Wednesday, November 6, 2013

พระธรรม 2 เธสะโลนิกา


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  เปาโลเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ แม้จะมีบางคนสงสัยว่าจดหมายฉบับนี้อาจจะไม่ใช่เปาโลเป็นคนเขียน เพราะเห็นว่าคำสอนเรื่องการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูในจดหมายฉบับแรกนั้นขัดกับจดหมายฉบับที่สองนี้ เนื่องจากในฉบับแรกนั้นสอนว่า พระองค์จะมาเหมือนขโมยมา (1 ธก 5.2) แต่ในฉบับที่สองสอนว่าจะต้องมี ‘คนนอกกฎหมาย’ มาก่อนเพื่อเป็นหมายสำคัญ (2.3) ความจริงแล้วคำสอนเรื่องนี้ไม่ได้ขัดแย้งกัน เปาโลเพียงแต่เน้นว่า จะมีบางสิ่งเกิดขึ้นก่อนที่พระเยซูจะเสด็จมาและทุกคนควรเตรียมให้พร้อม

       1.2  จุดประสงค์   จุดประสงค์หลักของจดหมายฉบับนี้ ก็คือการแก้ไขความเข้าใจผิดของคริสเตียนที่เธสะโลนิกาในเรื่องการเสด็จกลับมาของพระเยซู ใจความสำคัญอยู่ใน 2.1-17  ขณะเดียวกันท่านก็ฉวยโอกาสในการหนุนน้ำใจพี่น้องให้มั่นคงในความเชื่อ เปาโลยืนยันว่าความยุติธรรมของพระเจ้าจะปรากฏในวันพิพากษา (1.3-12) นอกจากนี้ท่านยังขอให้พวกเขาอธิษฐานเผื่อท่านด้วย (3.1-2) และยังเตือนสติบางคนที่ขี้เกียจไม่ยอมทำงาน เอาแต่รอคอยการเสด็จกลับมาของพระเยซูและกลายมาเป็นภาระในการเลี้ยงดูของคริสตจักร ให้เขาทำงานหาเลี้ยงชีพของตนเอง (3.6-12)

       1.3  ผู้รับ  จดหมายฉบับแรกคือ 1 เธสะโลนิกา ที่เปาโลส่งไปให้คริสตจักรนั้นมีคำสอนเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องการเสด็จกลับมาของพระเยซู ซึ่งพี่น้องบางคนสงสัยว่า คนที่ตายก่อนพระองค์เสด็จกลับมาจะมีส่วนในแผ่นดินพระเจ้าหรือไม่ (1 ธก 4.13-5.11) แต่คำตอบของเปาโลไม่ได้ทำให้ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้หมดไป ยังมีสมาชิกบางคนคิดว่า วันขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาถึงแล้ว (2.2) และไม่ยอมทำงาน เมื่อท่านทราบเรื่องนี้จึงรีบเขียนจดหมายอีกฉบับหนึ่งเพื่อชี้แจงและเตือนสติชาวเธสะโลนิกาให้ระลึกถึงคำสอนอันถูกต้อง

       1.4  เวลาที่เขียน   เปาโลรักและห่วงใยคริสตจักรเธสะโลนิกามาก เมื่อทราบข่าวว่าพี่น้องบางคนเข้าใจคำสอนในจดหมายฉบับแรกไม่ถูกต้อง ท่านจึงรีบเขียนจดหมายอีกฉบับหนึ่งไปอธิบาย จดหมายฉบับหลังนี้คงเขียนหลังฉบับแรกเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งขณะนั้นท่านทำพันธกิจอยู่ที่เมืองโครินธ์ ดังนั้นจดหมายฉบับนี้ก็เขียนในปี ค.ศ.51

       1.5  ลักษณะพิเศษ
                จดหมายฉบับนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต่อต้านพระคริสต์ (ในพระคัมภีร์ภาษาไทยใช้คำว่า คนนอกกฎหมาย) ผู้ต่อต้านพระคริสต์หรือคนนอกกฎหมายนี้ จะกลายเป็นผู้นำการเมืองที่ยิ่งใหญ่ในยุคสุดท้ายและจะมีอำนาจมาก คนนอกกฎหมายนี้จะทำสัญญากับอิสราเอล เขาจะมีบทบาทโดดเด่นในฐานะผู้ต่อต้านพระคริสต์ และเป็นการเริ่มต้นของภัยพิบัติต่างๆ เขาเป็นคนที่มีความสามารถในการเป็นผู้นำโดยธรรมชาติสูงมาก และยอมอยู่ใต้อำนาจของซาตานด้วย เขาจะต่อต้านพระเจ้า เขาจะขึ้นสู่อำนาจและแสดงการอัศจรรย์จนฝูงชนจำนวนมากจะก้มกราบ เขาจะกลายเป็นเครื่องมือของซาตานที่หลอกลวงโลกก่อนที่องค์พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาครอบครองโลกนี้

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 2 เธสะโลนิกา

                1. คำนำ (บทที่ 1)
                                1.1 คำทักทาย                                                                    บทที่ 1.1-2
                                1.2 คำขอบพระคุณสำหรับความเชื่อความรักและอดทน    บทที่ 1.3-10
                                1.3 คำอธิษฐานสำหรับการก้าวหน้าทางฝ่ายวิญาณ               บทที่ 1.11-12
                2. คำแนะนำ (บทที่ 2)
                                2.1 คำพยากรณ์เกี่ยวกับวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า               บทที่ 2.1-12
                                2.2 ขอบพระคุณสำหรับการทรงเลือกและทรงเรียก            บทที่ 2.13-15
                                2.3 คำอธิษฐานสำหรับการรับใช้และการเป็นพยาน            บทที่ 2.16-17
                3. คำกำชับ   (บทที่ 3)
                                3.1 เรียกร้องให้อธิษฐาน                                                        บทที่ 3.1-3
                                3.2 ให้ลงวินัยคนที่ทำผิดและเกียจคร้าน                             บทที่ 3.4-15
                                3.3 สรุป-ทักทายและอวยพร                                                 บทที่ 3.16-18

3.  บทสรุป

            การเสด็จกลับมาขององค์พระเยซูคริสต์เจ้าทำให้เรามีท่าทีตอบสนองอย่างไร
-          การชูใจและไม่หวาดกลัว
-          การตั้งตารอคอยไม่ใช่เอาแต่วิตกกังวล
-          การพากเพียรทำงานไม่ใช่ทำตัวเกียจคร้าน

ถ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จกลับมาวันนี้ จะให้พระองค์พบว่าเรากำลังทำอะไรอยู่


1
ให้เป็น
ผู้คู่ควร
ที่จะทนทุกข์ก่อน
2
รู้ว่า
การอัศจรรย์ต่างๆ
จะต้องเกิดขึ้นก่อน
3
คุณต้อง
ทำงาน
ขณะที่รอคอย
การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู

 
 

No comments:

Post a Comment