Thursday, November 7, 2013

พระธรรมฮีบรู


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  จดหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน แต่พอจะสรุปได้ว่าผู้เขียนเป็นชาวยิวที่มีความเชี่ยวชาญในภาษากรีกและพระคัมภีร์เดิมฉบับที่แปลเป็นภาษากรีก มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของยิวดีมาก และรู้จักทิโมธีเป็นอย่างดีโดยเรียกทิโมธีว่า ‘น้อง’ (13.23)
                จากข้อมูลดังกล่าวทำให้คริสเตียนในสมัยแรกๆลงความเห็นว่า ผู้เขียนน่าจะเป็นบารนาบัส ซึ่งได้รับฉายาว่า ‘ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ’ แต่ต่อมาก็มีผู้ให้ความเห็นที่แตกต่างออกไป บางคนคิดว่าเป็นเปาโล บางคนก็คิดว่าน่าจะเป็นอปอลโล บางคนก็คิดว่าเป็นลูกา ดังนั้นเราจึงไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้

      1.2  จุดประสงค์   ผู้เขียนมีความห่วงใยว่า ผู้อ่านที่ตกอยู่ในอันตรายอาจจะหลงไปจากทางแห่งความเชื่อ จึงได้เขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อเตือนพวกเขาให้ระมัดระวังรักษาความจริงไว้ และยังได้หนุนใจให้พวกเขาต่อสู้เพื่อไปถึงความไพบูลย์ฝ่ายวิญญาณในพระคริสต์ เพราะพระองค์ทรงเป็นหนึ่งในทุกทาง ยิ่งใหญ่กว่ากฎของโมเสสที่เขาถือ
                จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อหนุนใจ ตักเตือนคริสเตียนที่ท้อถอย และคนที่ยังเป็นทารกฝ่ายวิญญาณ ผู้เขียนใช้จดหมายฉบับนี้เพื่อเป็นอาหารแข็งฝ่ายวิญญาณที่ช่วยเสริมความเชื่อให้เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ยามที่ต้องเผชิญการทดลองต่างๆ ผู้เขียนเป็นห่วงว่าพวกเขาจะละทิ้งความเชื่อ และพลาดจากพระพรที่พระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้ ด้วยว่าผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ ความหวังและความรักเท่านั้นที่จะได้เข้าสู่การพำนักของพระเจ้า

       1.3  ผู้รับ    ไม่ได้เอ่ยถึงว่าผู้รับเป็นใคร แต่มีหลักฐานว่าในปี ค.ศ.200  มีผู้เรียกจดหมายฉบับนี้ว่า ‘หนังสือที่มีไปถึงคนฮีบรู’ ซึ่งได้ให้หลักฐานว่าผู้ได้รับจดหมายเป็นผู้ที่รู้ประวัติศาสตร์ ธรรมบัญญัติ กฎระเบียบการนมัสการของชาวยิวเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่เคยได้รับการข่มเหงมาแล้วหลายครั้ง (10.32-34)

