Thursday, November 7, 2013

พระธรรมยากอบ


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  จากข้อความในจดหมายและหลักฐานอื่นๆพอจะยืนยันได้ว่า จดหมายนี้เขียนโดย ยากอบน้องชายของพระเยซู  (กาลาเทีย 1.19) ไม่ใช่อัครสาวกยากอบ บุตรเศเบดีที่ถูกเฮโรดประหาร (กจ 12.2) ในราวปี ค.ศ.44 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาของคริสตจักรยุคแรก    การคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ยากอบหันมาสู่ความเชื่อในพระเยซูคริสต์ (1 โครินธ์ 15.7) และต่อมาท่านได้เป็นผู้นำของคริสตจักรในเยรูซาเล็มซึ่งเป็นเสมือนคริสตจักรแม่ของคริสตจักรทั่วโลก ท่านเป็นที่เคารพนับถือของคริสตชนในยุคนั้นมาก และยังเป็นสาวกที่ประกาศข่าวประเสริฐแก่ชาวยิวโดยเฉพาะ (กาลาเทีย 2.9) ยากอบถูกประหารชีวิตเมื่อประมาณ ค.ศ. 60-65

       1.2  จุดประสงค์   จดหมายของยากอบมีคำสอนคล้ายคลึงกับคำสอนของพระเยซูคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคล้ายกับคำเทศนาบนภูเขา ยากอบมีวิธีประกาศตามแบบของพระเยซูคริสต์ ท่านไม่ได้พูดถึงการสิ้นพระชนม์และการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ เพราะเห็นว่าผู้รับจดหมายนี้คงทราบชีวประวัติและความยิ่งใหญ่ของพระองค์แล้ว แต่ท่านได้ชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นถึงสภาพอันชั่วร้ายของพวกเขา (1.21, 2.1-4) และแนะนำวิธีแก้ไข (3.2, 17-18) เพื่อนำเขามาสู่ความสุขที่บริบูรณ์อย่างแท้จริง ท่านเตือนให้พวกเขาเลิกเป็นคนหน้าซื่อใจคด (1.22, 2.14-16,3.17) การฟังและเรียนรู้พระบัญญัตินั้นไม่เพียงพอ (1.22) เขาต้องประพฤติตามด้วย และใช้พระวจนะเป็นมาตรฐานการดำเนินชีวิตทุกด้าน (1.25, 2.8-12) เช่นในยามถูกทดลอง การใช้คำพูด (3.1-42) การทำมาหาเลี้ยงชีพ การวางแผนต่างๆ การอดทนต่อกางเขน การทนทุกข์และการอธิษฐาน นอกจากนั้นท่านยังหนุนใจให้ธรรมิกชนยอมรับการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์และติดตามพระองค์ไป ซึ่งหมายถึงการยอมทนทุกข์เพื่อพระองค์ จนกว่าจะได้รับรางวัล คือ มงกุฏแห่งชีวิต

       1.3  ผู้รับ    ยากอบเขียนถึงผู้เชื่อทุกคนในเวลานั้นและเรียกเขาว่าเป็น ‘คนสิบสองเผ่าที่กระจัดกระจาย’ เพราะตั้งแต่อาณาจักรอิสราเอลฝ่ายเหนือแตกในราปี 722 กคศ. และฝ่ายใต้แตกในราวปี 586 กคศ. คนอิสราเอลสิบสองเผ่ากระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ ต่อมายากอบได้ใช้คำนี้เรียกคริสเตียนยิวในสมัยนั้นและรวมไปถึงผู้เชื่อที่เป็นคนต่างชาติด้วย เพราะทุกคนที่มาเชื่อพระเยซูกลายเป็นคนอิสราเอลใหม่ จดหมายนี้ไม่ได้เขียนเจาะจงถึงคริสตจักรใดคริสตจักรหนึ่งโดยตรง แต่เฉพาะอย่างยิ่งถึงชาวยิวที่อพยพและกระจัดกระจายอยู่ในต่างแดน (1.1, 4.13)
                ‘ คนสิบสองเผ่า’ เป็นชื่อที่ใช้เรียกชาวยิวทั่วไปในสมัยนั้นหลังจากที่กรุงสะมาเรียแตก(2พงษ์กษัตริย์ 17) ชาวยิวหลายเผ่าได้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ในข้อ 1.1 ท่านยากอบได้เรียกตนเองว่าเป็น ‘ผู้รับใช้พระเจ้า’ และ ‘ของพระเยซูคริสต์’

