Thursday, November 7, 2013

พระธรรม 2 เปโตร


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  เชื่อและยอมรับว่าผู้เขียนคืออัครฑูตเปโตร มีเหตุผลสนับสนุนหลายประการ คือ
                  1. คำขึ้นต้นจดหมายยืนยันว่าอัครฑูตเปโตรเป็นผู้เขียน (1.1)
                2. อ้างถึงเหตุการณ์จำแลงพระกายของพระเยซูตามที่บันทึกไว้ในพระกิตติคุณว่า เขาอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย (1.16-18)
                  3. เปโตรยืนยันว่าเป็นผู้เขียนจดหมายทั้งสองฉบับ (3.1)
                  4. เอ่ยถึงเปาโลอย่างสนิทสนม เป็นสิ่งบ่งบอกว่า อย่างน้อยเคยร่วมงานกันหรือมีความใกล้ชิดกันอย่างมากมาก่อน และเรียกเปาโลว่า ‘น้อง’ (3.15)
                  มีบางคนคิดว่าจดหมาย 2 เปโตรมีสำนวนแตกต่างจาก 1 เปโตร ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่เปโตรไม่ได้เป็นคนเขียนแต่มีคนอื่นเขียนและอ้างชื่อเปโตร  แต่นักวิชาการด้านพระคัมภีร์มีคำอธิบายว่า เหตุที่สำนวนการเขียนจดหมายทั้งสองฉบับมีความแตกต่างกัน เป็นเพราะว่าสิลวานัสหรือที่เรียกว่าสิลาสนั้นเป็นผู้ช่วยเขียนฉบับแรก แต่ฉบับที่สองนี้อาจจะเป็นเปโตรเขียนเองหรือเป็นคนอื่นที่ช่วยเปโตรด้านสำนวน

       1.2  จุดประสงค์   เปโตรมีจุดประสงค์เพื่อ
                  1. เพื่อเตือนให้คริสเตียนระมัดระวังผู้สอนเท็จที่แฝงตัวเข้ามาในคริสตจักร
                  2. เพื่อเตือนสติให้คริสเตียนเจริญเติบโตขึ้นในพระคุณ ความเชื่อและความรู้
                3. เพื่อเตือนให้คริสเตียนระลึกถึงหน้าที่ในการประพฤติดีของตนเองในฐานะเป็นคนของพระเจ้า
                  4. เพื่อหนุนใจให้ยืนหยัดในความเชื่อ แม้มีการทดลองและการข่มเหง
                  5. เพื่อหนุนใจให้เฝ้ารอคอยการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์ด้วยใจจดจ่อ

       1.3  ผู้รับ    เปโตรน่าจะเขียนถึงผู้รับกลุ่มเดียวกับจดหมายฉบับแรก แต่การที่เปโตรไม่ได้เจาะจงถึงผู้รับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะในตอนเริ่มต้นของจดหมาย คงจะเป็นเพราะว่าท่านต้องการให้เป็นจดหมายเวียนไปด้วย เพราะขณะนั้นมีปัญหาเรื่องผู้สอนเท็จแพร่ไปอย่างมากทุกแห่งไม่เพียงแต่ในเอเชียไมเนอร์เท่านั้น

       1.4  เวลาที่เขียน   จดหมายฉบับนี้คงเขียนที่กรุงโรม ระหว่างปี ค.ศ. 65-68 เพราะเปโตรเขียนจดหมายฉบับนี้ในช่วงปลายของชีวิตท่าน (1.12-15) และเปโตรถูกประหารในรัชสมัยของจักรพรรดิ์เนโร ประมาณปี ค.ศ.68

       1.5  ลักษณะพิเศษ
                   ไม่มีพระธรรมเล่มใดเกิดการโต้แย้งเรื่องผู้เขียนและการยอมรับเข้าในบรรทัดฐานของพระคัมภีร์ใหม่มากเท่ากับพระธรรม 2 เปโตรอีกแล้ว มีหลักฐานภายนอก (บันทึกของผู้นำคริสตจักรยุคแรก) น้อยมากที่แสดงว่าเปโตรเป็นผู้เขียน นอกจากมีเพียงความเชื่อถือของคริสตจักรเท่านั้น และผู้นำในคริสตจักรก็ได้อ้างข้อความในจดหมายด้วยความมั่นใจว่าเปโตรเป็นผู้เขียน และกว่าที่จดหมายฉบับนี้จะได้รับการยอมรับเข้าในสารบบของพระคัมภีร์ใหม่ในศตวรรษที่ 4 นั้นก็ได้ผ่านข้อคัดค้านมากมายได้ทุกข้อ ดังนั้นจึงมีหลักฐานชัดเจนเหนือข้อสงสัย
                หลักฐานภายในชี้ชัดว่าเปโตรเป็นผู้เขียนและตัวผู้เขียนเองก็ประกาศว่าคือเปโตร ในจดหมายฉบับแรกใช้ชื่อว่า ‘เปโตร’ ส่วนในจดหมายฉบับที่สองใช้ชื่อว่า ‘ซีโมนเปโตร’ หากเป็นการปลอมแปลงจดหมายผู้เขียนคงไม่เพิ่มชื่อซีโมนเข้ามา แต่ควรจะเลียนแบบจดหมายฉบับแรกเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างมากกว่า  และเมื่อเปรียบเทียบคำศัพท์ที่ใช้ในภาษากรีก จะพบพบประเด็นที่คล้ายกันมากระหว่างจดหมายทั้งสองฉบับ และสำหรับประเด็นที่แตกต่างกันที่พบในจดหมาย เราสามารถอธิบายได้ว่า เป็นเพราะจุดประสงค์การเขียนที่ต่างกัน            

