Saturday, November 2, 2013

พระธรรมกาลาเทีย


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  เปาโลเป็นผู้เขียน (1.1) และไม่มีข้อโต้แย้งใดๆเกี่ยวกับการเป็นผู้เขียนของท่าน

       1.2  จุดประสงค์   พวกยูดาห์นิยม คือคริสเตียนชาวยิวที่ยังเชื่อและยึดถือธรรมเนียมและธรรมบัญญัติของโมเสส และเน้นว่าคริสเตียนทุกคนยังต้องทำตามโดยเฉพาะการเข้าสุหนัต พวกนี้ยังต่อต้านเปาโลและข่าวประเสริฐที่ท่านประกาศ จดหมายฉบับนี้เปาโลเขียนเพื่อยืนยันความเป็นอัครทูตของท่าน และยืนยันสิทธิอำนาจของพระกิตติคุณว่าเพียงพอต่อความรอด ท่านยังเขียนเพื่อต่อต้านคำสอนเท็จด้วย

                การประกาศในยุคแรก  เมื่อคริสตจักรเริ่มต้นใหม่ๆยังไม่มีปัญหาเรื่องศาสนศาสตร์ เพราะการประกาศพระกิตติคุณเป็นการประกาศจากคนยิวสู่คนยิว แต่เมื่อข่าวประเสริฐได้ประกาศไปสู่คนต่างชาติ และเกิดผลมาก ก็เริ่มมีคำถามเรื่องความสัมพันธ์ของคริสเตียนกับธรรมบัญญัติของโมเสสและธรรมเนียมประเพณีของยิว เช่น
                *  คริสตจักรจะเปิดประตูต้อนรับชนทุกชาติโดยไม่สนใจว่าเขาจะเกี่ยวข้องกับธรรมบัญญัติหรือไม่ ???
                *  คริสตจักรจะประกาศข่าวประเสริฐไปยังชนทุกชาติหรือไม่
               *  ผู้เชื่อชาวต่างชาติจำเป็นต้องยึดถือธรรมบัญญัติของโมเสสหรือไม่ คนต่างชาติจำเป็นต้องเข้าสุหนัตหรือเปล่า ซึ่งคำถามแบบนี้เกิดขึ้นทุกแห่งที่มีคริสตจักรเกิดขึ้นท่ามกลางคนต่างชาติ

                หนังสือกาลาทียเป็นการบันทึกประสบการณ์ต่างๆของคริสตจักรในแคว้นเอเชียไมเนอร์ที่เผชิญหน้ากับคำถามดังกล่าว และเป็นสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเหล่านี้ได้รับการเอาใจใส่ ซึ่งมีการปรึกษาของเหล่าอัครสาวกทั้งในเยรูซาเล็มและที่อันทิโอกแคว้นซีเรีย ซึ่งพระธรรมกิจการได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ เช่น เป็นการถูกหรือไม่ที่คริสเตียนยิวและต่างชาติจะทานอาหารด้วยกัน หรือจะทานอาหารจากสำรับเดียวกันได้หรือไม่ หรือคริสเตียนยิวที่เคร่งครัดควรปลีกตัวออกหรือร่วมสามัคคีธรรมกับคริสเตียนต่างชาติ เป็นต้น จะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความแตกแยกของผู้เชื่อและยังทำลายพระกิตติคุณ  และเปาโลก็ได้ต่อสู้ในเรื่องนี้และดับความรุนแรงที่กำลังพุ่งขึ้น และนำไปสู่การปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาที่กรุงเยรูซาเล็ม (กิจการ 15)

                ในฐานะที่เป็นอัครทูตไปสู่ชนต่างชาติ เปาโลไม่ได้เอ่ยถึงธรรมบัญญัติของยิวในการประกาศข่าวประเสริฐแก่พวกเขา ชาวกาลาเทียก็เช่นกัน ท่านสอนว่าความรอดไม่ได้มาโดยการทำตามธรรมบัญญัติใดๆทั้งสิ้นแม้แต่ธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานมาทางโมเสส  มีทางรอดทางเดียวเท่านั้นคือทางองค์พระเยซูคริสต์เจ้า ชาวกาลาเทียได้ต้อนรับท่านเป็นอย่างดี พวกเขารับบัพติศมาและรับพระวิญญาณซึ่งทรงทำการอัศจรรย์ท่ามกลางพวกเขา ด้วยเหตุนี้คริสตจักรกาลาเทียจึงได้กำเนิดและเติบโตขึ้น

