Thursday, November 7, 2013

พระธรรม 1 เปโตร


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  มีหลักฐานหลายประการที่แสดงว่าอัครฑูตเปโตรเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้
                1. คำขึ้นต้นจดหมายแสดงตัวว่าเปโตรเป็นผู้เขียน (1.1)
               2. ศาสนศาสตร์ในพระธรรม 1 เปโตรมีความคล้ายคลึงกับคำเทศนาของเปโตรในพระธรรมกิจการมาก
                        -  ศาสนศาสตร์เรื่องยุคพระมาซีฮา กิจการ 2.14-16, 3.12-26, 4.8-12,10.34-43, 1 ปต 1.3,10-12,4.7
                        - การบังเกิด – การตาย และ การเป็นขึ้นของพระคริสต์ เป็นการสำเร็จตามคำพยากรณ์ของพระคัมภีร์เดิม กิจการ 2.20-31, 3.13-14, 10.43
                        - เป็นโอกาสที่มนุษย์จะกลับใจและรับการอภัย รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และพระสัญญาแห่งชีวิตนิรันดร์ กิจการ 2.38-39, 3.19, 5.31, 10.43, 1 ปต 1.13-25, 2.1-3, 4.1-5
                3. เปโตรเขียนผ่านทางสิลวานัส (5.12)  สิลวานัสคนนี้อาจจะเป็นคนเดียวกับสิลาสในพระธรรมกิจการ 15.22 และคนเดียวกับสิลวานัสที่เปาโลเอ่ยถึงในจดหมายของท่าน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่เปโตรซึ่งเป็นชาวประมงไม่มีความรู้ในภาษากรีกมากพอ ได้ให้สิลวานัสแก้ไขภาษาของเขาให้สละสลวย หรือไม่ก็คงให้สิลวานัสเขียนจดหมายฉบับนี้ตามคำบอกของเปโตร ซึ่งแนวความคิดเป็นของเปโตรแต่ลีลาการเขียนเป็นของสิลวานัส ดังนั้นจดหมาย 1 เปโตรจึงมีภาษากรีกที่ไพเราะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังเป็นจดหมายของเปโตร

       1.2  จุดประสงค์   เปโตรมีจุดประสงค์เพื่อ
                1. หนุนใจคริสเตียนที่ได้รับการข่มเหง โดยย้ำให้รู้ว่าพระเจ้าทรงสถิตย์อยู่ด้วยกับพวกเขาท่ามกลางสภาพที่เลวร้ายนั้น ท้าทายให้พวกเขาอดทนแม้ถูกเอาเปรียบและเข้าใจผิด หนุนใจว่าความทุกข์ยากที่เขาได้รับจากเพื่อนบ้านที่ไม่เชื่อพระเจ้า หรือจากทางการก็ดี เป็นเหมือนการทดสอบที่มาจากพระเจ้าเพื่อทดสอบความเชื่อ
                2. หนุนใจว่าคริสเตียนจะได้เห็นและได้รับพระสิริของพระเจ้าในอนาคตที่มากกว่าการทนทุกข์ในโลกนี้
                 3. หนุนใจว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องพวกเขาไว้ตลอดเวลาในขณะที่ทนทุกข์อยู่
                 4. หนุนใจให้มองดูพระเยซูเป็นแบบอย่างและความหวังในการทนทุกข์
                 5. หนุนใจให้คริสเตียนถ่อมใจและนบนอบต่อผู้ปกครองบ้านเมืองที่ยุติธรรมต่อพวกเขา
                6. หนุนใจให้มีความรักและห่วงใยซึ่งกันและกันในท่ามกลางความทุกข์นั้น และให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องขณะที่ถูกทดลองอย่างหนัก

       1.3  ผู้รับ    ในบทที่ 1.1 เปโตรเขียนถึงคริสเตียนที่กระจัดกระจายใน 5 แคว้น ได้แก่ ปอนทัส กาลาเทีย คัปปาโดเซีย เอเซีย และบิธิเนีย
                1. แคว้นทั้ง 5 ที่กล่าวถึงตั้งอยู่ในเอเชียไมเนอร์  ดังนั้นจดหมายนี้เขียนถึงคริสเตียนในเอเชียไมเนอร์
                2. คริสเตียนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ
                3. เนื้อหาในจดหมายไม่ได้กล่าวถึงข้อขัดแย้งเกี่ยวกับธรรมบัญญัติเหมือนจดหมายยากอบ แต่เป็นปัญหาที่เกิดกับคริสเตียนต่างชาติและการดำเนินชีวิตตามวิถีเก่าก่อนที่เขาจะรู้จักพระเจ้า
                4. ชื่อที่เปโตรใช้คือ ‘เปโตร’ ซึ่งเป็นชื่อภาษากรีก ซึ่งใช้กับคนต่างชาติมากกว่าคนยิว เพราะในหมู่คนยิวเขาจะใช้ชื่อว่า ‘ซีโมน’ ส่วนเปาโลเรียกเขาว่า ‘เคฟาส’

