Thursday, November 7, 2013

พระธรรมยูดา


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน ในข้อ 1 ของยูดา ผู้เขียนได้กล่าวถึงตนเองว่า ‘ยูดา ผู้รับใช้ของพระเยซูคริสต์และน้องของยากอบ’ ในพระคัมภีร์ใหม่มีการกล่าวถึงยูดาอยู่หลายคน คือ
                1. ยูดาแห่งดามัสกัส (กจ 9.11) ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เปาโลไปพักด้วยที่เมืองดามัสกัส
               2. ยูดา บารซับบาส (กจ 15.22) เป็นผู้ที่ถือจดหมายจากการประชุมสภาคริสตจักรแห่งเยรูซาเล็ม ไปยังคริสตจักรอันทิโอกพร้อมกับสิลาส เพื่อแจ้งข้อตกลงเกี่ยวกับคนต่างชาติที่มารับเชื่อในพระเยซูคริสต์
                3. ยูดา อิสคาริโอท หนึ่งในสาวก 12 คนที่พระเยซูทรงเลือก และเป็นผู้ที่ทรยศพระเยซู
                4. ยูดา บุตรยากอบ  หนึ่งในสาวก 12 คน (ลูกา 6.16)
                5. ยูดา น้องชายของพระเยซู และของยากอบ (มัทธิว 13.55) เชื่อว่าเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้
                                5.1 ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าตนเองเป็นอัครสาวก
                                5.2 ข้อ 17 บอกให้เราทราบว่า ผู้เขียนไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มอัครสาวก
                                5.3 ผู้เขียนเรียกตนเองว่าน้องของยากอบ

       1.2  จุดประสงค์ 
                1. เพื่อเตือนคริสเตียนถึงคำสอนผิดซึ่งเป็นอันตรายต่อคริสตจักร (ข้อ 3) ให้ลุกขึ้นต่อสู้และคัดค้าน
                2. เพื่อเตือนคริสเตียนเรื่องความรอด แม้ว่าผู้หนึ่งได้รับความรอดและพระคุณของพระเจ้าแล้ว อาจจะสูญเสียความรอดไปหากเขาไม่เชื่อฟังคำสอนที่ยึดถือกันมา
                3. ชี้ให้เห็นความผิดบาปและการละเมิดของผู้สอนเท็จ
                                3.1 อ้างพระคุณของพระเจ้าเป็นเหตุให้ทำตามใจชอบ
                                3.2 ปฏิเสธพระเจ้าและพระเยซูคริสต์
                                3.3 ปฏิเสธและดูหมิ่นฑูตสวรรค์

       1.3  ผู้รับ    จดหมายฉบับนี้ไม่ได้กล่าวเจาะจงถึงผู้รับว่าเป็นใคร แต่เชื่อกันว่าเขียนถึงคริสเตียนชาวยิวในปาเลสไตน์ หรือในเอเชียไมเนอร์
              ในอีกกรณีหนึ่ง หาก 2 เปโตรมีความเกี่ยวเนื่องกับจดหมายยูดา ผู้รับก็น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
 
       1.4  เวลาที่เขียน   เวลาที่เขียน นักศาสนศาสตร์มีความเห็นแตกต่างกัน 2 กลุ่ม
                1. เขียนราว ค.ศ. 65 เนื่องจากจดหมาย 2 เปโตร บทที่ 2 มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับจดหมายยูดามาก และเปโตรน่าจะหยิบยืมเอาข้อความของยูดามาเขียนเป็นบทหนึ่งในจดหมายของตนมากกว่า ดังนั้นหากเราเชื่อว่า 2 เปโตรเขียนขึ้นราว ค.ศ.65-68 ยูดาก็คงเขียนก่อนเล็กน้อย
                2. เขียนขึ้นราว ค.ศ.80 เนื่องจากหลักฐานภายในจดหมายเองชี้ให้เห็นว่า จดหมายยูดาเป็นจดหมายที่มองย้อนกลับไปในอดีตในสมัยที่อัครสาวกยังมีชีวิตอยู่เป็นส่วนใหญ่ นั่นคือ ข้อ 17-18 ยูดาเร่งเร้าให้คริสเตียนระลึกถึงคำสอนของอัครสาวก เสมือนท่านเหล่านี้ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว และอัครสาวกส่วนใหญ่เสียชีวิตในราวปี ค.ศ.70 ไปแล้ว นอกจากนี้คำสอนผิดๆที่ยูดาเขียนต่อต้านนี้เกิดขึ้นในคริสตจักรประมาณปลายศตวรรษแรก ซึ่งถ้าหากเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่า ยูดาได้หยิบยืมเอาเนื้อหาของจดหมาย 2 เปโตร มาเป็นข้อมูลในการเขียน