                หลังจากที่เปาโลได้ออกจากกาลาเทียไม่นาน ท่านก็ได้ข่าวว่าพวกเขากำลังหันไปจากข่าวประเสริฐที่พวกเขาได้รับไว้ มีพวกคริสเตียนยิวที่ยังเน้นธรรมบัญญัติของโมเสสมาจากเยรูซาเล็มอ้างว่า มาจากยากอบน้องของพระเยซูและได้เริ่มสอนว่าเปาโลนั้นสอนผิด เขาเน้นว่าต่างชาติต้องเข้ามาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติจึงจะรอดได้ การเชื่อพระเยซูนั้นไม่พอต้องมีโมเสสด้วย และต้องเข้าสุหนัตจึงจะทำให้ความเชื่อสมบูรณ์  ข่าวนี้ทำให้เปาโลร้อนใจมาก ท่านมองว่าหากพวกยูดาห์นิยมชนะก็จะทำให้พระคุณและกางเขนของพระเยซูเป็นสิ่งว่างเปล่า (5.2-4) และ คริสเตียนก็ต้องสูญเสียเอกลักษณ์และกลายเป็นแขนงหนึ่งภายใต้ศาสนายูดา ด้วยเหตุนี้ เปาโลจึงเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อแสดงว่าพวกยูดานิยมนั้นผิด และเพื่อจะเอาคริสตจักรของพระเยซูคริสต์คืนมา

                เปาโลได้สรุปเรื่องที่พวกยูดาห์นิยมต่อต้านท่านไว้เป็น 3 ประเด็นดังนี้

                1. พวกเขากล่าวหาว่าเปาโลไม่ใช่อัครทูต ไม่ได้อยู่ร่วมกับพระเยซูเหมือนอัครสาวกคนอื่นๆ ไม่ได้เป็น 1 ใน 12 สาวก และพวกเขาบอกว่าเปาโลเป็นเพียงผู้ประกาศคนหนึ่งที่ได้รับความรู้นิดหน่อยเกียวกับความเชื่อและเอามาประกอบเรื่องขึ้นเอง เพื่อเอาใจต่างชาติจึงสอนเรื่องความรอดแบบง่ายๆ ไม่เหมือนพวกอัครฑูตจึงต้องถูกปฎิเสธ เปาโลได้ตอบโต้การใส่ร้ายนี้โดยการเล่าประวัติชีวิตของท่าน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอัครทูตคนอื่นๆ(1-2)
                        1.1 คำสอนของท่านไม่ได้ขึ้นกับมนุษย์คนใด ท่านได้รับโดยตรงมาจากพระเยซูคริสต์ ซึ่งแสดงว่าท่านเป็นอัครทูต เพราะคำสอนของอัครทูตมาจากพระเจ้าโดยตรง
                        1.2    สิทธิอำนาจของท่านได้รับการยอมรับจากอัครทูตคนอื่นๆ
                       1.3 ท่านได้พิสูจน์ความมั่นคงของท่านที่อันทิโอก ในขณะที่หลายๆคนหวั่นไหวและเอาตัวรอดแม้แต่เปโตรเอง ซึ่งเป็นการเขียนยืนยันความเป็นอัครทูตแท้
                2.  ข่าวประเสริฐที่เปาโลประกาศไม่ใช่ข่าวประเสริฐแท้ เพราะเปาโลสอนว่าธรรมบัญญัติสามารถยกเลิกได้ซึ่งเป็นการสอนผิดในมุมมองของพวกยิวที่เน้นว่าธรรมบัญญัตินั้นยั่งยืนนิรันดร์  ทุกคนที่รอดก็โดยทำตามธรรมบัญญัติ ตลอดชีวิตของพระเยซูเองก็ทำตามธรรมบัญัญัติ พวกสาวกก็เช่นกัน แล้วเปาโลเป็นผู้ใดเล่าจะมาประกาศยกเลิกธรรมบัญญัติแห่งความรอด
                3. การสอนของเปาโลนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่เหลวแหลก พวกยูดาห์นิยมถือว่าโดยธรรมบัญญัติพวกเขามีศีลธรรมที่ดี และดูถูกคนต่างชาติว่าเป็นคนบาปเพราะไม่มีธรรมบัญญัติ เปาโลตอบในบทที่ 5-6 ว่า คริสเตียนไม่ได้ถูกนำออกมาจากธรรมบัญญัติไปสู่ความว่างเปลา แต่ถูกนำเข้าหาพระเยซูคริสต์และพระวิญญาณเข้ามาสถิตในเขาสร้างให้เป็นคนใหม่  เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน คริสเตียนจึงทำดีโดยการทำอย่างมีเสรีภาพในพระวิญญาณ ไม่ใช่การถูกบังคับจากธรรมบัญญัติ

