Wednesday, November 6, 2013

พระธรรมฟิลิปปี


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  เปาโลเป็นผู้เขียน (1.1) ทั้งเนื้อหาของจดหมายและชีวประวัติชีวิตส่วนตัว สถานการณ์ในเวลานั้น ลีลาการเขียน ภาษาที่ใช้ คำศัพท์และแนวคิดต่างๆ รวมทั้งวิธีโต้แย้งลัทธิสอนผิดล้วนเป็นรูปแบบที่เปาโลใช้

       1.2  จุดประสงค์   เพื่อขอบคุณชาวฟิลิปปีที่ได้ส่งของไปช่วยเหลือเมื่อรู้ว่าเปาโลติดคุกอยู่ และเปาโลก็ถือโอกาสเขียนจดหมายฉบับนี้ให้เป็นประโยชน์ด้านอื่นๆด้วย
                1. ย้ำให้ตั้งมั่นในความเชื่อ  ต้องยอมทนทุกข์ลำบากเพื่อพระคริสต์อย่างที่ท่านทนอยู่นั้น ต้องยึดมั่นในพระวาทะแห่งชีวิต ต้องแสดงความรอดออกมาทางการดำเนินชีวิตด้วยความยำเกรงพระเจ้า
                2. เตือนให้ระวังพวกสอนผิด ซึ่งบิดเบือนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ว่า พระคุณของพระเจ้าทางพระเยซูนั้นไม่เพียงพอ ต้องรักษาธรรมบัญญัติด้วย และบางกลุ่มก็เน้นการปล่อยตัวตามเนื้อหนัง ทำบาปตามใจชอบ
                3. เพื่อแก้ไขความแตกแยกภายในคริสตจักร เปาโลเรียกร้องในเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูได้ ท่านได้เตือนสติสตรีสองคนที่บาดหมางกันคือ นางยูโอเดียและนางสินทิเคให้คืนดีกัน
                4. ท่านได้กำชับพวกเขาให้ดำเนินชีวิตให้สมกับข่าวประเสริฐอย่างต่อเนื่อง ให้เลียนแบบอย่างพระคริสต์ที่ถ่อมพระองค์ลงอย่างมาก สอนให้เขาไม่คิดว่าสำเร็จแล้วแต่ให้มุ่งตรงไปสู่หลักชัย  ให้ระลึกเสมอว่าบ้านที่แท้จริงอยู่ที่สวรรค์ อย่าปล่อยตัวตามเนื้อหนัง
                5. เพื่ออธิบายเหตุผลที่ส่งเอปาโฟรดิทัสกลับ เพราะเขาป่วยและหายแล้ว เกรงว่าชาวฟิลิปปีจะเป็นห่วง
               6. เพื่อแจ้งข่าวเกี่ยวกับตัวท่านเอง พี่น้องที่ฟิลิปปีห่วงท่านมากเมื่อรู้ว่าท่านติดคุกและอาจจะถูกประหารชีวิต ท่านบอกว่าการถูกจำจองของท่านเป็นเหตุให้ข่าวประเสริฐแพร่ออกไปในกรุงโรมและรอบๆ และผู้เชื่อหลายคนก็มีใจกล้าขึ้นในการประกาศ ท่านคาดหวังว่าจะได้รับการปล่อยตัวและจะส่งทิโมธีมาแจ้งข่าว
                7. เพื่อแสดงความขอบคุณชาวฟิลิปปีที่สนับสนุนท่าน

       1.3  ผู้รับ  เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงคริสตจักรในฟิลิปปี เมืองนี้เป็นเมืองสำคัญที่อยู่ทางตะวันออกของมาซิโดเนีย (ทางภาคเหนือของกรีซในปัจจุบัน)  ชื่อเมืองตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่กษัตริย์ฟิลลิปที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของอเล็กซานเดอร์มหาราช ต่อมาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของโรม (กจ 16.12) ฟิลิปปีเป็นเมืองแรกในทวีปยุโรปที่เปาโลประกาศ และเป็นคริสตจักรแห่งแรกในยุโรป      ซึ่งตั้งขึ้นหลังจากเปาโลเห็นนิมิตมีชาวมาซิโดเนียวิงวอนขอให้ไปช่วย (กจ 16.9) ในระหว่างการเดินทางประกาศเที่ยวที่ 2 คริสเตียนคนแรกของยุโรปคือ นางลิเดีย (กจ 16.11-15)