       1.4  เวลาที่เขียน   เราไม่แน่ใจว่าจดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นจากสถานที่ใด บ้างก็เชื่อว่าเขียนจากอเล็กซานเดรียในอียิปต์ (สถานที่ซึ่งชาวยิวได้อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก) บางคนก็คิดว่าเขียนมาจากโรม เพราะมีข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า ‘พวกพี่น้องที่มาจากอิตาลีก็ฝากความคิดถึงมายังท่านด้วย’ (13.24)  แต่อย่างไรก็ตามคำอธิบายที่ดีที่สุดคือ มีกลุ่มผู้เชื่อจากอิตาลีอยู่กับผู้เขียนในเวลานั้น และพวกเขาฝากความคิดถึงกลับไปบ้าน ดังนั้นจุดหมายปลายทางของจดหมายฉบับนี้น่าจะเป็นกรุงโรมมากกว่า
                เวลาที่เขียนจดหมายฉบับนี้ประมาณปี ค.ศ.65 มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า ฮีบรูถูกเขียนขึ้นก่อน ค.ศ.70 ซึ่งเป็นปีที่พระวิหารและระบบการถวายบูชาถูกทำลายลง เมื่อเนื้อหาในจดหมายมุ่งประเด็นว่า แท้จริงการตายของพระคริสต์นั้นได้ทดแทนระบบการถวายบูชาอันสมบูรณ์ในพระคัมภีร์เดิมแล้ว การเปรียบเทียบนี้คงไม่มีน้ำหนักหากพระวิหารได้ถูกทำลายลงแล้ว
                ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือ การกล่าวถึงเรื่องการข่มเหงที่เกิดขึ้นกับคริสเตียน สนับสนุนว่านั่นคือเวลาเริ่มต้นของการข่มเหงใหญ่ในสมัยของจักรพรรดิเนโร พวกเขาต้องพบกับความทุกข์ยากอันแสนสาหัสที่รออยู่ข้างหน้า (12.4)

       1.5  ลักษณะพิเศษ
               1. ผู้รับจดหมาย   ผู้เขียนฮีบรูไม่ได้ส่งจดหมายฉบับนี้ถึงกลุ่มคนที่กระจัดกระจายอยู่โดยไม่รู้จัก หากแต่เขียนถึงคนที่เขารู้จักดี ดังจะเห็นได้จากคำที่ผู้เขียนใช้ตลอดเวลา เช่น  ‘เรา’ และ ‘ให้เรา’ และใช้คำว่า ‘พี่น้อง’ ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้เขียนตั้งใจเขียนถึงผู้อ่านที่เป็นคริสเตียน  ซึ่งชื่อเดิมว่า‘จดหมายถึงชาวฮีบรู’ สนับสนุนความคิดที่ว่า ผู้รับคือคริสเตียนชาวยิวซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อถือที่สืบมาของคริสตจักร และในจดหมายที่มักอ้างอิงถึงพระคัมภีร์เดิมอยู่เสมอ รวมทั้งการพูดถึงอาโรน โมเสส และ ระบบปุโรหิต เรื่องเหล่านี้ล้วนสำคัญต่อชาวยิว แต่ตรงข้ามกับคนต่างชาติซึ่งจะไม่ประทับใจกับเรื่องเหล่านี้เลย จึงสรุปได้ว่าผู้รับคือคริสเตียนยิว
                2. มีคำเตือนอย่างรุนแรง 5 ตอน ในหนังสือฮีบรูที่เตือนเรื่องการหลงทางจากความจริงของพระเจ้า ข้อพิพาทที่กล่าวถึงทั้งหมดในฮีบรูก็เกี่ยวโยงกับ 5 ตอนนี้ทั้งสิ้น แม้ว่าคำเตือนเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุหลักของการโต้แย้งในฮีบรู แต่ก็มีความสำคัญต่อการอธิบายพระธรรมเล่มนี้เป็นอย่างมาก และจำเป็นที่จะต้องพิจารณาดูสภาพการณ์ของแต่ละตอนด้วย คำเตือนเหล่านี้ปรากฏอยู่ใน 2.1-4, 3.7-4.13, 5.11-6.20, 10.26-39 และ 12.12-29
                ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เตือนผู้อ่านถึงการหันเสียจากความจริงของพระเจ้าซึ่งจะหลงไปจากทางแห่งความรอดซึ่งพระเจ้าประทานให้ทางพระเยซูคริสต์ ข้อความเหล่านี้ทำให้บางคนคิดว่า เป็นไปได้ที่ผู้เชื่อแท้จะสูญเสียความรอดของตน แต่พระคัมภีร์ใหม่มีข้อพิสูจน์ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และยังยืนยันถึงความรอดอันมั่นคงนิรันดร์ของผู้เชื่อที่แท้จริงด้วย หลายคนกล่าวว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้หมายถึงคนที่ประกาศตนว่าเป็นคริสเตียน แต่ความจริงแล้วเขาไม่ได้เชื่อ

