Saturday, November 2, 2013

พระธรรม 2 โครินธ์


1.  เบื้องหลังการเขียน

      1.1  ผู้เขียน  เปาโลเป็นผู้เขียน (1.1, 10.1)  รูปแบบการเขียนที่ค่อนข้างเป็นกันเองกับผู้อ่าน และยังได้กล่าวถึงชีวประวัติของท่านเองไว้อย่างละเอียดกว่าฉบับอื่นๆ ขณะที่ท่านอยู่ที่เอเฟซัส ทิโมธีที่ท่านได้ส่งไปที่โครินธ์นั้นได้กลับมารายงานว่าทั้งจดหมายของท่านที่ฝากไป (1 โครินธ์) และคำเตือนของทิโมธีเองไม่ได้ทำให้ชาวโครินธ์สำนึกผิดและไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของคริสตจักรดีขึ้นเลย ดังนั้นแทนที่เปาโลจะไปเมืองโครินธ์ทางอ้อมตามหมายกำหนดการ เปาโลตัดสินใจลงเรือแล่นไปยังโครินธ์ เพราะท่านได้เคยเตือนไว้ว่า ถ้าเขาไม่ยอมฟัง ท่านจะมาต่อว่าพวกเขาต่อหน้า (1 คร 4.19-21) นี่เป็นครั้งที่สองที่เปาโลไปเมืองโครินธ์ ซึ่งการไปคราวนี้ทำให้ท่านเป็นทุกข์มาก เนื่องจากบางกลุ่มต่อสู้ท่านอย่างรุนแรง (2 คร 2.1)  เปาโลอยู่ที่เมืองโครินธ์ไม่นานก็ต้องรีบกลับเมืองเอเฟซัสเมื่อท่านกลับจากโครินธ์มายังเอเฟซัสไม่นานก็ได้ข่าวว่า การไปโครินธ์ของท่านคราวที่แล้วไม่ได้ทำให้ฝ่ายต่อต้านดีขึ้น แต่ยิ่งกลับทำให้พวกเขารวมตัวกันต่อต้านมากขึ้น ทำให้ท่านรู้สึกโกรธเคืองคิดจะไปโครินธ์อีก แต่ก็ยับยั้งใจไว้โดยนึกว่า ถ้ารีบไปตอนกำลังโมโหท่านคงแสดงท่าทีรุนแรงมากไป (2 คร 1.23) ท่านจึงเขียนจดหมายอีกฉบับโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงและบอกว่าจะลงโทษคนที่ไม่เชื่อฟัง ไม่ให้เข้าร่วมในคริสตจักร โดยให้ทิตัสนำไป (2 คร 2.3-4, 7.8) จดหมายฉบับนี้ไม่ได้รวมอยู่ในพระคัมภีร์ของเรา(สูญหาย) เปาโลสั่งทิตัสว่าถ้าเสร็จงานให้ไปพบท่านที่เมืองโตรอัส ท่านคอยทิตัสที่เมืองโตรอัสด้วยความกระวนกระวายใจ อยากรู้ว่าชาวโครินธ์ยอมฟังคำว่ากล่าวของท่านหรือไม่ ท่านคอยทิตัสไม่ไหวจึงเดินทางไปคอยที่เมืองฟิลิปปีในแคว้นมาซิโดเนีย เมื่อพบกัน ทิตัส ได้รายงานว่าจดหมายฉบับนั้นได้ผลดี ทำให้พวกต่อต้านเปาโลสำนึกผิด ทำให้คริสตจักรโครินธ์เข้าสู่สภาพเรียบร้อย (2 คร 7.5-6) ท่านจึงเขียนจดหมาย 2 โครินธ์ ให้ทิตัสกับคริสเตียนอีกสองคนนำไปให้ ซึ่งเปาโลเขียนด้วยความปิติยินดี       (2 คร 8.16-18)  และบอกเขาว่าท่านจะกลับไปเยี่ยมพวกเขาอีก (2 คร 12.14, 13.1)