เปรียบเทียบระหว่าง 1 เปโตร และ 2 เปโตร

              1 เปโตร                                                                     2 เปโตร

                1. เน้น การทนทุกข์ลำบาก                                    1. เน้น คำสอนเท็จ
                2. เน้น การทนทุกข์ของพระคริสต์                        2. เน้น สง่าราศีในการติดตามพระคริสต์
                3. เน้น การไถ่ของพระคริสต์                                 3. เน้น การปกครองของพระคริสต์
                4. เน้น การปลอบประโลมใจ                                4. เน้น คำตักเตือนเรื่องผู้สอนเท็จ
                5. เน้น ความหวังในการเผชิญการทดลอง            5. เน้น ความรู้เพื่อป้องกันการสอนผิด

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 2 เปโตร

                1. คำนำ                                                                                               บทที่ 1.1-2
                2. คำหนุนใจให้เติบโตขึ้นในชีวิตคริสเตียน (บทที่ 1.3-11)
                                2.1 การช่วยเหลือจากพระเจ้า                                                บทที่ 1.3-4
                                2.2 การทรงเรียกให้เจริญเติบโต                                            บทที่ 1.5-7
                                2.3 คุณค่าของการเจริญเติบโต                                              บทที่ 1.8-11
                3. จุดประสงค์และความน่าเชื่อถือของข่าวสารของเปโตร (บทที่ 1.12-21)
                                3.1 เป้าหมายในการเขียน                                                      บทที่ 1.12-15
                                3.2 รากฐานแห่งสิทธิอำนาจ                                                  บทที่ 1.16-21
                4. เตือนให้ระวังครูสอนเท็จ (บทที่ 2)
                                4.1 คำพยากรณ์ล่วงหน้าถึงการมาของพวกเขา                    บทที่ 2.1-3ก
                                4.2 พวกเขาจะต้องถูกพิพากษา                                             บทที่ 2.3ข-9
                                4.3 ลักษณะของครูสอนเท็จ                                                  บทที่ 2.10-22
                5. ความจริงเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระคริสต์ (บทที่ 3.1-16)
                                5.1 เปโตรย้ำจุดประสงค์ของการเขียน                                 บทที่ 3.1-2
                                5.2 การมาของผู้เยาะเย้ย                                                     บทที่ 3.3-7
                                5.3 ความแน่นอนของการเสด็จมาของพระคริสต์                บทที่ 3.8-10
                                5.4 คำหนุนใจบนความจริงแห่งการเสด็จมาของพระคริสต์       บทที่ 3.11-16
                6. สรุปจดหมาย                                                                                  บทที่ 3.17-18

3.  บทสรุป

                เป็นอันตรายอย่างยิ่งถ้าเรามัวแต่สนใจลัทธิเทียมเท็จและไม่ศึกษาพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงให้พระธรรม   2 เปโตร แก่เราเพื่อสามารถแยกแยะลัทธิเทียมเท็จออก เปโตรให้เราสังเกตุ 3 สิ่ง เมื่อเกิดความสงสัยในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘คริสเตียน’ เราต้องถามคำถามต่อไปนี้พวกเขา
1.     มีหนังสืออื่นใดที่เป็นสิทธิอำนาจนอกจากพระคัมภีร์หรือไม่
2.     เชื่อหรือไม่ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าและมนุษย์อย่างแท้จริง ไม่มีผู้ใดสร้างพระองค์ และ  พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปของผู้เชื่ออย่างสมบูรณ์
3.     รอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซู โดยมีชีวิตที่เชื่อฟัง บริสุทธิ์และไม่ละโมบหรือไม่

 
 

No comments:

Post a Comment