2.  โครงเรื่องของพระธรรม ฮีบรู

                1. บทนำ - การสำแดงใหม่อันสุดยอดของพระเจ้า                                  บทที่ 1.1-4
                2. พระคริสต์ทรงยิ่งใหญ่กว่าผู้นำในพันธสัญญาเดิม  (บทที่ 1.5-7.28)
                                2.1 พระคริสต์ทรงยิ่งใหญ่เหนือกว่าทูตสวรรค์ (บทที่ 1.5-2.18)
                                                ก. พระคัมภีร์ยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของพระบุตร       บทที่ 1.5-14
                                                ข. หนุนใจไม่ให้เพิกเฉยต่อการสำแดงในพระบุตร           บทที่ 2.1-4
                                                ค. พระคัมภีร์ตอนอื่นๆที่ยืนยันความยิ่งใหญ่ของพระบุตร บทที่ 2.5-18
                                2.2 พระคริสต์ทรงยิ่งใหญ่กว่าโมเสส  (บทที่ 3.1-4.13)
                                                ก. ภาพแสดงความยิ่งใหญ่ของพระคริสต์                        บทที่ 3.1-6
                                                ข. คำหนุนใจให้เข้าสู่ความรอดและการพัก                    บทที่ 3.7-4.13
                                2.3 พระคริสต์ทรงยิ่งใหญ่เหนือกว่าปุโรหิตอาโรน   (บทที่ 4.14-7.28)
                                                ก. คำหนุนใจให้ยึดมั่นในความเชื่อ                                 บทที่ 4.14-16
                                                ข. คุณสมบัติของปุโรหิต                                       บทที่ 5.1-10
                                                ค. คำหนุนใจให้ละทิ้งความเฉื่อยชาฝ่ายวิญญาณ      บทที่ 5.11-6.12
                                                ง. ความแน่นอนของพระสัญญาของพระเจ้า            บทที่ 6.13-20
                                                จ. ระบบปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่ของพระคริสต์                บทที่ 7
                3. ความยิ่งใหญ่ของการถวายเครื่องบูชาชองมหาปุโรหิตใหญ่ของเรา  (บทที่ 8-10)
                                3.1 พันธสัญญาที่ดีกว่า                                                          บทที่ 8
                                3.2 พระวิหารที่ดีกว่า                                                               บทที่ 9.1-12
                                3.3 เครื่องบูชาที่ดีกว่า                                                     บทที่ 9.13-10.18
                                3.4 คำหนุนใจและท้าทาย                                                บทที่ 10.19-39
                4. คำวิงวอนให้ยืนหยัดในความเชื่อ  (บทที่ 11-12)
                                4.1 ตัวอย่างของวีรบุรุษแห่ความเชื่อในอดีต                               บทที่ 11
                                4.2 คำหนุนใจให้ยืนหยัดในความเชื่อ                                        บทที่ 12.1-11
                                4.3 คำท้าทายให้ยืนหยัดในความเชื่อ                                  บทที่ 12.12-17
                                4.4 แรงจูงใจในการยืนหยัดในความเชื่อ                            บทที่ 12.18-29
                5. สรุป                                                                                                      บทที่ 13

