Thursday, November 7, 2013

พระธรรม 1 ยอห์น


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  ผู้เขียนจดหมายฉบับนี้คือ ยอห์น บุตรเศเบดี อัครสาวกของพระเยซูคริสต์ และเป็นผู้เขียนพระกิตติคุณยอห์น และพระธรรมวิวรณ์ จดหมายของยอห์นไม่ได้อ้างถึงตัวท่านเหมือนกับจดหมายฉบับบอื่นๆในพระคัมภีร์ใหม่ ใน 2 ยอห์น ข้อ 1 และใน 3 ยอห์น ข้อ 1 ผู้เขียนเรียกตัวเองว่า ‘ผู้ปกครอง’ นั้น ทำให้บางคนคิดว่าน่าจะเป็นลูกศิษย์ของอัครสาวกยอห์นไม่ใช่ตัวท่านยอห์นเอง  อย่างไรก็ตาม ใน 1 ยอห์น ผู้เขียนเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ในลักษณะเป็นผู้ที่ได้ยิน ได้เห็น ได้สัมผัสกับพระองค์มาด้วยตนเอง (1.1) จดหมาย 1 – 2 และ 3 ยอห์น มีลักษณะการเขียน แนวคิดที่คล้ายคลึงกัน ฉะนั้นคำว่า ‘ผู้ปกครอง’ จึงเล็งถึงความเป็นผู้อาวุโสของยอห์น ซึ่งในขณะนั้นท่านอาจจะมีอายุถึง 90 ปีแล้ว และเป็นผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในบรรดาอัครฑูตของพระเยซูคริสต์