       1.4  เวลาที่เขียน   จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็ม ประมาณปี ค.ศ.45-50 ซึ่งนับได้ว่าเป็นจดหมายฉบับแรกที่เขียนขึ้น มีหลักฐานบางประการที่ยืนยันว่า  ยากอบเขียนขึ้นในช่วงแรกๆของการตั้งคริสตจักร ได้แก่
                1. บทที่ 5.7-9 กล่าวถึงการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์และหนุนใจให้คริสเตียนอดทน ซึ่งในคริสตจักรยุคแรกคาดหวังว่าพระองค์จะเสด็จมาโดยเร็ว จดหมายนี้จึงน่าจะเขียนขึ้นในช่วงแรกๆ เพราะในช่วงหลังคริสเตียนเริ่มรู้สึกว่า การเสด็จกลับมาคงจะไม่ได้เกิดขึ้นในยุคพวกเขาเป็นแน่
                2. ยากอบไม่ได้กล่าวถึงข้อขัดแย้งในการรับชาวต่างชาติมาเป็นคริสเตียน ซึ่งการที่คริสตจักรยอมรับชนต่างชาติที่เชื่อเข้ามาสู่คริสตจักรนั้นเกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ.48-49 ดังนั้นยากอบน่าจะเขียนขึ้นก่อนเหตุการณ์นี้
                3. บทที่ 2.2 เรียกที่ประชุมของคริสเตียนในสมัยนั้นว่า ธรรมศาลา ซึ่งแสดงว่าเป็นช่วงแรกๆของคริสตจักรที่ยังใช้ระบบระเบียบการนมัสการแบบยิวอยู่ จนกระทั่งต่อมาจึงใช้คำว่าคริสตจักรแทน
                4. บทที่ 5.14  ผู้ปกครองคริสจักร (แบบจากยิว) แต่ไม่ได้กล่าวถึงมัคนายก หรือ บิชอป ซึ่งเป็นโครงสร้างการปกครองในช่วงหลัง จดหมายนี้จึงน่าจะเขียนขึ้นในช่วงแรกที่การปกครองยังไม่เป็นระบบ
                5. ยากอบเน้นถึงกฎบัญญัติ การประพฤติ ศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของคริสตจักรในช่วงแรกๆเมื่อยิวมาเป็นคริสเตียน เนื่องจากยิวรู้กฎบัญญัติดีอยู่แล้ว จึงต้องช่วยในสิ่งที่เขารู้ดีอยู้แล้วให้กลายมาเป็นการดำเนินชีวิต