       1.2  จุดประสงค์ 
               1) เพื่อปกป้องสิทธิอำนาจการเป็นอัครทูตของเปาโลและการรับใช้พระเจ้าของท่าน  เนื่องจากมีผู้สอนผิด ซึ่งอาจจะหมายถึงคริสเตียนชาวยิวที่ยังยึดถือลัทธิยิวอยู่ ได้แทรกซึมเข้าไปในคริสตจักร และชักชวนพี่น้องไม่ให้เชื่อถือในความเป็นอัครทูตของเปาโล รวมทั้งไม่ให้ยอมรับสิ่งที่ท่านได้ประกาศและสอนไว้
              2) เพื่อแก้ข้อกล่าวหาที่ว่าเปาโลยักยอกเงินเรี่ยไร ที่นำไปช่วยเหลือพี่น้องที่กรุงเยรูซาเล็ม     เนื่องจากมีคนกล่าวหาว่าท่านไม่สัตย์ซื่อกับเงินที่ท่านดูแล
              3) เพื่อยืนยันกับพี่น้องชาวโครินธ์ว่าท่านจะมาเยี่ยมพวกเขาอย่างแน่นอน   และจะมารับเงินบริจาคที่ท่านเคยได้บอกพวกเขาให้รวบรวมไว้เพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้องที่กรุงเยรูซาเล็ม
              4) เพื่อเตือนและยืนยันว่าท่านจะมาจัดการกับผู้สอนผิดด้วยตัวของท่านเอง

        1.3  ผู้รับ  เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงคริสเตียนที่คริสตจักรโครินธ์และแคว้นอาคายา

        1.4  เวลาที่เขียน   เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขณะที่ท่านอยู่ที่แคว้นมาซิโดเนีย (อาจจะเป็นเมืองฟิลิปปี 2.13, 7.5, 8.1) เขียนขึ้นในราวปี คศ.56 หรือประมาณ 1 ปีหลังจากที่เขียนจดหมาย 1 โครินธ์

       1.5  ลักษณะพิเศษ 
                1) จดหมายฉบับนี้นับว่าแปลกในด้านรูปแบบการเขียน ผู้อ่านสามารถสัมผัสถึงบรรยากาศของความรักความผูกพันอย่างแนบแน่นที่เปาโลมีต่อคริสตจักรโครินธ์      แม้ว่าบางครั้งพวกเขาจะถูกว่ากล่าวตักเตือนบ้างก็ตาม
                2) เป็นจดหมายที่เปาโลพูดถึงเบื้องหลังของตนเอง และการทนทุกข์ที่เป็นเหมือนการอวดอ้าง   แต่เนื่องจากท่านจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อปกป้องและยืนยันความเป็นอัครทูตของท่าน     เนื่องจากมีคนบางกลุ่มสงสัยและไม่ยอมรับว่าท่านเป็นอัครทูต

2.  โครงเรื่องของพระธรรม 2 โครินธ์

                1. เปาโลชี้แจงแนวปฏิบัติส่วนตัวและพันธกิจที่รับใช้ (บทที่ 1-7)
                                1.1 คำทักทาย                                                                         บทที่ 1.1-2
                                1.2 คำขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับการเล้าโลมยามทุกข์ยาก               บทที่ 1.3-11
                                1.3 ความสัตย์จริงของการดำเนินชีวิตและการรับใช้           บทที่ 1.12-2.4
                                1.4 การยกโทษให้กับผู้ที่คัดค้านที่เมืองโครินธ์                   บทที่ 2.5-11
                                1.5 การทรงนำของพระเจ้าในการรับใช้                                    บทที่ 2.12-17
                                1.6 ผู้เชื่อชาวโครินธ์ – เป็นตัวหนังสือจากพระคริสต์          บทที่ 3.1-11
                                1.7 การเห็นพระพักตร์โดยไม่มีผ้าคลุมหน้า                         บทที่ 3.12-4.6
                                1.8 ของมีค่าในภาชนะดิน                                                     บทที่ 4.7-18
                                1.9 มุมมองเกี่ยวกับความตาย-ความหมายสำหรับคริสเตียน               บทที่ 5.1-10
                                1.10 พันธกิจแห่งการคืนดี                                                     บทที่ 5.11-6.10
                                1.11 การวิงวอนของพ่อฝ่ายวิญญาณถึงลูกฝ่ายวิญญาณ       บทที่ 6.11-7.4
                                1.12 การพบกับติตัส                                                              บทที่ 7.5-16