       1.2  จุดประสงค์   ยอห์นเขียนจดหมายฉบับนี้ เพื่อต่อต้านคำสอนเท็จที่กำลังแทรกซึมเข้ามาในคริสตจักร ลัทธิเทียมเท็จขณะนั้นเรียกว่า ‘ลัทธินอสติค’ ซึ่งในจดหมาย 2 เปโตรได้กล่าวถึงมาบ้างแล้ว ลัทธินี้สอนว่า
                1. ร่างกายเป็นสิ่งชั่วร้ายจึงช่วยให้รอดไม่ได้ แต่ความรอดคือการหลีกหนีจากร่างกาย
                2. จิตวิญญาณเป็นสิ่งดี จึงช่วยให้รอดได้
               3. ลัทธินอสติคปฏิเสธความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของพระเยซู เพราะถือว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ดังนั้นพระเยซูที่เป็นพระเจ้าที่บริสุทธิ์จะมามีร่างกายที่เป็นเนื้อหนังที่ชั่วร้ายไม่ได้ ความคิดนี้แยกเป็น 2 ทางคือ
                          ก. ทรรศนะแบบโดเสติส (Docetism) กลุ่มนี้เชื่อว่าพระเยซูเป็นวิญญาณเท่านั้น พระองค์ไม่มีกายเนื้อหนังอย่างมนุษย์ แต่ร่างกายที่ปรากฏบนโลกเป็นกายทิพย์ ซึ่งดูเหมือนร่างกายมนุษย์ที่มีเนื้อหนังแต่ไม่ใช่ ดังนั้นพวกนี้เชื่อว่าเมื่อพระเยซูเดินไปในที่ต่างๆนั้น พระองค์ไม่มีรอยเท้า
                         ข. ทรรศนะแบบเสรินตัส (Cerinthus) กลุ่มนี้เชื่อว่าพระคริสต์เสด็จมาสวมทับบนร่างกายมนุษย์อีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘เยซู’ ซึ่งชายคนนี้เป็นคนดี มีศีลธรรม เชื่อฟังพระเจ้า ในพิธีบัพติศมานั้นเองที่พระคริสต์เสด็จลงมาสวมทับชายผู้นี้ในสัณฐานคล้ายนกพิราบ เขาจึงมีฤทธิ์อำนาจ สามารถทำการอัศจรรย์ และประกาศข่าวประเสริฐของพระบิดาได้ แต่เมื่อเขาถูกตรึงบนกางเขนนั้น พระคริสต์ได้ออกจากร่างกายของเขาไป ดังนั้นผู้ที่ทนทุกข์ทรมานและตายบนไม้กางเขนจึงไม่ใช่พระคริสต์ แต่เป็นร่างของชายที่ชื่อเยซู
                จากทรรศนะทั้งสองทำให้เราเห็นว่า พวกนอสติคไม่เชื่อในความเป็นมนูษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ ดังนั้นใน 1 ยอห์น และ พระกิตติคุณยอห์น จึงเป็นคำสอนที่คัดค้านความคิดเหล่านี้ โดยท่านได้กล่าวใน 1 ยอห์น 4.2-3 ว่า วิญญาณที่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมนุษย์ก็มาจากพระเจ้า และผู้ที่ปฏิเสธความจริงนี้ก็เป็นปฏิปักษ์ของพระคริสต์ และในยอห์น 1.14 ท่านได้กล่าวว่าพระวาทะทรงบังเกิดเป็นเนื้อหนัง  ดังนั้นในคำขึ้นต้นจดหมาย ยอห์นจึงเน้นว่า เขาได้ยิน พินิจดูและกระทั่งสัมผัสพระองค์แล้วว่าทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แท้จริง
                4. พวกนอสติคมีความเชื่อว่า เนื้อหนังเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย พวกนี้จึงมีทรรศนะคติต่อเนื้อหนัง 2 ประการ
                          4.1 ทรมานร่างกายด้วยการอดอาหาร ครองโสด และกระทั่งทำร้ายร่างกายโดยเจตนา
                          4.2 เมื่อช่วยร่างกายให้รอดไม่ได้ก็ให้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน มึนเมาในราคะตัณหาให้เต็มที่โดยไม่ถือว่าบาปแต่อย่างใด ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ยอห์นได้คัดค้านอย่างเต็มที่
                5. พวกนอสติคอ้างว่าคนเราจะรอดได้ด้วยความรู้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้นี้ พวกนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
                          5.1 พวกจิตวิญญาณสูง พวกนี้ใกล้ชิดพระเจ้ามาก
                          5.2 พวกคนธรรมดา ซึ่งไม่สามารถเข้าใจศาสนาได้ถ่องแท้ และไม่สามารถใกล้ชิดพระเจ้าได้
                การแบ่งกลุ่มของคน 2 ประเภทนี้ ทำให้การสามัคคีธรรมในหมู่คริสเตียนกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ยอห์นชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่จะพิสูจน์ความเป็นคริสเตียนที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นความรักต่อพี่น้องและทุกคน
                6. พวกนอสติคเชื่อว่า    บุคคลฝ่ายวิญญาณหยั่งรู้ทุกสิ่งทั้งดีและชั่ว เขาจึงเป็นคนที่ดีพร้อมแล้ว     ดังนั้นยอห์นจึงเตือนว่า คนที่คิดว่าตนเองไม่มีบาปก็มุสาต่อตนเอง (1.9)

                นอกจากนั้น ยอห์นยังมีจุดประสงค์อีกบางประการในการเขียนจดหมาย คือ
                                - เพื่อผู้เชื่อในพระคริสต์จะมีความปลาบปลื้มยินดีอย่างบริบูรณ์ (1.4)
                                - เพื่อผู้เชื่อจะมีความมั่นใจในความรอดอย่างบริบูรณ์