       1.4  เวลาที่เขียน   ในบทที่ 5.13 มีข้อความว่า ‘คริสตจักรที่เมืองบาบิโลน....ฝากความคิดถึงมายังท่าน’ ‘เมืองบาบิโลน’ ในที่นี้หมายถึงกรุงโรม การที่เปโตรใช้คำที่เป็นภาษาสัญลักษณ์อาจเป็นเพราะเวลานั้นจักรพรรดิ์เนโรแห่งจักรวรรดิ์โรมันกำลังข่มเหงคริสเตียนอย่างมาก จึงมีความเชื่อว่าเปโตรเขียนจดหมายฉบับนี้ที่กรุงโรม ในระหว่าง ค.ศ.64-67 ซึ่งเป็นช่วงที่จักรพรรดิ์เนโรปกครองอยู่

       1.5  ลักษณะพิเศษ
               เปโตรอาจจะเป็นอัครสาวกของพระเยซูที่เรารู้จักกันดีที่สุด เปโตรมีบุคคลิกภาพที่ชอบแสดงออก ด้วยเหตุนี้บทบาทของท่านจึงมักโดดเด่นดังที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ใหม่ (ชื่อเปโตรปรากฏมากกว่า 150 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่) เปโตรกับน้องชายคืออันดรูว์เป็นชาวประมงหาปลาอยู่ที่ทะเลกาลิลี ท่านได้ทิ้งอาชีพและติดตามพระเยซูตลอดระยะเวลา 3 ปีที่พระเยซูทำพระราชกิจในโลกนี้
               หลังจากที่พระเยซูทรงเป็นขึ้นจากความตายและเสด็จสู่สวรรค์แล้ว เปโตรกลายเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญต่อคริสตจักรสมัยแรกเป็นอย่างมาก ท่านเป็นผู้นำพระกิตติคุณสู่คนยิว สู่สะมาเรียและสู่คนต่างชาติ เปโตรแต่งงานแล้วและอาจเป็นไปได้ที่ภรรยาของท่านร่วมเดินทางด้วยในการประกาศพระกิตติคุณ (1 คร 9.5) เปโตรมีบทบาทสำคัญในการอภิปรายปัญหาเมื่อมีการประชุมผู้นำที่กรุงเยรูซาเล็ม (กจ 15) แต่หลังจากเหตุการณ์นั้นแล้วเราไม่พบชื่อของท่านในหนังสือกิจการอีกเลย อาจเป็นเพราะว่าหลังจากการประชุมนั้นแล้ว เปโตรได้ออกประกาศนอกดินแดนปาเลสไตน์และทั้ง 5 เมืองในเขตแดนเอเชียไมเนอร์ ดังปรากฏใน 1 เปโตร 1.1 และบางทีอาจจะไปถึงกรุงโรม และถูกประหารชีวิตที่นั่น
                 1. เป็นจดหมายที่เขียนขึ้นเพื่อที่จะให้กำลังใจคริสเตียนที่กำลังเผชิญการข่มเหงอย่างหนัก  ให้อดทนต่อการทดลองอันเป็นเหมือนการทดสอบความเชื่อ
                 2. เป็นจดหมายที่ท้าทายให้ดำเนินชีวิตท่ามกลางการถูกข่มเหง ถ้าใครถูกข่มเหงเพราะเป็นคริสเตียนก็ให้อดทน แต่อย่าให้ใครถูกลงโทษเพราะการทำชั่ว อันจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติพระเจ้า
                3. เป็นจดหมายที่หนุนใจคริสเตียนให้ถ่อมใจยอมอยู่ใต้กฏหมายบ้านเมือง  ในช่วงนั้นคริสเตียนถูกข่มเหงจากทางการ แต่เปโตรก็หนุนใจให้คริสเตียนเชื่อฟังและอยู่ใต้ผู้ปกครองบ้านเมือง และให้ถวายเกียรติแด่จักรพรรดิ์ อันเป็นท่าทีที่เหมาะสมของคริสเตียน
                    4. เป็นจดหมายที่ให้กำลังใจคริสเตียนให้อดทน โดยมองดูพระเยซูเป็นตัวอย่าง พระองค์ผ่านความทุกข์มามากเพื่อเรา และขณะเดียวกันท่านก็ชี้ให้เห็นว่า พี่น้องคริสเตียนทั่วโลกก็ประสบปัญหาเหมือนที่พวกเขาเป็นอยู่