                2. การเรี่ยไรสำหรับธรรมมิกชนในกรุงเยรูซาเล็ม (บทที่ 8-9)
                                2.1 คำหนุนใจให้มีใจกว้างขวาง                                           บทที่ 8.1-15
                                2.2  ทิตัสและผู้ร่วมงานถูกส่งไปที่โครินธ์                           บทที่ 8.16-9.5
                                2.3 ผลของการให้ด้วยใจกว้าง                                              บทที่ 9.6-15

                3. เปาโลพิสูจน์สิทธิอำนาจการเป็นอัครทูตของตน (บทที่ 10-13)
                                3.1 การปกป้องความเป็นอัครทูตและพันธกิจที่รับใช้        บทที่ 10
                                3.2 เปาโลถูกบีบให้โอ้อวดอย่างโง่เขลา                               บทที่ 11-12
                                3.3 คำเตือนสุดท้าย                                                                บทที่ 13.1-10
                                3.4 การสรุปจดหมาย                                                             บทที่ 13.11-14

3.  บทสรุป

                จัดการกับการติเตียนอย่างสมศักดิ์ศรีด้วยพระคุณของพระเจ้า
                มีวิธีจัดการกับคำติเตียนอยู่ 3 วิธี
1)       ยอมแพ้และเลิกรับใช้
2)       อดทนและรับใช้ต่อไปอย่างขมขื่น
3)       เอาชนะด้วยพระคุณของพระเจ้า

เราควรยึดแบบอย่างของเปาโล แม้เวลาที่ลำบากเขาก็ยังมีพระคุณของพระเจ้าเพื่อคอยประเล้าประโลมใจ เมื่อถูกกล่าวหาอย่างผิดๆก็ยังไม่ขาดความมั่นใจ  และเมื่อตัวเขาเองขัดสนและหิวโหยก็ยังคิดจะช่วยเหลือคนขัดสนในกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อเผชิญกับคนขี้อวดก็ยังถ่อมใจด้วยพระคุณพระเจ้าได้  ที่เปาโลสามารถทำได้เพราะเขารู้ว่าความอ่อนแอของเขาเปิดโอกาสให้พระเจ้าทรงสำแดงฤทธิ์เดชของพระองค์ในตัวเขาได้
-         เมื่อมีคนมาติเตียนเรา ก็มีแนวโน้มว่าเราจะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง จงใช้สถานการณ์ต่างๆเหล่านี้เป็นโอกาสทำให้เราเติบโตขึ้นในพระคุณพระเจ้าในการรับใช้ผู้อื่น
-         เมื่อความสามารถของเราถูกสงสัย ความมั่นใจในการรับใช้ก็จะสั่นคลอนไปด้วย
-         เมื่อเราถูกมองว่าไม่สัตย์ซื่อ การให้ของเราก็จะลดลงด้วยเช่นกัน
-         เมื่อมีคนโอ้อวดมาเปรียบเทียบกับเรา เราก็จะโอ้อวดกลับไป

ขอให้ “หนามใหญ่ในเนื้อ” เป็นเครื่องเตือนเราถึงความถ่อมใจ ขอให้พระคุณพระเจ้าเปลี่ยนเราให้เป็นคนมีใจเมตตากรุณา โดยมองข้ามคำติเตียนและความอ่อนแอของเรา และเพ่งมองไปที่องค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเรา


บทที่ 1---------------บทที่ 7
พึ่งพา
บทที่ 8---------------บทที่ 9
พึ่งพา
บทที่ 10-------------บทที่ 13
พึ่งพา
พระคุณของพระเจ้า
เพื่อมี
ความมั่นใจ
ในการรับใช้
เพื่อมี
ความสามารถ
ในการให้
เพื่อรับ
การเสริมกำลัง
ในความอ่อนแอ

No comments:

Post a Comment