       1.3  ผู้รับ    1 ยอห์นไม่ได้ระบุแน่นอนว่าเขียนถึงใคร ผู้รับอาจจะเป็นคนต่างชาติ สังเกตุจากคำกำชับตอนท้ายเตือนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับรูปเคารพ (5.21)  แต่ก็เป็นไปได้ว่าคำว่า ‘รูปเคารพ’ นั้นไม่ได้หมายถึงตามตัวอักษร แต่ผู้เขียนอาจจะหมายถึงคำสอนเท็จที่ว่างเปล่า ซึ่งถ้าพวกเขายอมรับก็เท่ากับว่ากำลังก้มกราบไหว้รูปเคารพ
                ผู้รับคงจะอยู่ในที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ (2.19)  และยอห์นรู้จักสถานการณ์และความต้องการของเขาเป็นอย่างดี รวมทั้งมีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นผู้เลี้ยงทางฝ่ายจิตวิญญาณ ยอห์นเขียนในภาษาที่ค่อนข้างคุ้นเคย โดยใช้คำว่า ‘ลูกของข้าพเจ้าเอ๋ย’  ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้รับเป็นคนที่ยอห์นได้นำมาสู่ความเชื่อ  สิ่งที่เราสรุปได้คือ ยอห์นเขียนถึงกลุ่มคริสตจักรที่ท่านรับผิดชอบอยู่ในแถบเอเชีย โดยเฉพาะคริสตจักรที่อยู่รอบๆเอเฟซัส

       1.4  เวลาที่เขียน   โดยทั่วไปเชื่อว่า ยอห์นเขียนจดหมายฉบับนี้ที่เมืองเอเฟซัส ประมาณปี ค.ศ.85-95 ถึงแม้จะเป็นการยากที่จะกำหนดวันเวลาที่แน่นอน แต่พอจะเห็นได้จากหลักฐานบางประการ
                1. หลักฐานจากผู้นำคริสตจักรยุคหลังอัครทูต เช่น อิเรนัส และ คลีเม้นท์ ได้ยืนยันว่ายอห์นเขียนจดหมายฉบับนี้เมื่ออายุมากแล้ว และเขียนหลังจากพระกิตติคุณยอห์นไม่นานนัก
                2. เนื้อหาในจดหมายโจมตีลัทธินอสติค ซึ่งแทรกซึมเข้ามาในคริสตจักรในปลายศตวรรษที่ 1

       1.5  ลักษณะพิเศษ
                1. ยอห์นพยายามนำผู้อ่านกลับสู่แนวความคิดหลักสำคัญ เช่น ความสว่าง ความจริง ความเชื่อ ความรัก และความชอบธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตคริสเตียน
                2. การใช้ภาษาอย่างตรงไปตรงมา ท่านไม่ยอมให้มีการประนีประนอมในเรื่องความเชื่อ เช่น ความมืดและความสว่าง ความชอบธรรมกับความบาป ผู้ใดที่รักโลกความรักของพระเจ้าก็ไม่อยู่ในผู้นั้น  และผู้ใดที่รับเชื่อแต่ไม่ประกาศหรือแสดงออกซึ่งชีวิตคริสเตียนที่แท้จริง คนนั้นก็เป็นคนมุสา
                3. ไม่ค่อยมีการอ้างอิงพระคัมภีร์เดิม เนื้อหาของจดหมายดูเหมือนมีรากฐานอยู่ที่ประสบการณ์และแนวคิดของยอห์นมากกว่าเป็นลักษณะการสำแดงเปิดเผยความจริง ยกพระคัมภีร์เดิมตอนเดียวคือ 3.12
                4. การอ้างอิงถึงหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ มีเป้าหมายเพื่อจะต่อสู้กับคำสอนผิด เนื่องจากเน้นเรื่องการบังเกิดและการทรงไถ่โดยพระโลหิตของพระเยซู  ยอห์นจึงไม่ได้เน้นการเป็นขึ้นมาจากความตาย