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 1 เปโตร

                1. คำทักทาย                                                                                            บทที่ 1.1-2
                2. คำสรรเสริญสำหรับพระคุณและความรอด                                            บทที่ 1.3-12
                3. คำหนุนใจให้มีชีวิตที่บริสุทธิ์ (บทที่ 1.13-5.11)
                                3.1 ข้อเรียกร้องของความบริสุทธิ์                                         บทที่ 1.13-2.3
                                3.2 ฐานะของผู้เชื่อ (บทที่ 2.4-12)
                                                ก. เป็นวิหารฝ่ายวิญญาณ                                      บทที่ 2.4-8
                                                ข. เป็นประชากรที่เลือกสรร                                   บทที่ 2.9-10
                                                ค. เป็นผู้อาศัยในโลกชั่วคราว                                 บทที่ 2.11-12
                                3.3 การยอมอยู่ใต้สิทธิอำนาจ (บทที่ 2.13-3.7)
                                                ก. ยอมอยู่ใต้ผู้ปกครองบ้านเมือง                               บทที่ 2.13-17
                                                ข. ยอมอยู่ใต้การปกครองของเจ้านาย                   บทที่ 2.18-20
                                                ค. ตัวอย่างการยอมจำนนของพระคริสต์                 บทที่ 2.21-25
                                                ง. ภรรยายอมอยู่ใต้การปกครองของสามี               บทที่ 3.1-6
                                                จ. หน้าที่ของสามีต่อภรรยา                                    บทที่ 3.7
                                3.4 หน้าที่ของทุกคน                                                             บทที่ 3.8-17
                                3.5 แบบอย่างของพระคริสต์                                              บทที่ 3.18-4.6
                                3.6 การดำเนินชีวิตวาระสิ้นยุค                                            บทที่ 4.7-11
                                3.7 การดำเนินชีวิตของผู้ที่ทนทุกข์เพื่อพระคริสต์               บทที่ 4.12-19
                                3.8 การดำเนินชีวิตของผู้อาวุโส                                              บทที่ 5.1-4
                                3.9 การดำเนินชีวิตของคนหนุ่ม                                              บทที่ 5.5-11
                4. จุดประสงค์ของจดหมาย                                                                         บทที่ 5.12
                5. คำทักทายส่งท้าย                                                                        บทที่ 5.13-14

3.  บทสรุป

                จงอดทนต่อความทุกข์ทรมานโดยมีท่าทีเช่นเดียวกับที่พระคริสต์มี

                ให้ลองจินตนาการดูสถานการณ์ต่อไปนี้ สามีซึ่งไม่เป็นคริสเตียนเมากลับมาบ้าน เขาคาดหวังว่าภรรยาซึ่งเป็นคริสเตียนและทำงานนอกบ้านมาทั้งวันแล้ว จะทำอาหารเย็นเตรียมไว้และล้างจานให้เรียบร้อยแล้ว เขายังบอกอีกว่าจะไปร่วมกลุ่มอธิษฐานไม่ได้จนกว่าจะทำงานบ้านเสร็จเรียบร้อย และเป็นเช่นนี้มาตลอด 12 ปีของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เขายังห้ามเธอพาลูกชายคนเดียวไปโบสถ์ด้วย ถ้าหญิงคนนี้มาขอคำแนะนำจากคุณ คุณจะบอกเธอว่าอย่างไร
                คำตอบนั้นเห็นจะง่ายมาก สามารถสรุปได้คือ ให้ประพฤติการดี (3.6)  คือให้ยอมเชื่อฟังสามี (3.1-2) คำแนะนำนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ยากมาก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า  ผู้หญิงคนนี้ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่อยู่ที่ว่าจะทำเป็นเวลาปีแล้วปีเล่าได้อย่างไร แต่เธอก็มีความหวัง ไม่ใช่หวังในสถานการณ์ตอนนี้ แต่ในศักดิ์ศรีนิรันดร์ในอนาคต (1.7-8, 11)
                จงประพฤติการดี ไม่ใช่ทำสิ่งที่เอาตัวรอดได้ ไม่ใช่ทำสิ่งที่คนอื่นทำกัน ไม่ใช่ทำสิ่งที่สามัญสำนึกบอกว่าควรทำ ไม่ใช่ทำสิ่งที่สะดวกจะทำ ไม่ใช่ทำสิ่งที่ทำง่ายๆ ไม่ใช่ทำสิ่งที่ดูดี แต่ประพฤติการดี นี่คือ การอดทนต่อความทุกข์ทรมานโดยมีท่าทีเช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์มี

 

 

No comments:

Post a Comment