        1.5  ลักษณะพิเศษ
               1. เขียนถึงคริสเตียนยิวในปาเลสไตน์หรือเอเชียไมเนอร์ เรื่องราวต่างๆที่ยกมาอ้างอยู่ในลักษณะที่ชาวยิวเท่านั้นที่จะเข้าใจ
               2. ใช้ภาษากรีกแบบง่ายๆ
               3. อ้างหนังสืออธิกธรรม (Apocryphal) เช่น
                                3.1  ศพของโมเสส (ข้อ 9)
                                3.2  หนังสือของเอโนค (ข้อ 14)
               ด้วยเหตุนี้ทำให้บางคนสงสัยในจดหมายยูดา และเป็นปัญหาในการจัดรวบรวมเล่มเข้าในสารบบของพระคัมภีร์ ซึ่งมีการถกเถียงกันถึงความถูกต้องของจดหมายนี้ จนกระทั่งในศตวรรษที่ 4 จึงได้รับการยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์

2.  โครงเรื่องของพระธรรม ยูดา

                1. คำทักทาย                                                                                         ข้อ 1-2
                2. โอกาสของการเขียนจดหมาย  (ข้อ 3-4)
                                2.1 การเปลี่ยนหัวเรื่องที่เขียน                                                ข้อ 3
                                2.2 เหตุผลที่เปลี่ยนเรื่องที่เขียน                                            ข้อ 4
                3. คำเตือนให้ระวังครูอธรรม  (ข้อ 5-16)
                                3.1 ตัวอย่างในประวัติศาสตร์แห่งการลงโทษผู้เป็นปฏิปักษ์             (ข้อ 5-7)
                                                ก. คนอิสราเอลที่ไม่เชื่อ                                         ข้อ 5
                                                ข. ฑูตสวรรค์ที่ล้มลงในบาป                                            ข้อ 6
                                                ค. เมืองโสโดมและโกโมราห์                                          ข้อ 7
                                3.2 ลักษณะของผู้เป็นปฏิปักษ์ในยุคของยูดา (ข้อ 8-16)
                                                ก. พวกเขาพูดจาสบประมาทก้าวร้าว                   ข้อ 8-10
                                                ข. พวกเขาปล่อยตัวปล่อยใจและชีวิตไร้ผล        ข้อ 11-13
                                                ค. พวกเขาจะพินาศ                                                       ข้อ 14-16
                4. คำหนุนใจผู้ที่เชื่อ                                                                               ข้อ 17-23
                5. สรุปและสรรเสริญพระเจ้า                                                                 ข้อ 24-25

3.  บทสรุป

                ในพระธรรม 2 เปโตร เตือนให้เราระวังครูสอนเทียมเท็จ  แต่ในพระธรรมยูดาเตือนให้เราระวังครูสอนผิดมากกว่าจะเป็นครูเทียมเท็จ อาจเป็นเพราะคำสอนของเขายังไม่ได้เป็นคำสอนเทียมเท็จไปเสียทั้งหมด พวกเขาจะแอบแฝงเข้ามาในคริสตจักรและในคณะนิกายของเรา
1.     ยูดาสอนให้เรารู้จักแยกแยะครูอธรรมเหล่านี้ ซึ่งจะรู้ได้จากโลกียวิสัยของเขา (17-19)
2.     ยูดาสอนว่าเราจะอยู่ห่างๆจากครูอธรรมเหล่านี้อย่างไร (20-21) : ยึดมั่นในความเชื่อ อธิษฐาน
3.     ยูดาสอนว่าจะช่วยคนอื่นให้พ้นจากครูอธรรมเหล่านี้อย่างไร (22-23) : แสดงความเมตตา
 
 
 
 
 

No comments:

Post a Comment