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 1 ยอห์น

                1. บทนำ – ความจริงแห่งการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระ                    บทที่ 1.1-4
                2. คริสเตียนในฐานะผู้สามัคคีธรรมกับพระบิดาและพระบุตร (บทที่ 1.5-2.28)
                                2.1 การทดสอบการสามัคคีธรรมด้านจริยธรรม (บทที่ 1.5-2.11)
                                                ก. เหมือนพระเจ้าในด้านศีลธรรม                      บทที่ 1.5-7
                                                ข. การสารภาพบาป                                           บทที่ 1.8-2.2
                                                ค. การเชื่อฟัง                                                     บทที่ 2.3-6
                                                ง. ความรักต่อพี่น้อง                                           บทที่ 2.7-11
                                2.2 ผู้ที่รักพระเจ้าไม่รักโลก                                              บทที่ 2.12-17
                                2.3 การทดสอบการสามัคคีธรรมด้านพระเยซูคริสต์ (บทที่ 2.18-28)
                                                ก. สิ่งที่ตรงกันข้าม – ปฏิปักษ์กับผู้เชื่อ              บทที่ 2.18-21
                                                ข. พระเยซูคริสต์ – ประเด็นหลักของการทดสอบ     บทที่ 2.22-23
                                                ค. การยืนหยัดในความเชื่อ – กุญแจแห่งการสามัคคีธรรม  บทที่ 2.24-28
                3. คริสเตียนในฐานะเป็นบุตรของพระเจ้า (บทที่ 2.29-4.6)
                                3.1 การทดสอบด้านจริยธรรมของการเป็นบุตร (บทที่ 2.29-3.24)
                                                ก. ความชอบธรรม                                            บทที่ 2.29-3.10ก
                                                ข. ความรัก                                                       บทที่ 3.10ข-24
                                3.2 การทดสอบการเป็นบุตรด้านพระเยซูคริสต์                บทที่ 4.1-6
                4. คริสเตียนในฐานะเป็นกลุ่มชนแห่งจริยธรรมและแห่งพระเยซูคริสต์ (บทที่ 4.7-5.12)
                                4.1 การทดสอบด้านจริยธรรม – ความรัก (บทที่ 4.7-5.5)
                                                ก. แหล่งที่มาของความรัก                                     บทที่ 4.7-16
                                                ข. ผลของความรัก                                                บทที่ 4.17-19
                                                ค. ความสัมพันธ์ระหว่าง รักพระเจ้ากับรักพี่น้อง    บทที่ 4.20-5.1
                                                ง. การเชื่อฟัง – หลักฐานของความรักที่มีต่อพระเจ้า     บทที่ 5.2-5
                                4.2 การทดสอบด้านพระเยซูคริสต์                                      บทที่ 5.6-12
                5. สรุป – ความแน่นอนอันยิ่งใหญ่ของคริสเตียน                                 บทที่ 5.13-21

3.  บทสรุป

                ต้นไม้ยังมีชีวิตอยู่ถ้ามันผลิดอกออกผล คริสเตียนก็ยังมีชีวิตอยู่ถ้ามีผลฝ่ายวิญญาณเกิดขึ้นในชีวิต ผลฝ่ายวิญญาณ 3 ประการที่กล่าวไว้ในพระธรรมเล่มนี้ คือ
1.     ความชอบธรรม – เราต้องมีชีวิตในความชอบธรรมของพระคริสต์ ประพฤติด้วยความชอบธรรม
2.     ความรู้ – เราต้องเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า
3.     ความรัก – เราต้องมีความรักเหมือนพระเยซูคริสต์ ด้วยการกระทำและด้วยความจริงใจ
ด้วยวิธีเช่นนี้ เราจึงมั่นใจว่าเราได้รับชีวิตนิรันดร์แล้ว (5.13) และสามารถมั่นใจในเรื่องความรอด ชีวิตความเชื่อและความรัก

                พระธรรมเล่มนี้สามารถใช้สร้างความมั่นใจให้แก่คริสเตียนที่เกิดผลว่าเขาได้รับชีวิตนิรันดร์แล้ว หรือใช้ท้าทายคริสเตียนที่หลับอยู่ให้เกิดผล  หรือใช้แยกแยะว่าใครเป็นคริสเตียนจอมปลอมที่กำลังพาคนอื่นให้หลงทางไป     คุณจะใช้พระธรรมเล่มนี้อย่างไร ??

 

 

No comments:

Post a Comment