       1.5  ลักษณะพิเศษ

                1. มีลักษณะความเป็นยิว ยากอบมักจะอ้างจากพระคัมภีร์เดิมมาเป็นสิ่งสนับสนุนแนวคิดของท่านหลายครั้ง เช่น 1.11, 2.8, 2.11, 2.23 และ 4.6 นอกจากนี้ยังอ้างจากเบญจบรรณ สุภาษิต สดุดี โยบ และ 1 พงษ์กษัตริย์
                2. การเขียนค่อนข้างง่าย ไม่มีศาสนศาสตร์ที่ยาก
                3. เน้นการดำเนินชีวิตในความเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อและการประพฤติ
               4. แสดงให้เห็นว่ายากอบเข้าใจและรู้หลักคำสอนของพระเยซูคริสต์จริงๆ คำสอนใกล้เคียงกับคำเทศนาบนภูเขาของพระเยซูมากๆ
                5. ยากอบใช้ภาษากรีกที่สละสลวยมาก
                6. เน้นการประพฤติมากกว่าหลักข้อเชื่อ        ด้วยเหตุนี้คำสอนของยากอบจึงถูกมองว่าขัดแย้งกับหลักคำสอนของเปาโล และศาสนศาสตร์เรื่องความรอดในพระคัมภีร์ แต่แท้จริงแล้วยากอบมิได้สอนว่า มนุษย์จะได้รับความรอดโดยการประพฤติและความเชื่อ แต่ท่านสอนว่าความประพฤติจะต้องเป็นผลที่เกิดจากความเชื่อแท้
                7. มีลักษณะเหมือนคำเทศนามากกว่าจดหมาย เน้นเรื่องการใช้สติปัญญาและความประพฤติ

2.  โครงเรื่องของพระธรรม ยากอบ

                1. คำทักทาย                                                                                        บทที่ 1.1
                2. ความทุกข์ลำบากและการทดลอง  (บทที่ 1.2-18)
                                2.1 การทดสอบความเชื่อ                                                       บทที่ 1.2-12
                                2.2 ต้นเหตุแห่งการทดลอง                                                   บทที่ 1.13-18
                3. การฟังและการประพฤติ                                                                   บทที่ 1.19-27
                4. ห้ามไม่ให้ลำเอียง                                                                               บทที่ 2.1-13
                5. ความเชื่อและการประพฤติตาม                                                        บทที่ 2.14-26
                6. การควบคุมลิ้น                                                                                   บทที่ 3.1-12
                7. สติปัญญาสองแบบ                                                                            บทที่ 3.13-18
                8. ตักเตือนไม่ให้ดำเนินชีวิตตามอย่างโลกนี้  (บทที่ 4)
                                8.1 การทะเลาะวิวาท                                                             บทที่ 4.1-3
                                8.2 การไม่สัตย์ซื่อฝ่ายวิญญาณ                                              บทที่ 4.4
                                8.3 ความเย่อหยิ่ง                                                                    บทที่ 4.5-10
                                8.4 การใส่ร้ายป้ายสี                                                               บทที่ 4.11-12
                                8.5 การโอ้อวด                                                                        บทที่ 4.13-17
                9. ตักเตือนคนร่ำรวยที่ข่มเหงคนยากจน                                              บทที่ 5.1-6
                10. คำหนุนใจทั่วๆไป  (บทที่ 5.7-20)
                                10.1 เกี่ยวกับความอดทนและความทุกข์                             บทที่ 5.7-11
                                10.2 เกี่ยวกับการสาบาน                                                        บทที่ 5.12
                                10.3 เกี่ยวกับการอธิษฐานและความเชื่อ                               บทที่ 5.13-18
                                10.4 เกี่ยวกับคนที่หลงไปจากความจริง                                 บทที่ 5.19-20

3.  บทสรุป

            ในพระธรรมยากอบมีบทเรียนมากมายที่คริสเตียนส่วนใหญ่จะเข้าใจได้ไม่ยาก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะนำอะไรมาประยุกต์ใช้ แต่อยู่ที่ว่าจะประยุกต์ใช้เมื่อใดต่างหาก เราควรจะถามตัวเองว่า
-          เราถูกทดลองเรื่องความลำเอียงต่อคนมั่งมีหรือไม่
-          เราถูกทดลองโดยการควบคุมคำพูดไม่ได้หรือไม่
-          เราถูกทดลองในเรื่องกิเลสตัณหาหรือไม่
-          เราถูกทดลองเรื่องการเอารัดเอาเปรียบคนจนหรือไม่
-          เราถูกทดลองโดยการขาดความเชื่อเมื่อถูกคนอื่นเอารัดเอาเปรียบหรือไม่
 
ความเชื่อที่ไม่เคยถูกทดลองไม่มีวันเติบโตได้
 
 
 
 

No comments:

Post a Comment