       1.3  ผู้รับ  เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงคริสตจักรในแคว้นกาลาเทีย เช่น อันทิโอก อิโคนิยูม ลิสตรา เดอร์บี ซึ่งเปาโลได้ตั้งคริสตจักรเหล่านี้ในการเดินทางประกาศเที่ยวแรก

       1.4  เวลาที่เขียน   เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขณะที่ท่านอยู่ที่อันทิโอกในซีเรีย ประมาณปี ค.ศ.48-49

       1.5  ลักษณะพิเศษ 

                1) จดหมายฉบับนี้เขียนด้วยความรู้สึกที่รุนแรง เพื่อจัดการกับพวกยูดาห์นิยมและตำหนิชาวกาลาเทีย
                2) เปาโลใช้ทั้งพระคัมภีร์ ประสบการณ์ เหตุผล การตักเตือน การหนุนใจ และหลักการต่างๆเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเขียนของท่าน
                3) จดหมายเขียนด้วยลายมือของเปาโลเอง เขียนถึงกลุ่มคริสตจักร ไม่ได้ระบุคริสจักรแห่งใดโดยเฉพาะ

2.  โครงเรื่องของพระธรรม กาลาเทีย

                1. คำนำ (บทที่ 1.1-9)
                         1.1 คำทักทาย                                                                                    บทที่ 1.1-5
                         1.2 คำตำหนิติเตียน                                                                            บทที่ 1.6-9
                2. ความถูกต้องของความเป็นอัครฑูตแห่งเสรีภาพและความเชื่อ (บทที่ 1.10-2.21)
                         2.1 พระกิตติคุณของเปาโลได้รับการสำแดงพิเศษ                            บทที่ 1.10-12
                         2.2  พระกิตติคุณของเปาโลได้รับการรับรองจากอัครทูตในเยรูซาเล็ม(บทที่ 1.13-2.21)
                                     ก. หลักฐานจากชีวิตที่กระตือรือล้น                                     บทที่ 1.13-17
                                     ข. หลักฐานจากผลการไปเยรูซาเล็มครั้งแรก                       บทที่ 1.18-24
                                     ค. หลักฐานจากผลการไปเยรูซาเล็มครั้งที่สอง                    บทที่ 2.1-10
                                     ง. หลักฐานจากการตำหนิเปโตรที่อันทิโอก                        บทที่ 2.11-21
                3. เปาโลยืนยันศาสนศาสตร์แห่งเสรีภาพและความเชื่อ (บทที่ 3-4)
                         3.1 ชาวกาลาเทียมีประสบการณ์กับพระกิตติคุณ                                   บทที่ 3.1-5
                         3.2 ประสบการณ์ของอับราฮาม                                                             บทที่ 3.6-9
                         3.3 คำแช่งสาปของธรรมบัญญัติ                                                       บทที่ 3.10-14
                         3.4 ความสำคัญอันดับแรกของพันธสัญญา                                         บทที่ 3.15-18
                         3.5 จุดประสงค์ของพันธสัญญา                                                           บทที่ 3.19-25
                         3.6 “เป็นบุตร”  ไม่ใช่  “ทาส”                                                บทที่ 3.26-4.20
                         3.7 ภาพเปรียบเทียบระหว่าง ฮาการ์ กับ ซาราห์                                บทที่ 4.21-31
                4. ภาคปฏิบัติของชีวิตแห่งเสรีภาพและความเชื่อ                (บทที่ 5.1-6.10)
                         4.1 คำหนุนใจให้ดำเนินชีวิตในเสรีภาพ                                              บทที่ 5.1-12
                         4.2 ชีวิตโดยพระวิญญาณไม่ใช่เนื้อหนัง                                              บทที่ 5.13-26
                         4.3 วิงวอนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน                                                 บทที่ 6.1-10
                5. สรุป  (บทที่ 6.10-18)                        