3.  บทสรุป

มีคริสเตียนหลายคนที่อยากจะละทิ้งความเชื่อไปเสีย มีบางคนพูดว่า ‘คริสตจักรเต็มไปด้วยพวกหน้าซื่อใจคด’  หรือ ‘ศาสนาคริสต์ไม่ได้เป็นคำตอบ’ หรือ ‘ถ้าพระเจ้ามีจริง ทำไมจะต้องพบกับความลำบากเช่นนี้’ หรือ ‘ทำไมต้องถูกข่มเหงเพราะการเป็นคริสเตียน’ คนที่คิดเช่นนี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เขาไม่ได้เพ่งมองไปที่พระเยซูคริสต์ แต่ไปดูที่คริสตจักร หรือผู้นำบางคน หรือความทุกข์ทรมานของตนเอง  บ่อยครั้งเมื่อเราต้องทนทุกข์ทรมาน เราก็มักจะลืมไปว่า ความทุกข์เหล่านั้นสืบเนื่องมาจากความบาปของเราเอง (12.16) เราควรสารภาพความบาปของเราต่อพระเจ้าและมีชีวิตที่บริสุทธิ์ (12.14)
                แต่บางครั้งเราก็ไม่ได้ทุกข์ทรมานจากความบาปของเราเอง ทว่าเป็นความเชื่อของเราต่างหาก และยังคงมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่ความบาป แต่อาจเรียกว่า ‘สิ่งที่ถ่วงอยู่’ (12.1) สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคของเราในการเป็นคริสเตียนและการมีชีวิตที่บริสุทธิ์ สิ่งที่ถ่วงอยู่อาจเป็นความขมขื่น (12.15) ความรักเงินทอง (13.5) และความเชื่อในคำสอนที่แปลกๆ (13.9) หากเราต้องการเป็นคริสเตียนที่ดี เราต้องปล่อยวางสิ่งที่ถ่วงอยู่เหล่านี้ลง และมีความรักต่อกันฉันพี่น้อง (13.1) ระลึกถึงผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะความเชื่อ (13.3) รักษาชีวิตสมรสให้เป็นที่นับถือแก่คนทั้งปวง (13.4) เชื่อฟังผู้นำ (13.7, 17) ยอมถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม (13.13) และที่สำคัญที่สุดคือให้เพ่งมองไปที่องค์พระเยซูคริสต์เจ้า (12.2) ซึ่งทรงเป็นผู้สื่อสาร ผู้เผยพระวจนะ และมหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นพระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า พระองค์ทรงเหมือนเดิมในเวลาวานนี้ วันนี้และสืบๆไปเป็นนิจ (13.8)

            ในพระธรรมฮีบรูใช้คำว่า ‘ดีกว่า/ยิ่งใหญ่กว่า’ ถึง 15 ครั้ง เพราะฉะนั้น

                จงยึดมั่นในความเชื่อเพราะพระผู้ช่วยให้รอดของท่านยิ่งใหญ่ที่สุด

พระธรรมฮีบรูแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ว่า
 เป็นเหมือนภาพถ่ายกับบุคคลจริง นั่นคือ พันธสัญญาเดิมเป็นเงาของพระเยซูคริสต์
พันธสัญญาเดิม
พันธสัญญาใหม่
การนำไปใช้
เครื่องถวายบูชาของผู้กระทำผิดบาป
การถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาของพระเยซูผู้ปราศจากบาป
พระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อคุณ
พระวิหาร เน้นตัวอาคาร
เน้นการครอบครองของพระคริสต์
พระเจ้าเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง
เป็นแบบจำลอง
เป็นความจริง
ไม่ใช่ชั่วคราวแต่ชั่วนิรันดร์
เข้าเฝ้าพระเจ้าได้จำกัด
เข้าเฝ้าได้ตลอดเวลา
เราเข้าเฝ้าได้โดยส่วนตัว
มีความกลัวเป็นพื้นฐาน
มีความรักและการให้อภัย
เราได้รับความรักและการอภัย
เชื่อฟังกฏเกณฑ์
ปรนนิบัติพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์
ความสัมพันธ์ไม่ใช่กฏระเบียบ
เป็นความพยายามของมนุษย์
เป็นพระคุณของพระเจ้า
เริ่มโดยความรักของพระเจ้า
ต้องถวายบูชาอย่างต่อเนื่อง
ถวายบูชาครั้งเดียวพอ
เราได้รับการไถ่โดยพระโลหิต

 
 

No comments:

Post a Comment