       1.4  เวลาที่เขียน   เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขณะที่ท่านติดคุกที่กรุงโรม ประมาณปี ค.ศ.60-61

       1.5  ลักษณะพิเศษ 
                 1) จดหมายฉบับนี้ไม่มีการเอ่ยถึงพระคัมภีร์เดิมเลย สมาชิกน่าจะเป็นคนต่างชาติเป็นส่วนใหญ่
                2) จดหมายฉบับนี้เป็นเหมือนจดหมายขอบคุณของมิชชันนารี และรายงานความก้าวหน้าของการรับใช้
                3) สอนการดำเนินชีวิตด้วยความถ่อมใจ ไม่กระวนกระวาย และความสามารถในการเผชิญทุกสิ่ง
                4) เน้นความชื่นชมยินดีในการเป็นคริสเตียน คำว่า ชื่นชมยินดี ปรากฏ 16 ครั้ง
                5) มีศาสนศาสตร์ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ฟป 2.5-11

2.  โครงเรื่องของพระธรรม ฟิลิปปี

                1. คำนำ                                                                                                   บทที่ 1.1-2
                2. คำขอบคุณและอธิษฐานเพื่อชาวฟิลิปปี                                           บทที่ 1.3-11
                3. สถานการณ์ส่วนตัวของเปาโล                                                          บทที่ 1.12-20
                4. คำท้าทายหนุนใจ   (บทที่ 1.27-2.18)
                                4.1 ให้ดำเนินชีวิตให้สมกับข่าวประเสริฐ                            บทที่ 1.27-30
                                4.2 เลียนแบบท่าทีการรับใช้ของพระคริสต์                         บทที่ 2.1-18
                5. ผู้ร่วมงานของเปาโล  (บทที่ 2.19-30)
                                5.1 ทิโมธี                                                                                บทที่ 2.19-24
                                5.2 เอปาโฟรดิทัส                                                                   บทที่ 2.25-30
                6. ตักเตือนให้ระวังคำสอนเท็จ   (บทที่ 3.1-4.1)
                                6.1 ให้ระวังพวกลัทธิยูดานิยม                                              บทที่ 3.1-16
                                6.2 ให้ระวังพวกเน้นคำพูดหรือเสรีภาพเกินขอบเขต          บทที่ 3.17-4.1
                7. คำหนุนใจสุดท้าย-ขอบคุณและสรุปจดหมาย  (บทที่ 4.2-23)
                                7.1 คำหนุนใจในด้านต่างๆของชีวิตคริสเตียน                    บทที่ 4.2-9
                                7.2 คำพยานและคำขอบคุณ                                                  บทที่ 4.10-20
                                7.3 คำทักทายและอวยพร                              บทที่ 4.21-23                         

3.  บทสรุป

                พระธรรมฟิลิปปี เป็น พระธรมแห่งความชื่นชมยินดี

แม้เปาโลจะเขียนจดหมายฉบับนี้จากในคุก แต่ความชื่นชมยินดีก็เป็นเนื้อหาหลักที่โดดเด่นในจดหมายฉบับนี้ เคล็ดลับก็คือว่า ความชื่นชมยินดีของท่านหยั่งรากลงในความสัมพันธ์ของท่านกับพระคริสต์ ทุกวันนี้ผู้คนต้องการความสุข  แต่ความสุขกลับขึ้นอยู่กับความสำเร็จ ความล้มเหลวและความราบรื่นในแต่ละวัน  คริสเตียนนั้นควรชื่นชมยินดีในทุกสถานการณ์ แม้ในยามที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเลวร้าย ในยามที่เราอยากบ่นว่า ในยามที่ไม่มีใครชื่นชมยินดี แต่พระคริสต์ยังคงครอบครองเหนือทุกสิ่ง และเรายังคงรู้จักพระองค์ พระองค์ยังคงรักเรา ดังนั้น เราจึงชื่นชมยินดีได้ทุกเวลา

1.     ความชื่นชมยินดีในความทุกข์ ฟป 1.1-30
2.     ความชื่นชมยินดีในการรับใช้ ฟป 2.1-30
3.     ความชื่นชมยินดีในความเชื่อ ฟป 3.1-21
4.     ความชื่นชมยินดีในการให้ ฟป 4.1-23
 
 
 
 

No comments:

Post a Comment