนั้นเลย (21.25)

พระเจ้าทรงสร้างดวงสว่างขนาดใหญ่ไว้สองดวง  (ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์) (1.16)
นครนั้นไม่ต้องการแสงของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (21.23)
เพราะวันใดที่เจ้าขืนกิน เจ้าจะต้องตายแน่
การไม่เชื่อฟังนำมาซึ่งความตาย (2.17)
ความตายจะไม่มีอีกต่อไป (21.4)
ซาตานได้ปรากฏเป็นผู้ล่อลวงมนุษย์ (3.1)
ซาตานไม่ปรากฏอีกตลอดชั่วนิรันดร์ (20.10)
มลทินแห่งบาปได้เข้ามาในสวน (3.6-7)
นครที่มลทินบาปจะเข้าไปไม่ได้เลย (21.27)
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าขาดสะบั้น
(3.8-10)
มนุษย์ได้กลับคืนดีกับพระเจ้าชั่วนิรันดร์ (21.3)
ชัยชนะเริ่มแรกของงู (ซาตาน) (3.13)
ชัยชนะสูงสุดของพระเมษโปดก (20.10,22.3)
ความทุกข์ลำบากจะเพิ่มขึ้นมากมาย (3.13)
ความตาย การคร่ำครวญ การร้องไห้และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป (21.4)
แผ่นดินจึงต้องถูกสาปเพราะตัวเจ้า (3.17)
จะไม่มีสิ่งใดถูกสาปแช่งอีกต่อไป (22.5)
อำนาจการปกครองของมนุษย์สูญเสียไปเพราะความล้มเหลวของมนุษย์คนแรก (3.19)
อำนาจการปกครองของมนุษย์จะกลับคืนมาใหม่ โดยการครอบครองของพระคริสต์ (22.5)
สวรรค์แห่งแรกถูกปิด (3.23)
สวรรค์แห่งใหม่เปิดออก (21.25)
มนุษย์ถูกตัดสิทธิ์การรับมรดกเพราะอาดาม (3.24)
มนุษย์ได้รับรับสิทธิ์รับมรดกคืนมาเพราะพระคริสต์ (22.14)
เขาถูกขับไล่ให้พ้นพระพักตร์พระเจ้า (3.24)
เขาจะได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์ (22.4)


No comments:

Post a Comment