Thursday, November 7, 2013

พระธรรม 3 ยอห์น


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  อัครสาวกยอห์นเป็นผู้เขียน

       1.2  จุดประสงค์ 
               เป็นจดหมายส่วนตัวที่ไม่ได้ส่งให้คริสตจักร เพราะมีผู้นำที่ชื่อว่า ดิโอเตรเฟส ใช้อำนาจเผด็จการไม่ต้อนรับผู้ประกาศ ท่านยอห์นได้เขียนจดหมายฉบับนี้หนุนใจกายอัสให้ยังคงต้อนรับผู้ประกาศ  อย่าเอาแบบอย่างดิโอเตรเฟส

       1.3  ผู้รับ    ผู้รับจดหมาย 3 ยอห์น เป็นชายที่ชื่อ กายอัส ในที่นี้ยอห์นไม่ได้บอกว่ากายอัสเป็นใคร มีตำแหน่งหรือสำคัญอย่างไรในคริสตจักร ในพระคัมภีร์ใหม่มีการกล่าวถึงกายอัสอยู่ 3 คน
                1. กายอัส แห่งมาซิโดเนีย ซึ่งอยู่กับเปาโลและอริสทาคัสในเหตุการณ์จลาจลที่เมืองอเฟซัส (กจ 19.29)
                2. กายอัส แห่ง เดอร์บี ซึ่งเป็นตัวแทนของคริสตจักรถือเงินเรี่ยไรไปช่วยคริสตจักรเยรูซาเล็ม (กจ 20.4)
                3. กายอัส แห่ง โครินธ์ มีจิตใจโอบอ้อมอารี เลี้ยงดูเปาโล ได้ชื่อว่าเป็นผู้บำรุงคริสตจักรทั้งหมด (โรม 16.23) เป็นคนเดียวกับที่เปาโลให้บัพติศมา ต่อมาได้เป็นบิชอฟคนแรกแห่งคริสตจักรในเมืองเธสะโลนิกา
                กายอัสในจดหมายฉบับนี้อาจเป็นหนึ่งในสามคนนี้หรือไม่ก็ได้ แต่ตามที่ยึดถือกันมานั้น กายอัส ใน จดหมาย 3 ยอห์นต่อมาได้เป็นบิชอฟแห่งเปอร์กามัม โดยยอห์นเป็นผู้แต่งตั้งให้ด้วยตัวเอง

       1.4  เวลาที่เขียน   เขียนในช่วงเวลาเดียวกันกับ 1 และ 2 ยอห์น คือจากเมืองเอเฟซัส ราวปี ค.ศ. 85-95

       1.5  ลักษณะพิเศษ
                1. เป็นจดหมายที่แสดงถึงสิทธิอำนาจของผู้เขียนที่มีต่อคริสตจักร แต่มีความเป็นส่วนตัวกับบางคนเป็นพิเศษ และแสดงให้เห็นว่ามีบางคนในคริสตจักรที่ไม่ยอมรับสิทธิอำนาจของยอห์นที่เป็นผู้เขียน
                2. เนื้อหาของจดหมายเน้นการให้กำลังใจคนที่ทำดี และต่อต้านคนที่มีชีวิตที่เป็นปัญหาของคริสตจักร
                3. ใช้สิทธิอำนาจ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความรักและความอ่อนโยน
                4. เน้นชีวิตที่ดำเนินตามสัจจะ อันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นคริสตียนแท้

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 3 ยอห์น

                1. คำทักทาย                                                           ข้อที่ 1-2
                2. การชมเชยกายอัส                                               ข้อที่ 3-8
                3. การตำหนิดิโอเตรเฟส                                        ข้อที่ 9-10
                4. คำหนุนใจกายอัส                                               ข้อที่ 11
                5. ตัวอย่างของเดเมตริอัส                                       ข้อที่ 12
                6. สรุป                                                                    ข้อที่ 13-14

3.  บทสรุป     การให้การต้อนรับผู้รับใช้พระเจ้าที่ต้องตระเวนเดินทางในสมัยนี้อาจมีไม่มากเหมือนในสมัยพระคัมภีร์ แต่ความต้องการในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ลดน้อยลงอย่างแน่นอน หลายคนอาจไม่ได้มาพักที่บ้านเรา แต่เราก็สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างให้พวกเขาได้ เช่น เลี้ยงอาหารที่บ้าน ช่วยขับรถพาไปทำธุระหรืออำนวยความสะดวก ช่วยซื้อของใช้ที่จำเป็นให้หรือช่วยสนับสนุนด้านปัจจัย เพื่อให้พวกเขามุ่งมั่นอยู่ในงานประกาศและรับใช้ โดยการทำเช่นนี้เราก็ได้แสดงความรักของพระเจ้าในทางปฏิบัติ และมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข่าวประเสริฐของพระเจ้าด้วย ใครจะไปรู้ เราอาจกำลังให้การต้อนรับฑูตสวรรค์โดยไม่รู้ตัวก็ได้ (ฮีบรู 13.2)
 
 
 

No comments:

Post a Comment