Wednesday, November 6, 2013

พระธรรมฟิเลโมน


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  เปาโลเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ (ข้อ 1)

      1.2  จุดประสงค์   ขณะที่เปาโลติดคุก  ทิโมธี  มาระโก  เอปาฟรัส  ลูกา และโอเนสิมัส ก็อยู่กับท่านด้วย   โอเนสิมัสผู้นี้เป็นทาสของฟิเลโมน โอเนสิมัสได้ขโมยเงินและสิ่งของจากฟิเลโมน หลบหนีมาที่กรุงโรม และได้มาพบกับเปาโล และได้ต้อนรับพระเยซูจากการประกาศของเปาโล จากนั้นได้อยู่ร่วมรับใช้กับเปาโล (ข้อ 10) เปาโลช่วยโอเนสิมัสให้มั่นใจว่าการวิ่งหนีจากปัญหาไม่อาจแก้ปัญหา และโน้มน้าวโอเนสิมัสให้กลับไปหานายต่อมาเมื่อเปาโลได้ส่งทีคิกัสให้นำจดหมายไปยังเมืองโคโลสีและเอเฟซัส  ท่านก็ได้ส่งโอเนสิมัสชาวเมืองโคโลสีกลับไปหาฟิเลโมนนายของเขา  ซึ่งเป็นคนร่ำรวยในเมืองโคโลสี มีบ้านหลังใหญ่ที่คริสตจักรโคโลสีใช้เป็นสถานนมัสการพระเจ้า มีข้าทาสมากมาย (ทาสมีอยู่ทั่วไปในจักรวรรดิโรมัน และคริสเตียนบางคนมีทาส) เปาโลไม่ได้ติเตียนขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับทาสในจดหมายของท่าน แต่ได้กล่าวข้อความรุนแรงชนิดถอนรากถอนโคน โดยเรียกทาสคนนี้ว่า เป็นพี่น้องในพระคริสต์ของฟิเลโมน ฟิเลโมนผู้นี้คงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเปาโล เนื่องจากท่านได้รับเชื่อผ่านการประกาศของเปาโล (ข้อ 19) ส่วนเปาโลก็ถือฟิเลโมนเป็นเหมือนเพื่อนสนิท จึงได้เขียนจดหมายไปขอร้องฟิเลโมนให้รับโอเนสิมัสกลับคืนโดยไม่ใช้สิทธิอำนาจของนายกับทาส (ปกติทาสที่หลบหนีจากนายอาจถูกลงโทษถึงตาย) แต่ขอร้องให้รับโอเนสิมัสไว้ประหนึ่งพี่น้องในพระคริสต์ และหากโอเนสิมัสได้ทำความเสียหายประการใด เปาโลยินดีเป็นผู้ชดใช้ให้

      1.3  ผู้รับ  ผู้รับจดหมายคือฟิเลโมนและคริสตจักรโคโลสี (ข้อ 2)

      1.4  เวลาที่เขียน   เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขณะที่ท่านติดคุกที่กรุงโรม ประมาณปี ค.ศ.60-61      ขณะนั้นเอปาฟรัสก็ติดคุกอยู่ด้วย (ฟม 23)

       1.5  ลักษณะพิเศษ 
               1. จดหมายฉบับนี้เป็นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องทาสในพระคัมภีร์ใหม่ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใหม่ที่นายกับทาสได้มาเป็นพี่น้องกันในพระคริสต์
                2. เป็นจดหมายฉบับเดียวที่ไม่มีคำสอนเกี่ยวกับหลักข้อเชื่อ แต่จดหมายฉบับนี้ได้แสดงให้เราเห็นถึง ความพยายาม ความรัก ความอ่อนโยน และการรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาในเรื่องที่เป็นปัญหาหนัก
                3. เป็นจดหมายที่เป็นส่วนตัวมาก เป็นแนวปฏิบัติต่อปัญหาที่คล้ายๆกันในคริสตจักร
                4. จะเห็นว่าเปาโลขึ้นต้นจดหมายถึงหลายคน รวมทั้งคริสตจักรโคโลสีด้วย ซึ่งอาจต้องการให้พี่น้องหลายคนช่วยกันหนุนใจฟิเลโมนที่จะทำตามคำขอร้องของเปาโล
                5. เปาโลได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของฟิเลโมนที่ได้เปิดบ้านเพื่อเป็นสถานนมัสการพระเจ้า ซึ่งเป็นตัวอย่างให้กับเราที่จะเปิดตัวเอง เปิดบ้านต้อนรับผู้อื่นเพื่อการสามัคคีธรรมและเพื่องานของพระเจ้า

2.  โครงเรื่องของพระธรรมฟิเลโมน

                1. คำทักทาย                                                                                           ข้อ 1-3
                2. คำขอบคุณและคำอธิษฐาน                                                                 ข้อ 4-7
                3. เปาโลขอร้องเพื่อโอเนสิมัส                                                                ข้อ 8-21
                4. คำทักทายและคำอวยพร                                                                   ข้อ 22-25

3.  บทสรุป

            โลกนี้ชอบเตือนให้เรารำลึกว่า ให้อภัยและลืมเสีย  แต่ ตามหลักพระคัมภีร์คือ ให้เราให้อภัยและต้อนรับ ไม่ว่าพี่น้องของเราจะกลับใจสำนึกผิดหรือไม่ก็ตาม เราก็ต้องให้อภัยเขา (เอเฟซัส 4.32)  แต่ถ้าเมื่อเขากลับใจแล้ว เราต้องไปไกลกว่าการให้อภัยเสียอีก คือ เราต้องยอมรับเขากลับมาและไม่เรียกร้องให้เขาชดใช้หนี้ของเขาด้วย
                ในจดหมายฉบับนี้เราเห็นความรักของเปาโล เราจึงต้องทำตามแบบอย่างของเปาโล มีคนมากมายพบว่า การรักคริสเตียนซึ่งเราไม่รู้จักนั้นเป็นเรื่องง่าย  แต่การรักคริสเตียนที่เป็นเพื่อนร่วมงานหรือคนงานของเรานั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่า และยากยิ่งขึ้นไปอีกที่จะรักคนที่หลอกลวงเราหรือขโมยเงินของเราไป  และนี่เป็นการทดสอบความรักของเราอย่างแท้จริง เมื่อเราถูกขอร้องให้รับคนเหล่านั้นเข้าทำงานเหมือนเดิมเมื่อเขาสารภาพผิดแล้ว การให้อภัยคริสเตียนที่คดโกงคนอื่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราเองเป็นคนที่ถูกคดโกงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราจะผ่านการทดสอบในเรื่องความรักนี้ได้หรือไม่


4                                        7
แบ่งปัน
8                                      21
เพราะเห็นแก่
22
ให้การต้อนรับด้วย
ค ว า ม รั ก
กับธรรมิกชน
ทุกคน
จงยอมรับพี่น้อง
ที่กลับใจแล้ว
แก่ผู้รับใช้
ของพระเจ้า



No comments:

Post a Comment