Thursday, November 7, 2013

พระธรรม 2 ทิโมธี


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  เปาโลเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ และเป็นฉบับสุดท้ายของท่าน

       1.2  จุดประสงค์   เนื่องจากเวลานั้น คริสเตียนกำลังถูกข่มเหงจากจักรพรรดิ์เนโรอย่างรุนแรง ทำให้คริสตชนจำนวนมากหวาดกลัว พวกเขาละทิ้งเปาโลและละทิ้งความเชื่อ เปาโลจึงเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อหนุนใจทิโมธีให้มั่นคงในความเชื่อ และให้ยอมอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากโดยพึ่งพระคุณของพระเจ้า นอกจากนี้ยังกำชับทิโมธีให้รักษาและประกาศข่าวประเสริฐ แม้ว่าสภาพการณ์จะไม่เอื้ออำนวย
ในสถานการณ์ที่ผู้คนไม่ยอมฟัง ‘คำสอนอันมีหลัก’ เปาโลกำชับทิโมธีให้ ‘ทวนกระแส’ โดยจะต้องไม่ย่อท้อ ไม่ละเลยงานรับใช้ ไม่ตัดทอนข่าวประเสริฐเพียงเพื่อให้ผู้ฟังพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ยอมเก็บปาก แต่จะต้องเร่งเทศนาสั่งสอนมากยิ่งขึ้น (เราก็เช่นเดียวกัน เราอยู่ในยุคที่หาคนรับฟังข่าวประเสริฐยาก ผู้คนหูตึง เรายิ่งต้องประกาศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจูงใจผู้คน ให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย)
สุดท้ายท่านได้ขอให้ทิโมธีช่วยจัดการเรื่องส่วนตัวบางอย่าง และขอให้ทิโมธีแวะมาเยี่ยมที่คุกที่กรุงโรมโดยเร็ว

       1.3  ผู้รับ    เป็นจดหมายส่วนตัวถึงศิษย์ของท่านคือ ทิโมธี

       1.4  เวลาที่เขียน   เปาโลเขียนจดหมาย 1 ทิโมธีและติตัส หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากการจองจำครั้งแรกที่กรุงโรม แต่ท่านเขียนจดหมายฉบับนี้คือ 2 ทิโมธี ในคุก (1.8) ระหว่างการถูกจำจองครั้งที่สองในกรุงโรมและก่อนจะถูกจักรพรรดิ์เนโรสั่งประหารชีวิตไม่นานนัก คือในปี ค.ศ.67 (จักรพรรดิ์เนโรแห่งโรมเริ่มต้นข่มเหงคริสเตียนอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี ค.ศ.64 เป็นต้นมา)  เปาโลคงถูกจับเพราะความเชื่อและการประกาศพระกิตติคุณของท่าน

       1.5  ลักษณะพิเศษ  จดหมายฉบับนี้รวมทั้ง 1 ทิโมธีและติตัส   เปาโลมีคำสั่งที่รุนแรงและชัดเจนเกี่ยวกับผู้สอนเท็จและคำสอนของพวกเขา  เปาโลมีความห่วงใยอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบเนื่องจากคำสอนเท็จที่เกิดขึ้นในคริสตจักร ท่านบอกกับคริสตจักรว่าคำสอนเท็จนั้นมาจากมาร  โดยมีมนุษย์เป็นเครื่องมือในการประกาศ โดยปกติแล้วมันมีลักษณะใกล้เคียงกับความจริงมาก และมีผลกระทบต่อหลักข้อเชื่อและการดำเนินชีวิตของคริสเตียน คำสอนผิดนี้จะแผ่กว้างและรุดหน้าไปมากขึ้นเมื่อถึงยุคสุดท้าย การจะแยกแยะคำสอนผิดนี้ได้มีทางเดียวคือต้องรู้ความจริงเรื่องของพระเจ้าและสอนความจริงนี้ ในที่สุดชีวิตของผู้สอนเท็จก็จะเปิดเผยออกให้เห็นว่าแท้จริงแล้วเขาไม่ใช่คนของพระเจ้า จดหมายฉบับนี้เปิดเผยให้เรารู้ว่าสงครามฝ่ายวิญญาณนี้ยังคงจะดำเนินต่อไป และพระวจนะของพระเจ้าคือหนทางแห่งชัยชนะ

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 2 ทิโมธี

                1. คำนำ                                                                                                   บทที่ 1.1-4
                2. ความห่วงใยของเปาโลต่อทิโมธี                                                       บทที่ 1.5-14
                3. สถานการณ์ของเปาโล                                                                       บทที่1.15-18
                4. คำกำชับพิเศษต่อทิโมธี (บทที่ 2)
                                4.1 เรียกร้องให้อดทน                                                            บทที่ 2.1-13
                                4.2 เตือนเกี่ยวกับการโต้แย้งอันไร้สาระ                                บทที่ 2.14-26
                5. คำเตือนเกี่ยวกับยุคสุดท้าย (บทที่ 3)
                                5.1  เวลาแห่งความยุ่งยาก                                                      บทที่ 3.1-9
                                5.2 วิธีต่อสู้กับความยุ่งยากต่างๆ                                           บทที่ 3.10-17
                6. การเตรียมจากไปของเปาโล (บทที่ 4.1-8)
                                6.1 หนุนใจให้ประกาศข่าวประเสริฐ                                    บทที่ 4.1-5
                                6.2 มุมมองแห่งชัยชนะของเปาโล                                        บทที่ 4.6-8
                7. คำขอร้องละทักทาย                                                                       บทที่ 4.9-22

3.  บทสรุป

            ใจความสำคัญของ 2 ทิโมธีคือ สอนต่อไป  ใน 1 ทิโมธี เปาโลให้ทิโมธียับยั้งคำสอนผิดและครูที่ไม่ชอบธรรม นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ทิโมธีได้รับการข่มเหงจากคนเหล่านั้น  ดังนั้นเปาโลจึงต้องเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อให้ทิโมธีมั่นใจในการที่จะสอนต่อไปและไม่ล้มเลิกการงานนี้ไป

1.     สอนต่อไปโดยไม่ละอาย
-          อย่าละอายในการเป็นพยานถึงเรื่องของพระเยซูคริสต์ (1.6-11)
-          อย่าละอายในความทุกข์ยากลำบาก เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะชี้ว่าเราสอนผิด (ใน 1 ทธ 6.5-10 หลายคนคงจะโจมตีเปาโลที่ถูกจองจำว่าเพราะสอนผิด ถ้าคนสอนถูกจะต้องสบายมั่งคั่ง)
-          ต้องไม่ละอายถ้าผู้สอนเป็นแต่เพียงคนต่ำต้อย ยากจนหรือเป็นผู้ที่ถูกข่มเหง
2.     สอนต่อไปด้วยความเข้มแข็งและอดทน
ในหลายประเทศที่ผู้ประกาศข่าวประเสริฐต้องทนทุกข์และเสียสละอย่างมาก เราจึงต้องสอนต่อไปว่าแม้จะมีความยากลำบาก เราต้องไม่ยอมแพ้เพื่อจะได้รับบำเหน็จของเรา (4.5-8)
3.     สอนต่อไปในทุกสภาวะ
ให้ประกาศพระวจนะทั้งที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส (4.2) ในทุกสถานการณ์ (4.5)
 
 

 

No comments:

Post a Comment