3.  ภาคปฏิบัติ 

                - ท่องจำ ผลของพระวิญญาณใน กาลาเทีย 5.22-23

22ฝ่ายผลของพระวิญญาณนั้น   คือความรัก   ความปลาบปลื้มใจ   สันติสุข   ความอดกลั้นใจ   ความปรานี   ความดี   ความสัตย์ซื่อ 23ความสุภาพอ่อนน้อม   การรู้จักบังคับตน   เรื่องอย่างนี้ไม่มีธรรมบัญญัติห้ามไว้เลย

4.  บทสรุป

                การไม่ประพฤติตามธรรมบัญญัติไม่ได้หมายความว่าทำอะไรได้ตามใจชอบ จริงๆแล้วเปาโลบอกว่าเรามีพระบัญญัติอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำตาม คือพระบัญญัติของพระคริสต์

                การไม่ประพฤติตามธรรมบัญญัติมีความหมาย 2 ประการ คือ
1.     การประพฤติตามธรรมบัญญัติต้องไม่เป็นคนหน้าซื่อใจคด (5.6)  ตัวอย่างเช่น การที่เปโตรและบารนาบัสไม่ยอมร่วมรับประทานอาหารกับคริสเตียนต่างชาติเพื่อทำให้กลุ่มที่ถือพิธีสุหนัตพอใจ
2.     จะต้องไม่เอาการทำตามธรรมบัญญัติมาเป็นเกณฑ์วัดฝ่ายจิตวิญญาณ  เพราะจะทำให้ธรรมบัญญัติกลายเป็นการสาปแช่งเมื่อเราไม่มีความเชื่อ ตัวอย่างเช่น ชาวกาลาเทียเริ่มถือวัน (4.10) เริ่มเข้าพิธีสุหนัตและบังคับให้ผู้อื่นกระทำ (5.3)  ซึ่งเรื่องการถือวันสะบาโตและการเข้าสุหนัตถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องหมายทางพันธสัญญา เป็นการผูกมัดให้ยึดถือธรรมบัญญัติในพระคัมภีร์เดิมทั้งหมด (อพยพ 31.13, อสค 20.12, กท 5.3, 3.12) ดังนั้นพวกเขาจึงตกอยู่ภายใต้การแช่งสาปของธรรมบัญญัติ ชาวกาลาเทียผิดที่เอาการถือวันสะบาโตและการเข้าสุหนัตมาเป็นเกณฑ์วัดความรอดและการเติบโตฝ่ายวิญญาณ

ส่วนผู้ที่ได้รับความรอดแล้ว คือคริสเตียน จำเป็นจะต้องมีผลของพระวิญญาณแสดงออกมาในชีวิต
คริสเตียนที่ถูกตรึงกับพระคริสต์ เขาจะได้รับการสร้างขึ้นใหม่ (6.15)
คริสเตียนที่ดำเนินชีวิตโดยมีพระวิญญาณนำจะเกี่ยวเก็บชีวิตนิรันดร์ (6.8)
 
 
 
 

No comments:

Post a Comment